ฤา FAANG… จะเป็น “หุ้นผู้ชนะ” ?

ฤา FAANG… จะเป็น “หุ้นผู้ชนะ” ?

ผมค่อนข้างประทับใจบทความที่มีชื่อว่า “Do stocks Outperform Treasury Bills?” หรือแปลความได้ว่า “ฤา หุ้นจะให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าพันธบัตรรัฐบาล?"

โดย Hendrik Bessembinder จากมหาวิทยาลัย Arizona State University บทความนี้ได้พูดถึงปรากฎการณ์ในตลาดหุ้นในอดีตกว่า 90 ปีอยู่หลายประการ แต่ที่นับว่าเด่นๆได้แก่

- ระหว่างปี 2469 – 2559 เป็นต้นมา มีหุ้นเพียง 5 ตัวเท่านั้นที่สร้างผลตอบแทนอย่างมหาศาลคิดเป็น 10% ของความมั่งคั่งทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้น ซึ่งหุ้นทั้ง 5 ตัวนั้นก็คือ Apple, ExxonMobil, Microsoft, GE และ IBM

- มีหุ้นเพียง 50 ตัวเท่านั้น ที่ได้สร้างความมั่งคั่งแก่ตลาดหุ้น ซึ่งคิดเป็น 40% ของความมั่งคั่งทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้น

- หุ้นมากกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกา หรือมากกว่า 12,500 หุ้น ตลอด 90 ปีที่ผ่านมา กลับมีผลประกอบการแย่กว่าผลตอบแทนจากพันธบัตรของรัฐบาลอเมริกาเสียอีก

ภาพสะท้อนจากบทความข้างต้นนี้ก็คือ ไม่ใช่ว่า...เราจะซื้อหุ้นและเก็บมันไว้เป็นเวลาหลายสิบปี หลังจากนั้นก็จะสามารถขายและจะทำกำไรได้จำนวนมหาศาล ภาพที่เห็นนี้อาจจะกลายเป็นความฝันไปเลยก็ได้ ถ้าหุ้นที่เราซื้อไว้เป็น “หุ้นผู้แพ้” เช่นเดียวกับหุ้นกว่าครึ่งตลาดในตลาดหุ้นอเมริกา

แล้วเหตุผลอะไรล่ะ? ที่ทำให้หุ้นมากกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดหุ้นอเมริกาให้ผลตอบแทนที่ย่ำแย่เช่นนี้ แนวคิดเรื่อง “Double or Nothing” ที่อยู่ในวารสาร “The Economist” นั้นอาจจะตอบคำถามข้างต้นได้ ดังนี้ครับ

หุ้นไม่ดี  ราคาเริ่มต้น 100 บาท ต่อมาราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 50% ราคาก็จะเป็น 150 บาท เนื่องจากเป็นหุ้นไม่ดี...ผลประกอบการไม่ดี...ราคาจึงยืนไม่อยู่ นักลงทุนก็เทขาย และทำให้ราคาลดลงมาที่เดิมคือลดลง 50% แต่ราคาจะเหลืออยู่เพียง 75 บาทเท่านั้น เปรียบเทียบกับราคาเดิมที่ 100 บาท แนวโน้มจึงให้ผลตอบแทนที่ต่ำลงเรื่อยๆ

หุ้นดี  ราคาเริ่มต้น 100 บาท ต่อมาราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 50% ราคาก็จะเป็น 150 บาท แต่เป็นหุ้นดี...ผลประกอบการดี...ราคาหุ้นลดลงบ้าง แต่ในที่สุดราคาก็จะกลับมาที่เดิมที่ 150 บาทได้ ต่อมาผลประกอบการก็ยังดีขึ้นไปอีก ราคาหุ้นก็เพิ่มขึ้นอีก 50% กลายเป็น 225 บาท ดังนั้นหุ้นดี...ผลประกอบการดี...ราคาก็จะเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ

คุณผู้อ่านคงพอจะเห็นภาพสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับ “หุ้นดี” และ “หุ้นไม่ดี” กันไปบ้างแล้ว แล้วหุ้นที่จะเป็น “ผู้ชนะ” เราจะหามันได้อย่างไร?

ในบรรดาหุ้นที่มีแนวโน้มจะแข็งแกร่งและมีพลังภายในพอที่จะขับเคลื่อนต่อไปในอนาคตได้นั้น ในตลาดหุ้นอเมริกามีหุ้นอยู่กลุ่มหนึ่งนั่นคือ หุ้นกลุ่ม “FAANG” ซึ่งประกอบไปด้วยหุ้น Facebook, Amazon, Apple, Netflix และ Google(ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Alphabet) หุ้นทั้งห้าตัวนี้ได้สร้างผลตอบแทนแบบก้าวกระโดดมาต่อเนื่องกันมากกว่า 10 ปีขึ้นไป นอกจากนั้นหุ้นกลุ่ม FAANG ในปัจจุบันยังเป็นตัวขับเคลื่อนใหญ่ของดัชนี S&P 500 ให้ทะยานขึ้นไปอีกด้วยตามภาพที่แสดงกราฟ

ฤา FAANG… จะเป็น “หุ้นผู้ชนะ” ?

กราฟราคาหุ้นกลุ่ม FAANG (บนสุด) กราฟดัชนี S&P 500 (เส้นกลาง)  และกราฟดัชนี S&P 500 ที่ไม่รวมหุ้นกลุ่ม FAANG (ล่างสุด)

อาจกล่าวได้ว่า หุ้นกลุ่ม FAANG ยังอยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจสมัยใหม่ (Modern Economics) เพราะอยู่ในธุรกิจออนไลน์ ส่วนกลุ่มธุรกิจโลกเก่าและกำลังจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปเรื่อยๆได้แก่ Walmart, Barnes & Noble, Washington Post เป็นต้น เพราะขายสินค้าและบริการของตนผ่านช่องทางออฟไลน์เป็นส่วนใหญ่ และกำลังปรับตัวอย่างรุนแรงเพื่อเข้ามาแข่งขันในตลาดออนไลน์ให้มากที่สุด ซึ่งการปรับตัวครั้งนี้คงไม่ง่ายดายนัก ดังนั้นหุ้นกลุ่ม FAANG และบรรดาหุ้นเทคโนโลยีอื่นๆก็ยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตไปได้อีกไกล พร้อมๆกับราคาหุ้นที่ยังอยู่ในระดับที่สูงมาก แล้วเราควรจะซื้อหุ้นเหล่านี้หรือไม่?

ที่ตลาดหุ้นนิวยอร์คประมาณปี 2503 มีหุ้นกลุ่มหนึ่งที่มีชื่อว่า “Nifty Fifty” ซึ่งประกอบไปด้วยหุ้น 50 ตัวที่มีมูลค่าการตลาดขนาดใหญ่และมีผลประกอบการดีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย อาทิ McDonald’s, Walmart, Walt Disney, Gillette, Eastman Kodak และ GE เป็นต้น จึงได้สร้างความเชื่อให้เกิดขึ้นกับนักลงทุนจำนวนมากว่า “จะต้องซื้อแล้วเก็บ” หุ้นเหล่านี้ยังมีผลประกอบการที่ดีมากติดต่อมาอีกเกือบ 20 ปี ทุกวันนี้หุ้นหลายตัวในกลุ่มนี้ยังสร้างผลประกอบการที่ดีมากอยู่ เช่น Walt Disney บางตัวเริ่มจะแย่บางแล้ว เช่น Walmart, McDonald’s บางตัวก็ตายจากไปแล้ว เช่น Kodak เป็นต้น

จากนี้ไป...ก็คงไม่มีใครรู้ว่า หุ้นกลุ่ม FAANG ทั้ง 5 ตัวจะสามารถดำรงคงอยู่และเจิรญเติบโตแบบก้าวกระโดดต่อไปได้หรือไม่? แต่หน้าที่ของเราในฐานะนักลงทุนก็ยังคงเหมือนเดิม นั่นคือ การแสวงหา “หุ้นผู้ชนะ” ต่อไป  ท้ายนี้ขอให้คุณผู้อ่านโชคดีในการลงทุนนะครับ

หาอ่านบทความ และความรู้ด้านการลงทุนของผู้เขียนได้เพิ่มเติมได้ที่ www.doctorwe.com