สงครามการค้าในโลกดิจิทัล

สงครามการค้าในโลกดิจิทัล

ความตึงเครียด จากสงครามการค้า ระหว่างสหรัฐและจีน ได้ส่งผลกระทบไปทั่วทุกมุมโลก

เหตุการณ์ดังกล่าว เริ่มต้นจากกรณีที่สหรัฐ ได้ขึ้นภาษีการนำเข้า สินค้าที่มาจากจีน โดยอ้างเหตุของการปกป้อง ความมั่นคงของรัฐ และ ทรัพย์สินทางปัญญา และเพื่อเป็นการลดการขาดดุลทางการค้ากับประเทศจีน อย่างไรก็ตาม จีน ก็ได้ตอบโต้ด้วยการ ขึ้นภาษีนำเข้า สินค้าที่มาจากสหรัฐเช่นเดียวกัน

การสร้างความแข่งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจ เป็นภารกิจที่สำคัญของทุกรัฐบาล ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การขึ้นภาษีการนำเข้า เป็นหนึ่งในวิธีการดั้งเดิม ที่ใช้ในการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ ภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น ทำให้สินค้านำเข้ามีราคาที่สูงขึ้น และผู้บริโภคหันไปบริโภคสินค้าที่ผลิตภายในประเทศแทน จึงเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ

การที่สหรัฐ ขาดดุลทางการค้าให้กับประเทศจีน แสดงให้เห็นว่า บางอุตสาหกรรมภายในประเทศของสหรัฐ ไม่สามารถแข่งขันกับจีนได้อีกต่อไป ผู้บริโภคชาวอเมริกัน จึงได้เลือกมาบริโภคสินค้าที่นำเข้ามาจากจีน การขึ้นภาษีนำเข้าจากประเทศจีน จึงเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศของสหรัฐ เพราะหวังผลให้ชาวอเมริกันกลับมาบริโภคสินค้าภายในประเทศ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่หลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลอาจมิได้คาดคิดถึง คือการตอบโต้กลับของรัฐบาลจีน ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ทั้งนี้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงกับอุตสาหกรรมของสหรัฐ ที่มีรายได้จากการส่งสินค้าเข้าไปขายในประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่และมีมูลค่าเป็นอันดับสองของโลก โดยที่ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของประเทศสหรัฐ จะไม่สามารถมองข้ามตลาดที่มีกำลังซื้ออันมหาศาลนี้ได้

ล่าสุด ธุรกิจชั้นแนวหน้า อย่างเช่น เทสลา และ บีเอ็มดับเบิลยู ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามการค้า เพราะกำลังผลิตของทั้งสองอยู่ในสหรัฐเป็นส่วนใหญ่ จึงพบกับกำแพงภาษี เมื่อส่งสินค้าเข้าไปขายในประเทศจีน ทั้งสองบริษัทได้ประกาศจะสร้างฐานการผลิตรถยนต์ในประเทศจีน เพื่อหลบเลี่ยงภาษีการนำเข้า

หากมองโดยผิวเผิน อาจทำให้เชื่อว่า วิธีการของ เทสลา และ บีเอ็มดับเบิลยู จะทำให้จีนเป็นผู้เสียเปรียบ เพราะไม่สามารถเก็บภาษีนำเข้าได้อีกต่อไป แต่ที่จริงแล้ว การสร้างฐานการผลิตอยู่ในประเทศจีนเสียเอง กลับจะเกิดผลดีกับประเทศจีน เกือบจะเทียบเท่ากับการที่ เทสลา และ บีเอ็มดับเบิลยู เป็นธุรกิจของจีนเสียเอง ในขณะที่การนำเข้า เป็นผลลบต่อการคำนวณผลิตภัณฑ์มวลรวม แต่เมื่อย้ายฐานการผลิตเข้ามาอยู่ในประเทศ กลับจะเป็นบวกต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม

เพราะไม่เพียงแต่จะเกิด การจ้างงานคนจีน การสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่ภายในประเทศ และจะยังเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งรวมไปถึงทรัพย์สินทางปัญญา ให้กับคนจีน และประเทศจีน

พฤติการณ์ของ เทสลา และ บีเอ็มดับเบิลยู คงจะเป็นสิ่งที่ ประธานาธิบดีทรัมป์ มิได้คาดคิดเอาไว้ ที่จีน อาจกลายเป็นผู้ชนะ เพราะแม้กระทั่งทรัมป์ มิอาจขว้างกันธรรมชาติของธุรกิจ ที่ต้องดิ้นรนเพื่อแสวงหากำไร

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน สะท้อนกับยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางดิจิทัล จากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ที่รัฐบาลของสหรัฐชุดก่อนหน้าเป็นผู้ร่วมกำหนด แต่ทรัมป์ได้ถอนตัวออกไป นั่นก็คือ การห้ามประเทศสมาชิกขึ้นภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าที่และบริการที่บริโภคทางดิจิทัล

นั่นหมายความว่า ทีพีพี ที่ร่วมร่างโดยสหรัฐ ห้ามประเทศต่างๆ ขึ้นภาษีการนำเข้าเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมดิจิตอลของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น ห้ามประเทศต่างๆ ขึ้นภาษีการนำเข้าทางดิจิทัล เมื่อผู้บริโภคภายในประเทศ รับชมและจ่ายค่าบริการให้กับเน็ตฟลิกซ์ เป็นต้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ สหรัฐในยุคนั้น ได้ประเมินว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลของตนเองมีความแข็งแกร่งและมิต้องปกป้องอีกต่อไป ในขณะที่ธุรกิจดิจิทัลของสหรัฐ ต้องการความได้เปรียบในการเข้าสู่ตลาดของประเทศอื่น ให้ได้มากที่สุด

ข้อห้ามของ ทีพีพี อีกประการหนึ่ง คือการห้ามประเทศสมาชิกบังคับให้ ธุรกิจดิจิทัลจะต้องสร้างฐานการให้บริการภายในประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ห้าม ประเทศต่างๆ ออกข้อบังคับให้ เน็ตฟลิกซ์ จะต้องมีนิติบุคคล ดาตาเซ็นเตอร์ จ้างพนักงาน และกระทั่งเสียภาษี ฯลฯ ภายในประเทศ

ผลพวงจากข้อบังคับของ ทีพีพี ในยุคนั้นคือ สหรัฐ สามารถขายสินค้าที่และบริการที่บริโภคทางดิจิทัล เข้าไปในประเทศสมาชิก โดยมิต้องเสียภาษีการนำเข้าทางดิจิทัล และ ไม่ต้องมีนิติบุคคล ดาตาเซ็นเตอร์ จ้างพนักงาน และกระทั่งเสียภาษีฯลฯ ภายในประเทศ ซึ่งจะทำให้สหรัฐมีข้อได้เปรียบถึงขีดสุด

แต่เมื่อพิจารณาผลพวงจาก สงครามการค้าในยุคปัจจุบัน และเมื่อประจวบกับกรณีของ เทสลา และ บีเอ็มดับเบิลยู จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ได้พลิกผัน ไปคนละทิศคนละทางกับเจตนารมย์ของ ทีพีพี เมื่อครั้งสหรัฐยังมีส่วนร่วมอยู่

อย่างไรก็ตาม สงครามการค้ายังมาไม่ถึงบริบทของดิจิทัล ซึ่งในปัจจุบัน อุตสาหกรรมสหรัฐยังคงมีความได้เปรียบเหนือชาติอื่นอยู่