ตามหา “คนที่ใช่” ในยุค 4.0

ตามหา “คนที่ใช่” ในยุค 4.0

ในยุคไทยแลนด์ 2.0 และ 3.0 การหา “คนที่ใช่” หรือคู่ชีวิตนั้นส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นตามสถานที่ที่จับต้องได้ ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่า

คนที่จะคบกันเป็นแฟนและลงเอยแต่งงานกัน มักจะรู้จักกันที่โรงเรียนเดียวกัน มหาวิทยาลัยเดียวกัน ที่ทำงานแห่งเดียวกัน หรือหมู่บ้านเดียวกัน แน่นอนว่าก่อนที่จะมีอุปกรณ์สื่อสารอย่างเช่นในปัจจุบัน การหาแฟนในยุคก่อนมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลือกที่มีจำนวนน้อยเพราะถูกจำกัดด้วยสถานที่ รวมถึงการจะจีบใครสักคนก็ต้องอาศัยการสื่อสารแบบคุยกันต่อหน้าหรือเขียนจดหมายกระดาษซึ่งต้องใช้เวลาและความพยายามค่อนข้างสูง

แต่ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่เกือบทุกคนมีอุปกรณ์สื่อสารที่สามารถติดต่อกับคนอื่นๆ ได้สะดวกและรวดเร็ว ตัวเลือกก็มีมากขึ้นด้วยตัวช่วยจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ปัจจุบันมีทั้งเวปไซต์และแอพฯ ที่ช่วยหาเพื่อน แฟน และ คนที่ใช่มากมาย ทั้งต่างประเทศและในประเทศไทย แอพฯเหล่านี้มีหลากหลายรูปแบบ ที่นิยมกันในกลุ่มวัยรุ่นไม่เน้นการหาแฟนเป็นจริงเป็นจังนัก แต่เน้นเรื่องของการหาเพื่อนซะมากกว่า แอพฯลักษณะนี้มักจะมาพร้อมกับฟังก์ชั่นคัดกรอง (หรือ Filter) หลากหลายรูปแบบเช่น ต้องการเพื่อนผู้ชาย ต้องการเพื่อนผู้หญิง ต้องการเพื่อนที่อยู่ในช่วงอายุไม่เกิน 20 ปี ต้องการเพื่อนที่สนใจกิจกรรมคล้ายๆ กัน ต้องการเพื่อนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน เป็นต้น ในขณะที่ก็มีแอพฯที่ซีเรียสมากขึ้นในการหาคู่ครอง ซึ่งก็มีกลุ่มเป้าหมายคือคนที่อายุเกินวัยรุ่นไปแล้วหรือวัยทำงาน แอพฯซีเรียสเหล่านี้มักจะมาพร้อมกับฟังก์ชั่นคัดกรองที่ละเอียดขึ้นเช่น น้ำหนัก ส่วนสูง การศึกษา รายได้ อาชีพ งานอดิเรก หรือแม้กระทั่งการคัดกรองด้วยคำถามด้านพฤติกรรมและจิตวิทยาต่างๆ เป็นต้น

บางครั้ง แอพฯหาคู่เหล่านี้จะดึงข้อมูลส่วนตัวของเราออกจากโซเชียลมีเดียเช่น Facebook เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐาน ทั้งนี้เพราะ Facebook มีข้อมูลหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ในการหาคู่ไม่ว่าจะเป็น รูปภาพ ประวัติ ฯลฯ แต่พอพูดถึง Facebook ก็ต้องพูดถึงข่าวใหญ่เมื่อต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาคือ Facebook ได้ตัดสินใจกระโดดเข้าร่วมในธุรกิจหาคู่นี้อย่างเป็นทางการ เหตุที่เป็นข่าวใหญ่เพราะ Facebook นั้นมีผู้ใช้งานที่ระบุว่าตัวเอง “โสด” มากกว่า 200 ล้านคน นั่นหมายความถึงตัวเลือกที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาล อย่างไรก็ตาม Facebook บอกว่าการให้บริการหาคู่นี้จะเน้นแบบซีเรียสคือจับกลุ่มเฉพาะคนที่ต้องการความสัมพันธ์แบบจริงจัง ไม่ใช่แบบฉาบฉวย และจะมีระบบป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลที่รอบคอบ (หลังจากกรณีอื้อฉาวเรื่อง Cambridge Analytica) คนโสดที่สนใจคงต้องรออีกสักหน่อยว่ารายละเอียดและวิธีการจะเป็นอย่างไรเพราะยังอยู่ในช่วงทดสอบ

ความสำเร็จของธุรกิจหาคู่นี้อยู่ที่ความสามารถในการหาคู่ที่เหมาะสม (หรือ Perfect Match) ให้เรา ดังนั้น ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา แอพฯหาคู่พยายามตอบคำถามที่ยังไม่มีใครตอบได้มาก่อนคือ ใครคือคนที่ใช่สำหรับเรา โดยใช้สูตรการคำนวน (หรือ Algorithm) ที่เป็นความลับของแอพฯหาคู่นั้นๆ แอพฯหาคู่นั้นได้เปรียบตรงที่มีข้อมูลของสมาชิกจำนวนมากและสามารถนำข้อมูลที่มีมาหาความสัมพันธ์ทางสถิติได้ อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาเรื่องนี้มักให้คำตอบที่น่าผิดหวังกล่าวคือ นักวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้เช่น Dan Ariely ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมชื่อดัง บอกว่าไม่มีปัจจัยใดๆ ที่สามารถอธิบาย Perfect Match ของคนสองคนได้ เพราะแม้แต่ตัวเราเองก็ไม่สามารถระบุได้ว่า “คนที่ใช่” สำหรับเรานั้นมีคุณลักษณะอย่างไร เหตุผลคือข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลไม่ว่าจะเป็น น้ำหนัก ส่วนสูง การศึกษา งานอดิเรก ฯลฯ ไม่มีความสัมพันธ์กับ “ความชอบ” ทั้งนี้ “คนที่ใช่” หรือคนที่เราชอบนั้นคือคนที่ “คุยด้วยแล้วสบายใจ” “อยู่ด้วยแล้วมีความสุข” “มีอารมณ์ขัน” “เอาใจใส่เป็นห่วงเรา” ฯลฯ ซึ่งไม่สามารถใส่ไว้ในโปรไฟล์หรือสูตรการคำนวนใดๆ ได้ ตรงกันข้าม การกำหนดตัวคัดกรอง (หรือ Filter) มากเกินไป อาจจำกัดโอกาสที่เราจะได้เจอ “คนที่ใช่” ได้เช่น การเลือกเฉพาะคนรูปร่างดี ทำให้คนมีอารมณ์ขันถูกคัดออกได้ เป็นต้น

อีกกรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจคือเมื่อต้นปี 2556 เวปไซต์ OkCupid ซึ่งให้บริการหาคู่ในต่างประเทศ (และในประเทศไทยด้วย) ได้เปิดเผยว่า ได้ทำการทดลองกับสมาชิกเวปไซต์หลายเรื่องโดยที่สมาชิกเหล่านั้นไม่รู้ว่าตัวเองเป็นหนูทดลอง (ซึ่งแน่นอนว่าเข้าข่ายผิดจริยธรรมและโดยวิจารณ์อย่างมาก) หนึ่งในการทดลองคือ OkCupid ได้ส่งข้อมูล มั่ว ว่ามีคนที่เหมาะสมกับคุณตามสูตรการคำนวณหรือ Algorithm ของเวปไซต์เช่น บอกว่ามี “คนที่ใช่” สำหรับคุณถึง 90% ตามสูตรการคำนวณ เป็นต้น ปรากฎว่า คนที่ได้รับข้อความลักษณะนี้ มีการสนทนาและสานสัมพันธ์ต่อเนื่องมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับ ในสมัยที่ผู้คนปฏิเสธการ “คลุมถุงชน” จากพ่อแม่ของตัวเอง คนยุค 4.0 กลับเชื่อการ คลุมถุงชนโดย Algorithm มั่วๆ มากกว่า เห็นไหมครับว่าเทคโนโลยีมีอิทธิพลกับเรามากเพียงใด นี่ยังไม่นับผลการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งของ OkCupid ที่สรุปว่ารูปภาพมีความสำคัญมากกว่ารายละเอียดโปรไฟล์หลายเท่า ดังนั้น อาศัยเทคโนโลยีตกแต่งรูปภาพในปัจจุบัน รูปภาพในแอพฯหาคู่หรือโซเชียลมีเดียนั้นอาจแตกต่างจากตัวจริงแบบจำกันไม่ได้เลยทีเดียว และด้วยเหตุผลต่างๆเหล่านี้ ความสามารถของแอพฯหาคู่ในการหา “คนที่ใช่” ให้เราจึงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แอพฯหาคู่ที่ประสบความสำเร็จจึงมักจะเป็นแอพฯที่เจาะกลุ่มเฉพาะเช่น กลุ่มเพศที่ 3 เป็นต้น

ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งคิดว่าเรื่องนี้ไม่สำคัญนะครับ ในขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ด้วยเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงผู้คนมากมายไว้ด้วยกัน เทคโนโลยีเหล่านี้กลับไม่พร้อมที่จะช่วยเราตามหา คนที่ใช่ได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างที่เราคาดหวังไว้ ไม่แน่นะครับ หากเราลองวางโทรศัพท์มือถือลง และเงยหน้าขึ้น เราอาจพบ “คนที่ใช่” ก็ได้

โดย... 

รศ.ดร.ยิ่งยศ เจียรวุฑฒิ

ภาควิชาบริหารธุรกิจ

วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล

[email protected]