เช่าซื้อรถตามกฎหมายใหม่

เช่าซื้อรถตามกฎหมายใหม่

ยอดการสั่งจองรถยนต์จากงาน Bangkok International Motor Show 2018 ครั้งที่ 39 ระหว่างวันที่ 26 มี.ค. - 8 เม.ย.2561 ณ เมืองทองธานี

มียอดรวมทั้งสิ้น 42,499 คัน แบ่งออกเป็นรถยนต์ 36,587 คัน เติบโตขึ้น 18% จากปีที่ผ่านมา ขณะที่รถจักรยานยนต์มียอดจอง 5,912 คัน เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเกือบเท่าตัว ส่วนใหญ่ผู้บริโภคที่มีกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอจะเข้าทำสัญญาเช่าซื้อด้วยการชำระค่ารถเป็นรายงวดกับธนาคารหรือสถาบันการเงินต่าง ๆ โดยเมื่อชำระครบทุกงวดกรรมสิทธิ์ก็จะตกเป็นของผู้เช่าซื้อทันที

แต่ที่ผ่านมาพบว่ามีการร้องเรียนจากผู้เช่าซื้อรถว่ามีการเอาเปรียบผู้บริโภคในหลายกรณี ด้วยเหตุนี้ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคจึงได้ออก “ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561” มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งมุ่งคุ้มครองผู้ที่เช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ไปใช้เพื่อการส่วนตัวเท่านั้น ไม่คุ้มครองกรณีผู้เช่าซื้อเป็นนิติบุคคล หรือซื้อเพื่อการขนส่ง การค้า ธุรกิจหรือเพื่อสินจ้าง โดยได้กำหนดรูปแบบของสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจในฐานะผู้ให้เช่าซื้อต้องจัดทำให้เป็นไปตามที่ประกาศกำหนด หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ปฏิบัติตามจะต้องระวางโทษทั้งจำคุกและปรับ ซึ่งตามประกาศฯ ฉบับใหม่มีสาระสำคัญที่ต้องระบุในสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ดังนี้

ผู้ประกอบธุรกิจต้องทำตารางแสดงภาระหนี้แนบท้ายสัญญาเช่าซื้อ โดยให้แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนเงินค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระในแต่ละงวด แยกเป็นเงินต้น ดอกเบี้ย ภาษีมูลค่าเพิ่ม และจำนวนค่าเช่าซื้อที่คงค้าง แยกเป็นเงินต้นคงค้างและดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อ รวมทั้งส่วนลดในอัตราไม่น้อยกว่า 50% ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ กรณีมีการขอชำระค่าเช่าซื้อคงค้างทั้งหมดในคราวเดียว หรือโปะเพื่อปิดบัญชีค่าเช่าซื้อ เนื่องจากในอดีตพบว่าผู้ประกอบธุรกิจเอาเปรียบผู้บริโภค โดยมีการเรียกเก็บค่าปรับในการชำระค่าติดตามทวงถามและค่าบริการอย่างอื่นที่ไม่ได้กำหนดในสัญญาสูงเกินจริง

ส่วนอัตราดอกเบี้ยนั้น ในสัญญาต้องแสดงอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) (ลดต้นลดดอก) และอัตราดอกเบี้ยคงที่ต่อปี (Flat Interest Rate) (ลดต้นไม่ลดดอก) ให้ผู้บริโภครับรู้ด้วย แต่กฎหมายมิได้บังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องเปลี่ยนมาใช้อัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกเช่นเดียวกับการคำนวณดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่ออยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม ในสัญญาเช่าซื้อปัจจุบันมีการคิดอัตราดอกเบี้ยทั้ง 2 แบบอยู่แล้ว สุดท้ายผู้เช่าซื้อจะมีภาระดอกเบี้ยเท่ากัน ดังนั้น ผู้บริโภคต้องทำความเข้าใจประเด็นนี้ให้ชัดแจ้งเพื่อป้องกันการสับสน

นอกจากนี้ ดอกเบี้ยค่าปรับกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่างวด ให้คิดจากอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเช่าซื้อที่แปลงเป็นอัตราดอกเบี้ยแท้จริงต่อปี บวก 3% แต่ต้องไม่เกิน 15% ต่อปี ซึ่งประเด็นนี้จะช่วยผู้บริโภคมากขึ้นเพราะแต่เดิมผู้ประกอบธุรกิจคิดเบี้ยปรับในอัตราดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดีรายย่อย (MRR) ของธนาคารกรุงไทยบวก 10% ของจำนวนเงินที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระ ทำให้อัตราดอกเบี้ยเดิมที่ต้องชำระจะอยู่ที่ประมาณ 16-17% ต่อปี อีกทั้งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR สูงขึ้น และผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่เข้าใจการคิดอัตราดอกเบี้ยวิธีนี้ ดังนั้น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ชัดเจนในกรณีชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าจะทำให้ผู้เช่าซื้อที่ผิดนัดชำระหนี้ลดจำนวนดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายลงได้

อีกประการสำคัญ หากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระหนี้ค่าเช่าซื้อ 3 งวดติดกัน และผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ผู้เช่าซื้อชำระเงินค่างวดนั้นแล้ว หากผู้เช่าซื้อไม่ปฏิบัติตามภายในเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือ ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ นั่นหมายความว่าระยะเวลาได้ผ่านไปอย่างน้อย 4 เดือนแล้วผู้ให้เช่าซื้อถึงเกิดสิทธิเลิกสัญญา และเมื่อบอกเลิกสัญญาแล้วก็จะมีสิทธิติดตามเอารถคืนในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ อย่างไรก็ดี ประกาศฯ นี้ห้ามเรียกค่าติดตามยึดรถคืน ส่วนค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามนั้นยังสามารถเรียกได้ แต่ต้องเรียกตามค่าใช้จ่ายจริงที่ทำโดยประหยัด จำเป็นและมีเหตุผลสมควร เหตุผลที่ประกาศฯ กำหนดเช่นนี้เนื่องจากว่าที่ผ่านมาผู้บริโภคบางรายต้องจ่ายค่าติดตามทวงหนี้สูงถึง 4,000 บาทและทุก ๆ สามเดือนจะมีการเปลี่ยนบริษัททวงหนี้ทำให้ต้องรับภาระสูงเกินควร

ข้างต้นเป็นแง่มุมฝั่งการคุ้มครองผู้บริโภค ขณะที่ในแง่ผู้ประกอบธุรกิจนั้น ประกาศฯ ฉบับนี้จะส่งผลผู้ประกอบธุรกิจมีต้นทุนสูงขึ้น เช่น ค่าเอกสารทวงถาม เอกสารขอนำเงินค่างวดไปหักเป็นค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งประกาศฯ กำหนดให้ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เช่าซื้อทราบก่อนอย่างน้อย 7 วัน โดยที่ผู้เช่าซื้อบางรายอาจต้องมีการติดตามทวงถามหลายครั้ง นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจยังจะได้รับดอกเบี้ยลดลงกรณีที่ผู้บริโภคผิดนัดชำระหนี้ แต่ในส่วนนี้ไม่ใช่ผลกำไรหลักจากการประกอบธุรกิจ ส่วนผลกระทบอื่น ๆ เช่น ยอดการสั่งจองรถคงต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิดภายหลังการบังคับใช้ประกาศฯ ไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ดี มีเสียงสะท้อนชวนคิดว่า ประกาศฯ ฉบับนี้กำหนดรายละเอียดยิบย่อยเกี่ยวกับการติดตามทวงหนี้มากไปหรือไม่ เพราะขณะนี้ก็มี พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ใช้บังคับอยู่

ที่กล่าวมาเป็นสาระสำคัญโดยย่อของประกาศฯ ฉบับนี้เท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการปรับปรุงกฎหมายให้ทันกับพลวัตรของสังคมในยุคที่รถยนต์และรถจักยานยนต์กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของทุกครัวเรือน ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าหากมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปอย่างเข้มแข็งตั้งแต่เริ่มต้นทำสัญญาจวบจนสิ้นสุดสัญญา และภาคธุรกิจแข่งขันอย่างเป็นธรรม ผู้บริโภคก็จะมีความเชื่อมั่นมากขึ้นอันจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เติบโตยิ่งขึ้นในอนาคต.

 โดย...

สุพัทธ์รดา เปล่งแสง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์