CSR ที่ไม่ใช่แค่ Corporate

CSR ที่ไม่ใช่แค่ Corporate

CSR ใครๆก็รู้ว่าย่อมาจาก Corporate Social Responsibility ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า ความรับผิดชอบด้านสังคมขององค์กรภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่

 คำนี้แรกเริ่มเกิดขึ้นมาจากแรงกดดันของสังคมที่มีต่อองค์กรธุรกิจบางแห่งที่ทำมาค้าขาย หากำไรให้ได้สูงสุดโดยไม่ดูดำดูดีกับผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมทั้งในอดีตและปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น เลี้ยงปลาในกระชังในแม่น้ำและ/หรือทะเล แล้วปล่อยของเสีย รวมทั้งอาหารปลาที่ปลากินไม่หมดลงสู่แหล่งน้ำนั้นอย่างไม่รับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น หรือทำรายงานการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมตามมาตรการอีไอเออันเป็นเท็จ หรือติดตั้งป้ายโฆษณาขนาดยักษ์ริมถนนหลวงอย่างผิดกฎหมาย (เอาป้ายตามขนาดที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายหลายๆป้ายมาต่อๆกันจนเป็นป้ายขนาดยักษ์ที่ผิดกฎหมาย) และปิดกั้นมุมมองทิวทัศน์ของผู้สัญจรจนไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น (เป็นมลทัศน์หรือทัศนอุจาดอันทำให้เมือง ‘รกและสกปรก’ จนไม่ใช่เมืองน่าอยู่) เป็นต้น

ซึ่งก็สมควรแล้วที่ภาคประชาชนและสังคมจะกดดันให้ภาคธุรกิจต้องหันมารับผิดชอบในกิจการและกิจกรรมของตนเองให้มากขึ้นและดีกว่าที่ทำอยู่เดิม

แต่ถ้าพิจารณากันให้หมดจดและดีแล้ว ตัวอักษร ‘C’ นี้ ไม่น่าจะคลุมเพียงแค่ Corporate หรือองค์กรภาคธุรกิจเท่านั้น เพราะยังมีภาคอื่นๆ และตัว C อื่นๆ ที่ก็ต้องรับผิดชอบต่อสังคมไม่แพ้กัน ภาคและตัว C อื่นๆนั้น เท่าที่นึกได้ คือ (1) Civil Servant หรือข้าราชการ (2) Civil Society หรือภาคประชาสังคมที่เรารู้จักกันในชื่อเอ็นจีโอหรือ NGO (3) College หรือสถาบันการศึกษา (4) Community หรือชุมชน และ (5) Citizen หรือประชาชนพลเมืองแต่ละคน ซึ่งหากรวมเอา Corporate เข้าไปด้วยก็จะเป็นทั้งหมด ‘6Cs’ ด้วยกัน

เรามาลองดูอีก 5Cs ที่ยังไม่ได้เอ่ยถึงนั้นว่าได้ทำอะไรที่ไม่ถูกไม่ควรมาในอดีต และควรถูกกดดันให้มี SR หรือ Social Responsibility คือต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วยนั้น มีอะไรพอเป็นตัวอย่างบ้าง

C ที่สองในซีรีส์นี้คือ Civil Servant หรือข้าราชการ ซึ่งหมายรวมไปถึงสำนักงาน/กรม/กองและ อปท. ต่างๆ ของข้าราชการด้วย ตัวอย่างผลงานในทางลบในอดีตที่ควรปรับปรุงให้รับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น คือ การปล่อยให้มีการนำเข้าขยะพิษมาทิ้งรวมกับขยะชุมชนในบ่อขยะเทศบาล (ทำให้สารพิษมีโอกาสลงไปปนเปื้อนน้ำใต้ดิน) หรือการออกมาตรฐานบางอย่างที่ทำให้คนรวยได้เปรียบคนจน (ร่างค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสียชุมชน ที่ผู้ประกอบการธุรกิจต้องจ่ายเป็นรายเดือนแพงกว่าตามบ้านเรือน แต่เมื่อทอนออกมาเป็นค่าใช้จ่ายต่อปริมาณน้ำเป็นลูกบาศก์เมตรแล้ว ปรากฎว่าคนจนต้องจ่ายแพงกว่าคนรวยสูงสุดถึง 2-3 เท่า) หรือการปล่อยให้คุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานครเกินค่ามาตรฐานอยู่เป็นเวลานาน จนเกิดเป็นดราม่า pm2.5 ขึ้นเมื่อปลายปี 2560 ต่อต้นปี 2561 (สาเหตุเพราะมีแหล่งกำเนิดมลพิษหลายต้นตอ และต้นตอเหล่านี้อยู่ในการควบคุมดูแลโดยต่างหน่วยงานรัฐ ซึ่งเมื่อไม่ทำงานแบบบูรณาการกันและกัน ปัญหานี้ก็ไม่ได้รับการแก้ไข และจะเป็นแบบนี้ไปอีกทุกปีเมื่อเกิดอาการลมสงบในช่วงฤดูหนาว) หรือการที่ปล่อยให้สัญญาณควบคุมระบบรถไฟไฟฟ้า BTS ถูกรบกวนจากคลื่นสัญญาณอื่นจนอาจเกิดอันตรายต่อผู้โดยสารมาเป็นเวลาหลายปี ทั้งที่รู้ถึงปัญหามาตั้งแต่แรก เป็นต้น Civil Servant จึงเป็นอีกหนึ่งภาคีที่ต้องคิดใหม่ทำใหม่ให้มี CSR

C ที่สาม ได้แก่ Civil Society หรือ NGO กลุ่มนี้แม้จะเป็นที่รวมของ ‘คนดี’ อันมีความตั้งใจที่จะทำงานเพื่อสังคมเป็นพื้นฐาน จึงควรมี SR อยู่ในตัวอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีข้อที่บางคนบางกลุ่มต้องแก้ไขปรับปรุงให้มี SR ได้จริง เช่น ต้องทำงานอย่างโปร่งใส (ต้องเปิดเผยรายรับรายจ่าย แหล่งทุน ข้อมูลการเสียภาษี ฯลฯ ให้สาธารณชนทราบ) หรือต้องหมั่นหาความรู้ใส่ตนจนสามารถให้ความคิดเห็นได้อย่างถูกต้องครบถ้วนและเป็นธรรมต่อสังคม หรือไม่ทำการใดๆ ที่ส่อให้เห็นว่าผลประโยชน์ขัดแย้งหรือ COI (Conflict of Interest)

C ที่สี่ ได้แก่ College หรือสถาบันการศึกษา ซึ่งหมายรวมถึงมหาวิทยาลัย/วิทยาลัย/โรงรียน ที่ควรต้องมีสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง เพื่อจะได้ปฏิบัติเป็นตัวอย่างและสอนคนอื่นได้ทั้งในด้านวิชาการและคุณธรรมจริยธรรม ไม่ใช่ก่อปัญหาเสียเอง ดังเช่น สถาบันการศึกษาบางแห่งเปิดหลักสูตรโดยไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) กลับดำเนินการรับนักศึกษาเข้าเรียน และปล่อยให้เรียนจนจบ (เพื่อจะได้มีรายได้จากการลงทะเบียนเรียนของนักศึกษา) ท้ายที่สุดนักศึกษาไม่สามารถใช้วุฒิการศึกษาที่เรียนมาจนจบในการประกอบอาชีพได้ เกิดเป็นคดีฟ้องร้องกันตามที่เป็นข่าว ซึ่งสถาบันการศึกษานั้นก็คงไม่สามารถเยียวยาหรือชดเชยเงินทอง เวลา และโอกาสที่เสียไปของนักศึกษาและครอบครัวของนักศึกษาให้ได้ หรือข่าวที่ผู้อำนวยการโรงเรียนปฏิบัติมิชอบกับงบประมาณอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน และงบอื่นๆของโรงเรียน คนเป็นครูบาอาจารย์และองค์กรของครูอาจารย์ไม่มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมร้ายแรงถึงขนาดโกงกินจนเกิดความเสียหายแบบนี้ สังคมต้องกดดันให้ภาคส่วนนี้มี SR มากกว่าที่เป็นอยู่นี้

C ถัดมาคือ Community หรือชุมชน ซึ่งคำว่า ‘ชุมชนเข้มแข็ง’ กำลังฮิตและมาแรงในการพูดคุยกันในปัจจุบันสมัย ทั้งที่คำนี้ไม่ควรต้องประดิษฐ์ให้มีขึ้นมาเสียแต่แรกด้วยซ้ำ แต่เป็นเพราะชุมชนของเราสมัยนี้โดยเฉพาะชุมชนเมืองใหญ่เป็นชุมชน ‘ช่างหัวมัน’ ที่ไม่สนใจหรือรับผิดชอบต่อสังคมนัก คำนี้จึงเกิดและมีขึ้น หากชุมชนเป็นชุมชนที่รับผิดชอบต่อสังคมแล้วไซร้ ชุมชนนั้นก็จะเข้มแข็งและสอดส่องดูแลให้ชุมชนของตนอยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากมลพิษหรือความอยุติธรรมได้ด้วยตัวเอง หากเราลองย้อนกลับไปดูข่าวสังคม/อาชญากรรม/หรือสิ่งแวดล้อมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็จะรู้ได้เองว่าชุมชนส่วนใหญ่ของเรา ทั้งในระดับตำบล ขึ้นมาถึงจังหวัด และกรุงเทพมหานคร ล้วนแต่มีปัญหามากมาย โดยชุมชนทั้งระดับเล็กๆ ในหมู่บ้านไปจนถึงชุมชนขนาดยักษ์อย่างกรุงเทพมหานครต่างไม่ได้ออกมาแสดงบทบามความรับผิดชอบต่อสังคมเท่าที่ควรหรือมากพอ เอาง่ายๆ โรงงานเอาขยะพิษมาแยกชิ้นในชุมชนตนเอง ปล่อยน้ำเสียควันพิษออกมารบกวนชาวบ้านเป็นสิบปี เดือดร้อนกันไปทั่ว แต่ชุมชนก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

คราวนี้มาถึง C ที่ 6 ตัวสุดท้าย C นี้คือ Citizen หรือตัวพลเมือง ซึ่งเราจะขอพูดลงไปถึงระดับปัจเจกบุคคล บรรดาปัจเจกเหล่านี้ได้ทำอะไรซึ่งไม่รับผิดชอบต่อสังคมมากมายอยู่ทุกวัน เช่น ทิ้งขยะลงคลองอยู่ทุกวัน (ผลกระทบใหญ่นอกจากทำให้น้ำเน่าแล้ว ก็มีอีกอย่างคือน้ำท่วม ก็เพราะปั๊มสูบน้ำเดินๆหยุดๆ เพราะขยะเข้าไปอุดตัน) หรือชาวบ้านยังไม่มีใครยินดีจ่ายค่าน้ำเสีย (ทั้งที่แต่ละคนจ่ายค่ามือถือได้เดือนละครึ่งพันไปถึงพันบาท แต่ค่าน้ำเสียต่อบ้าน ไม่ใช่ต่อคนด้วยซ้ำ เพียงแค่เดือนละร้อยบาท จ่ายไม่ได้หรือไม่จ่าย) หรือบางคนไปโรงพยาบาลรัฐแล้วขอเบิกยาราคาแพงเพื่อเอาไปขาย โดยเปลี่ยนไปหลายๆโรงพยาบาลเพื่อให้ได้ยามาจำนวนมากๆ) หรือผู้ค้าอาหารริมถนนที่ยึดเอาทางเท้าเป็นพื้นที่ประกอบอาชีพโดยเฉพาะขายอาหาร แล้วล้างภาชนะราดน้ำบนทางเท้าจนกระเบื้องปูทางเท้าหลุดร่อนเสียหาย หรือเขี่ยเศษอาหารเทน้ำล้างภาชนะอุปกรณ์ลงท่อระบายน้ำ จนไขมันที่ไม่ถูกดักหรือกำจัดอย่างถูกวิธีสะสมและอุดตันในระบบท่อ เหล่านี้ล้วนเป็นการดำรงชีวิตของ citizen แบบไม่รับผิดชอบต่อสังคมทั้งสิ้น

ดังนั้นต่อไปนี้ เวลาเราพูดถึง CSR เราพึงมองให้ครบทั้ง 6Cs ซึ่งน่าจะดีกว่าชี้นิ้วไปเพียงที่ corporate ซึ่ง C นี้ C เดียวแก้ปัญหาทั้งหมดของเมืองไม่ได้หรอก จะบอกให้

โดย... 

โสภา ชินเวชกิจวานิชย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ธงชัย พรรณสวัสดิ์ นักวิชาการอิสระ