ยุโรปต่อสู้กับขยะพลาสติก

ยุโรปต่อสู้กับขยะพลาสติก

เรื่องขยะพลาสติกกำลังเป็นความท้าทายเก่าที่ต้องมาเล่าใหม่ และต้องเร่งหาทางแก้ไขสำหรับประเทศไทย

ล่าสุดมีการรายงานว่าไทยใช้ถุงพลาสติกปีละ 7 หมื่นล้านใบ และเราได้เห็นภาพปลาวาฬมาเกยตื้นตายทางภาคใต้ของประเทศ และพบว่าในตัวปลาวาฬมีพลาสติกอยู่ 80 ใบ น้ำหนักรวม 8 กิโลกรัม กรณีดังกล่าวช่วยความตื่นตัวเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี

ช่วงนี้ เมื่อห็นพวกเราตื่นตัวและสนใจเรื่องการลดขยะพลาสติกและการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น หันมาใช้ถุงผ้าหรือกระเป๋าที่นำไปเองแทนการรับถุงพลาสติกจำนวนมากเมื่อไปซื้อของจากห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อ ก็ดีใจ เพราะที่ยุโรปและอีกหลายประเทศทั่วโลก การเก็บเงินค่าถุงพลาสติกเมื่อซื้อสินค้าเป็นเรื่องธรรมดา หากคุณอยากได้ถุงพลาสติก คุณต้องจ่ายเงินซื้อ มาตรการลักษณะนี้ลดการใช้ถุงพลาสติกได้จริง

ยุโรปเป็นภูมิภาคที่มีประสบการณ์ในการต่อสู้กับความท้าทายเรื่องพลาสติกและขยะพลาสติก จึงอยากนำตัวการกำหนดนโยบายพลาสติกแบบองค์รวมมาเล่าให้ฟัง

ทุกๆ ปี ยุโรปผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกจำนวนกว่า 58 ล้านตัน และกว่าร้อยละ 40 เป็นบรรจุภัณฑ์ ทำให้แต่ละปียุโรปสร้างขยะพลาสติกจำนวนมากกว่า 25 ล้านตัน แต่มีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่ถูกนำมารีไซเคิลหรือนำไปใช้ใหม่ ร้อยละ 39 นำไปเผา และร้อยละ 31 นำไปผังดิน

ยุโรปต่อสู้กับขยะพลาสติก ยุโรปต่อสู้กับขยะพลาสติก

เมื่อ ม.ค. 2561 สหภาพยุโรปได้ประกาศยุทธศาสตร์พลาสติก ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนหรือ Circular Economy ซึ่งนับเป็นยุทธศาสตร์พลาสติกฉบับแรกของยุโรปที่คาดว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ในการต่อสู้กับขยะพลาสติกยุโรป ซึ่งยุโรปไม่ได้มุ่งเน้นเพียงแค่การกำหนดมาตรการเพื่อลดขยะพลาสติกเท่านั้น แต่มุ่งการแก้ไขปัญหาจากต้นต่อ ตั้งแต่การออกแบบ การใช้ การผลิต และการรีไซเคิลที่มีคุณภาพมากขึ้น

ยุโรปมองว่า เราต้องเริ่มที่การออกแบบวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์พลาสติกที่พัฒนาขึ้นอย่างมีคุณภาพเหมาะสำหรับการนำไปรีไซเคิล ไปจนถึงสร้างความพยายามจากทุกภาคส่วนในการรีไซเคิลขยะพลาสติกให้สูงขึ้นตามเป้าหมาย พร้อมๆ กันต้องพัฒนาเทคโนโลยีการรีไซเคิล ไปกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมพลาสติกให้เติบโตไปในทิศทางดังกล่าวด้วย

ในด้านการลดขยะพลาสติกเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล คณะกรรมาธิการยุโรปกำหนดเสนอกฎหมายใหม่ที่ควบคุมการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก 10 ประเภทหลักที่พบมากในท้องทะเล และชายหาดอย่างเข้มงวด (ตามรูปข้างล่าง) ซึ่งรวมถึงเครื่องมือการทำประมงต่างๆ ที่ถูกทิ้งอยู่ในทะเล ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้คิดว่าร้อยละ 50 ของปริมาณขยะทางทะเลทั้งหมด

ยุโรปต่อสู้กับขยะพลาสติก

ในประเทศไทย ยังไม่มีมาตรการโดยรวมที่ชัดเจนจากภาครัฐเพื่อจัดการปัญหาขยะพลาสติก มีเพียงหน่วยงานเอกชนบางแห่งที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ความท้าทายเรื่องขยะพลาสติกนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นปัญหาเรื้อรังอีกอันหนึ่งที่รอการแก้ไข รัฐบาลไทยควรหันมาบททวนนโยบายพลาสติกของประเทศดูให้ดีว่าเราควรจะเดินหน้าไปทางไหน และมีมาตรการและข้อบังคับใหม่ๆ อะไรบ้างที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อไปสู่เป้าหมายของลดขยะพลาสติกได้จริง

ความตระหนัก ใส่ใจ และลงมือทำเพื่อลดขยะพลาสติกในลักษณะนี้ ไม่ควรเป็นเพียงกระแสที่เราทำแค่ชั่วครั้งชั่วคราว หรือให้ทำตามความสมัครใจกันเอง แต่ควรนำมากำหนดเป็นกฎหมายของประเทศและสังคม โดยภาครัฐต้องมีบทบาทในการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์พลาสลิกและข้อกำหนดในการผลิต การใช้ การลดและรีไซเคิลขยะพลาสติกของทั้งภาคอุตสาหกกรรมและผู้บริโภค เพื่อมุ่งเป้าหมายการรักษาสิ่งแวดว้อมได้จริง

ในขณะขอการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาลแบบองค์รวม ดิฉันมี 3 ข้อคิดหลัก ที่อยากจะฝากไว้ให้รัฐบาลและคนไทยลองทำดู

1) ลดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบครั้งเดียว (หรือใช้แล้วทิ้งไป) – ด้วยการร่วมมือจากพวกเรา

2) ต้องกำหนดข้อบังคับและการรีไซเคิลขยะพลาสติก (โดยภาครัฐ) ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และง่ายสำหรับประชาชนที่จะทำตาม

3) หยุดพฤติกรรมการทิ้งขยะหรือทำให้ผลิตภัณฑ์พลาสติกต้องไปอยู่ในที่ที่ไม่ควรอยู่ อาทิ ในท้องทะเล

เพื่อเราจะได้มุ่งหมายไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแบบยั่งยืนได้จริง