Future Lab ห้องปฏิบัติการเพื่อตอบโจทย์โลกอนาคต

Future Lab ห้องปฏิบัติการเพื่อตอบโจทย์โลกอนาคต

นับแต่ยุคโบราณ มนุษย์เราต่างต้องการจะรู้อนาคตล่วงหน้ามาโดยตลอด เพื่อที่เราจะเตรียมความพร้อมรองรับอนาคตล่วงหน้า

เราจึงใช้วิธีการตั้งแต่การดูหมอ ใช้วิชาโหราศาสตร์ วิธีการเสี่ยงทาย มาจนยุคปัจจุบันที่ใช้เทคนิควิธีทางวิทยาศาสตร์ผสมผสานกับจินตนาการเพื่อพยายามทำความเข้าใจอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น

ทุกวันนี้ โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้น และมักมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหรือพลิกผันเกิดขึ้นบ่อยๆ ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ 9/11 วิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ชัยชนะของทรัมป์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ การปรับตัวขึ้นสูงของราคาน้ำมัน เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและซับซ้อนดังกล่าวทำให้เราไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้อย่างแน่นอนอีกต่อไป ภาพอนาคตจึงสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้หลายรูปแบบ ดังนั้นการเตรียมยุทธศาสตร์ของประเทศและองค์กรเพื่อรองรับอนาคตด้วยรูปแบบใดรูปแบบเดียว จึงไม่เพียงพอและอาจไม่เหมาะสมกับโลกยุคใหม่นี้ เพราะความไม่แน่นอนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วในปัจจุบัน

กลไกหนึ่งที่จะช่วยยกระดับความสามารถของประเทศและองค์กรต่างๆ ในการรับมือกับอนาคตที่อาจขึ้นในหลายรูปแบบ ก็คือ การสร้างห้องปฏิบัติการอนาคตหรือ “Future Lab”

Future Lab เป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจ มีบทบาทช่วยสำรวจภาพอนาคตของโลกและประเทศ หรือสำรวจสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมและธุรกิจด้วยการติดตาม คาดการณ์เมกะเทรนด์ แนวโน้มต่างๆ คอยจับสัญญาณ ความผันผวน ความไม่แน่นอนและเหตุการณ์ประหลาดใจในทุกมิติ (Future Scanning) ตั้งแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงด้านประชากร เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี การเมืองและภูมิรัฐศาสตร์ ตัวอย่างเครื่องมือสำคัญ เช่น การวิเคราะห์แนวโน้มอนาคต การสำรวจอนาคต การพยากรณ์ การออกแบบจำลองและการจำลองสถานการณ์ การออกแบบสำรวจความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญ การระดมความคิดเห็น เป็นต้น

นอกจากนี้ Future Lab ยังจะเป็นกลไกใน “การจัดทำฉากทัศน์หรือภาพอนาคต (Scenario Planning)” ของประเทศหรือองค์กร รวมถึงอนาคตในวาระที่สำคัญ เช่น อนาคตของพลังงาน อนาคตของสังคมผู้สูงอายุ อนาคตของปัญญาประดิษฐ์ อนาคตของการเงินและธนาคาร เรียกได้ว่าจะเป็นกลไกช่วยให้ประเทศและองค์กรสามารถเตรียมพร้อมการวางยุทธศาสตร์เพื่อตอบโจทย์อนาคตในหลายรูปแบบได้

Future Lab สามารถจัดตั้งขึ้นทั้งในระดับของประเทศและองค์กร หลายประเทศได้ใช้ประโยชน์ห้องแลปนี้เพื่อสำรวจอนาคตในหลายรูปแบบ (multiple possible future) และจัดทำยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมกับภาพอนาคต

ตัวอย่างที่โดดเด่น ได้แก่ ห้องปฏิบัติการอนาคตของสิงคโปร์ “Centre for Strategic Futures (CSF)” ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มยุทธศาสตร์ใหม่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี CSF ทำหน้าที่สำรวจอนาคตที่จะมีผลกระทบกับสิงคโปร์และการวางแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลโดยรวม เน้นการมองอนาคตระยะยาว ในวาระที่เกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายหรือเป็นประเด็นบูรณาการ ซึ่งจะนำไปสู่การวางยุทธศาสตร์อย่างเป็นองค์รวมให้กับประเทศ CSF ได้สำรวจอนาคตในหลากหลายวาระ ตัวอย่างที่น่าสนใจเช่น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกับประเทศสิงค์โปร์ที่จะนำไปสู่ประเทศสิงคโปร์ในโลกเสมือน (Virtual Singapore and the Human Cloud) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยก่อการร้าย การแพร่กระจายของโรคระบาด พรมแดนใหม่ในอวกาศ การเป็นมหาอำนาจของจีน อนาคตของงาน และเศรษฐกิจแบ่งปัน นอกจากนี้ ยังได้สำรวจประเด็นเกิดใหม่ที่อาจมีความสำคัญในอนาคต เช่น เศรษฐกิจประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience economy) การยืดเวลาสำหรับวัยชรา (The Death of Ageing) ความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น ซึ่งผลลัพธ์จากการสำรวจอนาคตจะนำไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับการจัดทำยุทธศาสตร์ในด้านต่างๆ ของสิงคโปร์ต่อไป

กรณีอังกฤษ เป็นอีกตัวอย่างที่น่าสนใจ หน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่นี้คือ “Government Office for Science” ซึ่งทำหน้าที่ให้คำปรึกษารัฐบาลในด้านนโยบายที่มีพื้นฐานจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และการมองอนาคตระยะยาว โดยได้ทำโครงการมองอนาคต หรือ “Foresight project” เพื่อช่วยให้รัฐบาลสามารถตัดสินใจเชิงนโยบายได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งโครงการนี้ได้สำรวจอนาคตมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2013 ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น การสำรวจอนาคตของทักษะและการเรียนรู้ตลอดชีวิต อนาคตของทะเล อนาคตของสังคมผู้สูงอายุ อนาคตของเมือง อัตลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของคนในประเทศ อาหารและการเกษตร การใช้ที่ดิน อนาคตของโลกการค้า ยา การป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์และความเชื่อมั่นทางไซเบอร์ เป็นต้น

  การสำรวจอนาคตในวาระสำคัญของสิงคโปร์และอังกฤษช่วยให้ประเทศและองค์กรเตรียมตัวรองรับอนาคตได้ในเวลาปัจจุบันได้ทันที รวมถึงทำให้สามารถลงทุนในด้านต่างๆ เพื่อสร้างอนาคตที่ต้องการได้รวดเร็วกว่าการรอเวลาให้อนาคตเกิดขึ้น ในกรณีที่ภาพอนาคตเป็นไปได้หลายรูปแบบ การเตรียมยุทธศาสตร์หรือแผนรองรับไว้สำหรับอนาคตรูปแบบต่างๆ ก็จะช่วยให้ประเทศมีขีดความสามารถในการปรับตัวสูงตามบริบทที่อาจเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้สามารถขับเคลื่อนไปสู่อนาคตตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หากเรามาพิจารณาดูกรณีของประเทศไทยที่ผ่านมา พบว่า โครงการมองอนาคตของไทยยังอยู่ในลักษณะเป็นรายโครงการ ยังไม่มีการจัดตั้งขึ้นเป็นระบบที่ชัดเจนมากนัก และมักมองอนาคตเป็นภาพเดียว ซึ่งอาจทำให้ขาดการเตรียมพร้อมหากมีเหตุการณ์ประหลาดใจเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันได้มีความพยายามจัดตั้ง Future lab ขึ้นมาอีกครั้ง โดยพยายามผสานองค์ความรู้และเครือข่ายด้านการมองอนาคตที่มีอยู่ในประเทศ ซึ่งหากไทยมี Future lab ก็จะช่วยเป็นแพลตฟอร์มกลางให้ประเทศและองค์กรมีองค์ความรู้และเครื่องมือที่เพียงพอในการจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อรับมือกับโลกอนาคตได้ดียิ่งขึ้น

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ Future lab ควรมีบทบาทในการให้คำปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกภาคส่วนรวมถึงประชาชน มีความรู้ ความเข้าใจ มีความตระหนักถึงอนาคต และมีขีดความสามารถและความพร้อมเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง

จากยุคที่เราเคยพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อคาดการณ์อนาคตล่วงหน้า มาถึงยุคที่เราจะต้องใช้เครื่องมือใหม่ๆ อย่างเช่น Future Lab เพื่อช่วยเราสำรวจอนาคต ช่วยขับเคลื่อนให้องค์กรและประเทศไทยพร้อมรับอนาคตในโลกยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงสูงเช่นนี้