พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต

พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต

ผมได้โพสต์บทความเรื่อง "คิดข้ามช็อต" ทางเฟสบุ๊ค เมื่อ 10 ก.ค. 2561 เวลา 19.10 น. 

เป็นบทความที่ผมเขียนไว้ล่วงหน้า แต่รอเวลาโพสต์ที่เหมาะสม คือเมื่อมั่นใจว่าทุกคนปลอดภัยแล้ว เท่านั้น

ผม “คิดข้ามช็อต” ว่า ทำอย่างไรเหตุการณ์ระดับโลกที่ถ้ำหลวง จะได้รับการบันทึกไว้ในความทรงจำของคนไทย และของมนุษยชาติ และเกิดประโยชน์ต่อผู้คนในสังคม ต่อไปอีกนานแสนนาน

ผมได้โยงถึงเหตุการณ์ สึนามิ ในปี 2547 ว่ามีเรื่องราวยิ่งใหญ่ที่สะท้อนน้ำใจของคนไทยเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งคนทั้งโลกได้รับรู้และประทับใจ แต่หลักฐานและบันทึกเรื่องราวต่างๆ กลับหายไปกับกาลเวลา และความทรงจำ อย่างน่าเสียดาย

เมื่อคืนวันอังคารที่ 10 .. ขณะที่เจ้าหน้าที่นำหมูป่าไปส่งโรงพยาบาล ผมจึงเสนอให้สร้าง “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ถ้ำหลวง โดยขอให้เก็บเครื่องสูบน้ำ ท่อระบายน้ำ ชุดมนุษย์กบ กล่องอาหารที่ลอยเข้าไปให้เด็กๆ จดหมายที่เด็กเขียน อุปกรณ์ขุดเจาะ ถังอ๊อกซิเจน ผ้าห่ม รถจักรยาน รองเท้า เครื่องครัว อาคารศูนย์อำนวยการ โต๊ะ เก้าอี้ ที่ใช้แถลงข่าว เอกสารที่ใช้ในการวางแผน ฯลฯ ไว้ที่นั่น

วันนี้ ผมขอเพิ่มเติมว่า เราควรนำเสนอสิ่งเหล่านั้นให้น่าสนใจ สมกับเป็น “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต" โดยช่วยกันคิดว่า ข้อมูล ข้อความ และภาพเหตุการณ์ไฮไลท์ต่างๆ ควรได้รับการนำเสนออย่างไร ให้ผู้เข้าชมได้ทั้ง ความรู้ ข้อคิด และความตื่นตาตื่นใจ

เช่นการจัดนิทรรศการในถ้ำ ในช่วงต้นถ้ำที่ปลอดภัย เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้อยู่ในบรรยากาศถ้ำจริงๆ แล้วจำลองทิศทางของน้ำที่ไหลเข้าถ้ำ ระดับน้ำที่เปลี่ยนไปตามปริมาณฝน ฯลฯ โดยใช้แสงสี และวิทยาการยุคใหม่เข้าช่วย ให้นักท่องเที่ยวรู้สึกสัมผัสได้ ว่าบรรยากาศที่น้ำไหลเข้ามาเร็วและแรงนั้น เป็นเช่นใด

ผู้เข้าชมควรได้สัมผัส ได้ยินเสียง และได้ใช้ความคิด กับทุกอย่างที่นำเสนอ ได้เรียนรู้วิธีอยู่กับธรรมชาติอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย ได้เข้าถึงหัวใจอันกล้าหาญของ .. สมาน กุนัน วีรบุรุษที่สละชีพด้วยหัวใจที่เอื้ออาทร

ได้ซึ้งใจกับภารกิจของหน่วยซีล และของชาวต่างชาติที่เข้ามาช่วยอย่างกล้าหาญและเสียสละ ได้ตื้นตันใจกับเกษตรกรที่ยากลำบาก แต่ยินดีสละพื้นที่ให้รองรับน้ำ ได้ปิติ กับน้ำใจของจิตอาสาจำนวนมาก ที่ไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ฯลฯ

คำพูดคมๆของ หน่วยซีล ของแพทย์ ของผู้บัญชาการณ์เหตุการณ์ ฯลฯ บางคำพูดนำเสนอให้อ่าน บางคำพูดอาจนำเสนอให้ผู้ชมได้ยินเสียงจริงด้วย เพราะจะได้ผลต่างกัน เช่นคำพูดของ จอห์น โวแลนเทน ผู้ดำน้ำเข้าไปถึงเด็กๆ เป็นคนแรก ที่ว่า “ฉันดำน้ำด้วยความหลงไหล และสงสัยตลอดมาว่า ทำไปเพื่ออะไร แต่สองอาทิตย์ที่ผ่านมา คือคำตอบของทุกอย่างที่ฉันทำมาทั้งชีวิต”....เป็นต้น

ต้องวางเป้าไว้ว่า คนที่ไปชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะต้องรู้สึกได้ ว่าน้ำใจและความเสียสละของมนุษย์ที่ไม่รู้จักกัน ไม่มีที่ไหนจะท่วมท้นได้ขนาดนี้อีกแล้ว

วนอุทยานถ้ำหลวง อุดมสมบูรณ์ เมื่อบวกกับเรื่องราวยิ่งใหญ่ ที่บรรจุไว้ใน “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต” แห่งนี้ จะเป็นความทรงจำที่สอนลูกสอนหลาน และบอกกับนักท่องเที่ยวว่า คนไทยรวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างน่าอัศจรรย์ และในยามคับขัน ไม่ว่ามนุษย์จากชาติใดก็มารวมใจกัน และทุกอย่างก็เป็นไปได้

ผมเชื่อว่าจะมีผู้ยินดีบริจาคเงิน เพื่อร่วมสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ และถ้าหากจะมีรายได้ที่ได้รับจากการเข้าชมในแต่ละปี ก็น่าจะกันไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อนำไปช่วยเหลือหรือสนับสนุนผู้เสียสละทุกฝ่าย เพราะถ้าไม่มีท่านทั้งหลาย เหตุการณ์ยิ่งใหญ่ระดับโลกครั้งนี้ คงไม่ก้าวมาได้ไกลและสำเร็จอย่างงดงามเช่นนี้

คืนวันอังคารที่ 10 ก.ค.หลังจากที่ผมได้โพสต์ คิดข้ามช็อต ออกไป โลกโซเชียลไวมาก ไม่กี่นาทีต่อมาก็ได้รับข้อความสนับสนุนเข้ามามาก หลายคนบอกว่า “เห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่ทำอย่างไรมันจะเกิดขึ้นได้จริงล่ะ” ซึ่งผมก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน

คืนวันพุธที่ 11 ก.ค.มีผู้โพสต์มาบอกผมว่า ท่านผู้บัญชาการเหตุการณ์ อดีตผู้ว่าฯ เชียงราย ได้แถลงข่าว และส่วนหนึ่งท่านกล่าวว่า จะสร้าง “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต” ขึ้นที่ถ้ำหลวง เขาได้ยินคำนี้และดีใจ จึงส่งมาบอกให้ผมร่วมดีใจด้วย

ก็ดีใจแหละครับ พร้อมกับถือโอกาสนี้ ฝากเรียนไปยังภาครัฐด้วยว่า ควรรีบดำเนินการ เพราะถ้ำหลวงเวลานี้ ได้รับความสนใจจากคนทั้งโลก ต้องรีบคิด รีบทำ แต่เนื่องจากเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ภาครัฐจึงต้องประสานงานกันให้รวดเร็ว

ถ้ากระแสความสนใจเริ่มซาลง ผู้คนกลับไปสู่วิถีชีวิตปกติ การสนับสนุนและความร่วมมือจากฝ่ายต่างๆ ก็จะเริ่มจางลงเช่นกัน อย่างน้อยที่สุดรัฐบาลน่าจะ ประกาศเวลาที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะดำเนินการได้สำเร็จ เพื่อประชาชนจะคาดหวังได้ว่า จะได้ชื่นชมกับพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต แห่งนี้ เมื่อใด

งานใหญ่ครับ เพราะรัฐมีภารกิจอื่นที่จะต้องฟื้นฟูถ้ำหลวง และดูแลประชาชนในท้องถิ่น ที่เสียสละอีกมากมาย รวมทั้งการประมวลวีรกรรมของจิตอาสา และการเสียสละของบริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ที่ส่งทรัพยากรเข้าไปช่วยจำนวนมาก ซึ่งควรต้องบันทึกความทรงจำนี้ไว้ ทั้งหมด

ขณะนี้เหตุการณ์ผ่านไปได้เพียง 2-3 วัน สื่อก็เริ่มเผยแพร่เกียรติประวัติของผู้คนจำนวนมาก ที่เพิ่งปรากฎให้เราทราบ คนเหล่านี้แม้จะไม่ได้ดำน้ำ ไม่ได้เข้าช่วยชีวิตเด็กๆโดยตรง แต่พวกเขาซักผ้า ปรุงอาหาร ส่งอาหาร ฯลฯ สละประโยชน์ส่วนตัวมากมาย โดยไม่ได้หวังผลตอบแทนอะไรเลย เมืองไทยอยู่ได้ก็เพราะน้ำใจเหล่านี้แหละครับ

หลังจากวันนี้ ถ้าเราจะมีเหตุอันใดให้ต้องขัดแย้งกันอย่างรุนแรงอีก เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ก็ขอให้รำลึกถึงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมหวังว่าจะช่วยหยุดความขัดแย้งกันได้

ถ้าเราร่วมแรงร่วมใจ ร่วมสร้างชาติไทย อะไรก็ไม่เกินมือเราครับ