ความขัดแย้งของนโยบายเศรษฐกิจในสหรัฐ

ความขัดแย้งของนโยบายเศรษฐกิจในสหรัฐ

นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ได้รายงานชี้แจงสถานะของนโยบายการเงินในรอบครึ่งปี

ต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารของวุฒิสภาสหรัฐ เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า การจ้างงานในตลาดแรงงานมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ระดับเงินเฟ้อของสหรัฐก็มีการปรับตัวเข้าใกล้ระดับเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 2% ต่อปี ซึ่งถือเป็นระดับราคาที่มีเสถียรภาพพึงประสงค์ในระยะยาว การจ้างงานใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 215,000 ตำแหน่ง ในตลอด 6 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าโดยเฉลี่ยของเมื่อปีที่ผ่านมา ในส่วนที่เกี่ยวกับดัชนีราคาที่ขยับใกล้เป้าหมาย 2% ต่อปีนั้น ปรากฏว่าเป็นผลมาจากการเพิ่มของระดับการใช้จ่ายของภาคครัวเดือนเท่ากับ 2.3% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา (นับถึงเดือน พ.ค.) ซึ่งปรับเพิ่มสูงจากตัวเลข 1.5% ของช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว สภาพเศรษฐกิจโลกมีความเข้มแข็งและสมดุล ทิศทางนโยบายทางการเงินในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ดำเนินการอยู่จึงเป็นทิศทางที่เหมาะสมในขณะนี้ที่จะไปสู่เป้าหมายของระดับเงินเฟ้อที่ 2% ต่อปี การปรับลดโครงสร้างอัตราภาษีที่ผ่านมาคาดว่า จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องในปีต่อๆ ไป ส่วนผลจากปัญหาเรื่องสงครามการค้านั้นคิดว่า เป็นปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในอนาคต

ทันทีที่เสร็จสิ้นการแถลงรายงานของนายเจอโรม พาวเวลล์ ตลาดหุ้นดาวโจนส์ได้ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากที่ผ่านมา

เราจะสามารถได้ข้อสรุปเบื้องต้นอะไรบ้าง หลังจากพิจารณาข้อแถลงเรื่องทิศทางนโยบายการเงินของนายเจอโรม พาวเวลล์ ในครั้งนี้

ข้อสรุปเบื้องต้นข้อแรก นั้น ดูเหมือนว่า นายเจอโรม พาวเวลล์ เชื่อว่า ทิศทางการจ้างงานและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐที่ผ่านมานั้น น่าจะยังสามารถดำเนินต่อเนื่องต่อไปได้อีก 2-3 ปี เพราะได้อานิสงค์จากปัจจัยพื้นฐานที่เป็นบวกคือ นโยบายการปรับโครงสร้างภาษีที่ผ่านมานั่นเอง อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังดังกล่าวนี้จะเป็นจริงหรือไม่นั้น ย่อมจะขึ้นอยู่กับว่า ภาคธุรกิจเอกชนในสหรัฐนั้นได้มีการนำผลตอบแทนที่ได้รับเพิ่มขึ้นมาจากการปรับลดภาระภาษีที่น้อยลงนั้น ไปใช้จ่ายทางด้านการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นด้วยหรือไม่ เพราะถ้าหากคำตอบที่ได้มาคือ “ไม่” แล้ว การปรับอัตราภาษีก็จะไม่สามารถก่อให้เกิดมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เป็นบวก ในทางตรงกันข้าม กลับจะก่อให้เกิดผลเสียในเรื่องของปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เลวร้ายมากขึ้นอีกต่างหาก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายได้ออกมาเตือนรัฐบาลสหรัฐในช่วงเวลาก่อนหน้านี้สักระยะหนึ่งแล้ว

ข้อสรุปเบื้องต้นประการที่ 2 ก็คือเรื่อง ความไม่แน่นอนของสงครามทางการค้าที่จะตามมาจากนโยบายการกีดกันสินค้านำเข้าจากต่างประเทศของสหรัฐนั่นเอง ซึ่งในขณะนี้ แม้อาจยังไม่เห็นว่ามันจะมีผลกระทบอะไรมากนักก็ตาม แต่ที่เป็นเช่นนั้น ก็เป็นเพราะเรื่องเหล่านี้ จำเป็นต้องใช้เวลานานสักระยะหนึ่งก่อน กว่าที่นโยบายเหล่านี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมนั่นเอง

จากข้อสรุปทั้ง 2 ข้างต้น เราจะสามารถสังเคราะห์นัยยะออกมาชัดเจนได้ว่า ได้เกิดความขัดแย้งกันเองระหว่าง นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐที่ต้องการรักษาเสถียรภาพในเรื่องระดับราคาและการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ทว่าทิศทางของนโยบายการค้าของรัฐบาลกลางกลับจะเป็น นโยบายที่ จะก่อให้เกิดความขัดแย้งกับประเทศคู่ค้าอื่น ๆ อย่างชัดเจน และนโยบายการคลังที่อาจก่อให้เกิดคำถามทั้งในส่วนของปัญหาเรื่องการขาดเสถียรภาพทางการคลัง ปัญหาเรื่องความเป็นธรรม และความเหลื่อมล้ำที่ตามมาด้วย ซึ่งความขัดแย้งเชิงนโยบายเหล่านี้ หากยังดำรงต่อไปโดยไม่ได้รับการแก้ไขหรือการจัดการที่ดีพอแล้ว ก็ย่อมจะกลายเป็น “ปัจจัยลบ” ต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย อย่างแน่นอน คำถามมีเพียงว่าจะเป็น “เมื่อไหร่” เท่านั้นเอง