แรงงานไทยมาตรฐานสากล

แรงงานไทยมาตรฐานสากล

นับเป็นข่าวดีของประเทศไทย เมื่อกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐ ประกาศรายงานการค้ามนุษย์ หรือทิปรีพอร์ต (TIP Report) 2018

เลื่อนอันดับไทยขึ้นจากระดับเทียร์ 2 เฝ้าระวัง (Tier 2 Watch List) ปี 2017 เป็นระดับเทียร์ 2 (Tier 2 ) โดยเป็น 1 ใน 29 ประเทศที่ได้รับการเลื่อนสถานะที่ดีขึ้น

สะท้อนให้เห็นถึงความจริงจังของรัฐบาล ที่เพียรพยายามทำมากว่า 4 ปี นำพาประเทศก้าวผ่านพ้นจุดต่ำสุด จากที่เคยอยู่ระดับเทียร์ 3 เมื่อปี2557-2558

อีกทั้งเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับผู้ประกอบการภาคเอกชนไทยที่เกี่ยวข้องอย่างอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปสัตว์น้ำเพื่อการส่งออก เพราะประเด็นนี้จะส่งผลต่อภาพลักษณ์สินค้าที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้บริโภคต่างประเทศมีความมั่นใจกับสินค้าไทยส่งออกมากขึ้น

แต่...กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯได้เตือนด้วยว่า ความพยายามของรัฐบาลไทยยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำสุด แม้ว่าภาครัฐจะมีความพยายามในการตรวจสอบแรงงานในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่สอดคล้องกับความพยายามที่ได้ดำเนินการไป โดยได้แนะให้ไทยเพิ่มความเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย การตรวจสอบแรงงาน การให้ความคุ้มครองกับกลุ่มเสี่ยง ทั้งแรงงานต่างด้าว และแรงงานเด็ก

นั่นหมายความว่า ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจังและเข้มงวดยิ่งขึ้นเพื่อให้การดำเนินการมีความคืบหน้า และเห็นผลตามเป้าหมาย เพราะนัยยะในข้อเสนอแนะของสหรัฐฯดังกล่าวนี้ บ่งบอกว่า สหรัฐฯพร้อมที่จะปรับระดับของไทยจากระดับเทียร์ 2 เป็นระดับที่ขยับเดินหน้า หรือถอยหลังลงได้เช่นกัน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะยังมุ่งมั่นดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรม โดยขณะนี้สามารถนำแรงงานประมงเข้าสู่ระบบได้ประมาณ 1.7 แสนคน ส่วนแรงงานต่างด้าวเข้าระบบแล้วกว่าล้านคน

ปัจจุบัน ไทยมีระบบจัดการแรงงานที่เข้าเมืองมาถูกทาง และเพื่อให้การดำเนินการขับเคลื่อนไปด้วยกันทั้งองคาพยพ ภาครัฐโดยกระทรวงแรงงานได้จัดทำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี(Good Labour Practices : GLP) ภายใต้การสนับสนุนทางวิชาการจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เพื่อใช้เป็นคู่มือและแนวทางให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมกลุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิด้านแรงงาน พร้อมกับส่งเสริมให้ผู้ประกอบการยกระดับการบริหารด้านแรงงานด้วยความรับผิดชอบตามมาตรฐานแรงงานไทย แนวทางการปฏิบัติที่ดีต่อแรงงาน รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตความปลอดภัยในการทำงานของแรงงานทุกคนอย่างทัดเทียมกัน และการพัฒนาระบบตรวจสอบและการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ล่าสุด ความร่วมกับภาคเอกชน อาทิ การสร้างความตระหนักในการบริหารจัดการสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่การผลิต เป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถคู่ค้าธุรกิจให้เป็นไปอย่างมีจริยธรรมอย่างยั่งยืน ถือเป็นตัวอย่างการดำเนินการที่ก้าวเดินไปด้วยมาตรฐานเดียวกัน

นอกจากนี้ ภาครัฐ องค์กรอิสระ และภาคเอกชนยังได้ร่วมกันจัดทำศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา หรือ Fishermen's Life Enhancement Center (FLEC)รับเรื่องร้องทุกข์ของแรงงานที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และให้ความรู้ด้านสิทธิแรงงานกับแรงงานประมง รวมทั้งจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยให้กับลูกหลานแรงงานประมง

ถือเป็นตัวอย่างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน ที่มุ่งแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ดี การคุ้มครองแรงงานตามหลักสิทธิมนุษยชน และมาตรฐานสากลที่สอดคล้องกับเงื่อนไขและกฎเกณฑ์การค้าโลกใหม่ๆ ของประเทศคู่ค้า เป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องต้องใส่ใจ และปฏิบัติอย่างจริงจัง

หากว่า ทุกภาคส่วนร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการยกมาตรฐานสู่ระดับสากลด้วยแล้ว จะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ชาติอื่นมาปรับขึ้นหรือลดชั้นไทยได้ตามอำเภอใจ

โดย... อภิชาติ เกื้อการย์