อย่าปล่อยให้คนเลี้ยงหมู ต้องตาย…

อย่าปล่อยให้คนเลี้ยงหมู ต้องตาย…

วันนี้​ โลกก้าวสู่สงครามการค้าเกือบเต็มตัว เริ่มจากสหรัฐฯไม่พอใจที่ประเทศต้องเสียดุลการค้ากับทั่วโลกจึงประกาศตั้งกำแพงภาษีสินค้ากับจีน อียู

สร้างความปั่นป่วนในตลาดหุ้น การเงิน การลงทุน ลามถึงภาคเศรษฐกิจของโลกตามๆ กัน และสหรัฐฯ กำลังศึกษาเรื่องภาษีชิ้นส่วนรถยนต์ เพื่อออกอาวุธตัวใหม่ที่กระทบถึงไทยอย่างแน่นอน รวมถึง การให้คนไทยต้องซื้อหมูอเมริกัน ทั้งๆ ที่ประเทศเราก็เลี้ยงหมูอยู่

ประเทศไทย 1 ใน 16 ประเทศที่เสียดุลการค้ากับพญาอินทรีย์เฉลี่ยปีละ 20,000 ล้านเหรียญ จากข้อได้เปรียบเรื่องแรงงาน ต้นทุนการผลิต การลดภาษีตามแนวทางของการค้าโลกของ WTO ทำให้แต่ละปีสหรัฐเสียเปรียบดุลการค้ารวม 8 แสนล้านดอลลาร์ แค่จีนประเทศเดียวก็ 4 แสนล้านเหรียญแล้ว สิ่งนี้สร้างความเจ็บปวดให้ชาวมะกันอย่างมหาศาล ประธานาธิบดีทรัมป์จึงต้องดำเนินตามนโยบาย “American First” ลดการเสียดุลการค้า กระจายสินค้าเมดอินยูเอสเอ สู่ประเทศเล็กๆ และมีความสัมพันธ์อันดีมายาวนานรวม 200 ปีอย่างไทย ที่เป็นอีกตลาดที่ต้องนำเข้าหมูสหรัฐ ซึ่งย่อมเป็นที่ถูกใจและได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากเกษตรกร และกลุ่มคนที่โหวตทรัมป์เข้ามา

ตั้งแต่ปี 2560 สหรัฐได้เริ่มการเจรจาขอเปิดตลาดเนื้อหมูและเครื่องในหมูให้ไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ หลังจากทำกับเวียดนามได้แล้ว ไม่นำพาว่าประเทศไทยก็เป็นประเทศที่มีการเลี้ยงหมู ท้าทายกฎหมายห้ามการใช้สารเร่งเนื้อแดง (แรคโตพามีน) ด้วยเหตุที่สหรัฐอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงตกค้างในเนื้อหมูที่ใช้บริโภคได้

ทำไมสหรัฐต้องการให้ไทยเปิดรับหมูนำเข้าจากสหรัฐ...สหรัฐเป็นผู้ผลิตและส่งออกเนื้อหมูรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลก และ 1 ใน 4 ส่วนของปริมาณหมูที่เมดอินโดยเกษตรกรอเมริกันส่งออกไปต่างประเทศ และส่งออกมาที่จีน แต่จากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ และหลายประเทศ อย่างเม็กซิโกและจีนที่ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าหมูจากสหรัฐ ทำให้ปริมาณการส่งออกหมูสหรัฐลดลง ทำให้ทรัมป์จึงต้องหาตลาดระบาย ช่วยผู้เลี้ยงหมูของตนเอง 

การเจรจาและบีบคั้นมาทุกรูปแบบ ล่าสุดนายแมททิว พอตทิงเจอร์ ผู้อำนวยการอาวุโสด้านกิจการเอเชีย สภาความมั่นคงแห่งชาติเดินทางมาถึงไทยเพื่อเข้าพบกับรัฐบาลไทย จี้ถามถึงความคืบหน้าในการนำเข้าหมู เอาเรื่องการตัดสิทธิทางภาษี หรือ จีเอสพี กับไทยอย่างต่อเนื่อง และเดือนนี้ สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐ (US Trade Representatives : USTR) ก็รอการชี้แจงจากไทยเช่นกัน เป็นความท้าทายของภาครัฐไทยต้องรักษาผลประโยชน์ของทุกฝ่าย

สิ่งที่ไทยพอจะทำได้ในฐานะ “ตัวจิ๊บตัวจ้อย” ในสายตาพญาอินทรีย์ คือ การเจรจาต่อรอง รวมถึงการพิจารณาเพิ่มมูลค่านำเข้าสินค้าสหรัฐ เพื่อลดการได้ดุลการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐ เช่นเดียวกับ ญี่ปุ่นปรับเพิ่มนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ช่วยให้ไตรมาสแรกปีนี้ ญี่ปุ่นสามารถลดดุลการค้ากับสหรัฐได้ถึง 17% จึงไม่ถูกบีบคั้นมากนัก ประเด็นนี้ จึงเป็นอีกโจทย์ที่หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องทำการบ้านอย่างรอบคอบ เพราะการเจรจาหนนี้ไทยต้องมีเสียแน่นอน

หลายฝ่ายเกรงว่าหากเปิดตลาดรับเนื้อหมูจากสหรัฐฯ เข้ามาจริง จะเท่ากับเป็นการเอาสุขภาพคนไทยมาเสี่ยงมากขึ้น จากเดิมที่ไทยมีมาตรฐานสูงดีอยู่แล้วจากที่กรมปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับทุกภาคส่วนเดินหน้าปราบปรามการใช้สารเร่งเนื้อแดงอย่างจริงจัง ยกระดับมาตรฐานการผลิตอาหารปลอดภัย เช่น เขียงหมูสะอาด มาตรฐานปศุสัตว์ OK เพื่อให้คนไทยได้บริโภคเนื้อสัตว์ปลอดภัย

ด้วยข้อต่อรองหรือทางเลือกไทยมีค่อนข้างน้อย ผู้เลี้ยงหมูไทยต่างวิตกกังวลและหวั่นใจต่อท่าทีของหน่วยงานที่ทำหน้าที่เจรจา ที่ยังคงเงียบ และไม่แสดงจุดยืนชัดเจน ด้วยมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรโดยรวมน่าจะดูน้อยเมื่อเทียบกับสินค้าอุตสาหกรรม แต่หากมองผลกระทบที่มีต่อไทยมีมหาศาล เพราะไทยเป็นประเทศกสิกรรมมีการผลิตครบวงจร ดังนั้น การเปิดรับหมูสหรัฐ ไม่ได้กระทบผู้เลี้ยงหมูที่มีอยู่กว่า 2 แสนครอบครัว แต่ยังกระทบกับภาคเกษตรในห่วงโซ่การผลิต ทั้งแรงงานในอุตสาหกรรมเลี้ยงหมู ผู้ปลูกพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้ง ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวทุกคนย่อมรู้อยู่แล้วเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรส่วนใหญ่ของไทย ส่วนข้าวโพดก็เป็นพืชที่สำคัญเป็นอาชีพหล่อเลี้ยงเกษตรกรอีกกว่า 4 แสนครอบครัว

ในวันนี้ ผู้เลี้ยงหมูไทยก็เดือดร้อนเรื่องราคาหมูตกต่ำมานานเกือบปี หากเปิดรับหมูสหรัฐเข้ามาดูเหมือนจะซ้ำเติมทั้งผู้เลี้ยงหมู และลดทอนมาตรฐานการผลิตอาหารของไทยที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก

แม้จะเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับคนที่ทำหน้าที่เจรจา การตัดสินใจต้องดำเนินอย่างรอบคอบ เพราะงานนี้ต้องมีได้มีเสีย สิ่งหนึ่งที่เกษตรกรและคนไทยอยากให้รัฐบาลยึดมั่น คือ การยืนอยู่ข้างความปลอดภัยของประชาชน อย่างแคนาดาไม่เคยนำเข้านมจากสหรัฐเพราะมีสารเร่งเนื้อแดงตกค้าง

หากภาคอุตสาหกรรมเหล็กและอะลูมิเนียมเป็นหัวใจสำคัญของมหาอำนาจ ภาคเกษตรกรรมและปศุสัตว์ก็เปรียบเป็นกระดูกสันหลังของชาติไทยเช่นกัน ที่ช่วยสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอาหารให้คนไทย แถมเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งให้ภาคการท่องเที่ยวไทยเติบโต รองรับการหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวได้อย่างราบรื่น ซึ่งจีนเองแม้จะนำเข้าหมูจากสหรัฐแต่ยังพยายามเพิ่มการผลิตในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาคนอื่น

ขอฝากประเด็น ความปลอดภัยของผู้บริโภค และ ความอยู่รอดของเกษตรกรไทย ที่ไทยต้องชั่งน้ำหนัก เพื่อให้ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของไทย ไม่ควรปล่อยให้ประธานาธิบดีทรัมป์ปกป้องเกษตรกรของตนเองอยู่ฝ่ายเดียว และต้องสร้างความมั่นใจว่า กระดูกสันหลังของชาติไม่ได้ยืนอยู่คนเดียว./

 

โดย... 

วัชระ ช่วงไสว

[email protected]