ช่วยหมูป่าได้แล้ว อย่าลืมสรุปบทเรียน

ช่วยหมูป่าได้แล้ว อย่าลืมสรุปบทเรียน

หาและพา "ทีมหมูป่า" ออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ไม่ควรจบลงแค่ความยินดีปรีดาที่ช่วย 13 ชีวิต ออกมาได้สำเร็จเท่านั้น

เพราะสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือการ "สรุปบทเรียน" และวางมาตรการไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก หรือหากเกิดภัยพิบัติที่เหนือความคาดหมาย คล้ายๆ ทฤษฎี "หงส์ดำ" หรือ black swan เพราะสภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน (ซึ่งหลังๆ เกิดขึ้นถี่) ก็ต้องมีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการรับมือกับปัญหา และจัดระบบ ขั้นตอน วิธีการในการคลี่่คลายสถานการณ์อย่างมืออาชีพ และด้วยมาตรฐานสากล

บ้านเรามีองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องถ้ำ เรื่องภูเขา เรื่องแม่น้ำ เรื่องทะเล ในแง่ของภูมิศาสตร์และการสำรวจค่อนข้างน้อย ทั้งๆ ที่เรามีแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติมากมาย เวลาเกิดเหตุร้ายใดๆ ขึ้น จึงเหมือนตาบอดคลำช้าง แก้ปัญหาแต่ละสถานการณ์กันแบบไทยๆ จบแล้วก็จบไป แทบไม่มีการพัฒนาองค์ความรู้ มีแต่ฉวยจังหวะฝุ่นตลบทำโครงการจัดซื้อเครื่องมือเครื่องไม้เพื่อหาช่องทุจริต

หลังเหตุการณ์สึนามิ เรามี "ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ" แต่ขอบเขตงานก็ไม่ชัดว่าทำได้แค่ไหน มีกฎหมายอะไรรองรับหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือเวลาออกมาเตือนภัยแทบไม่มีใครฟัง ก็แค่ประกาศห้ามเรือเฟอร์รี่ไม่ให้ออกจากฝั่งเพราะคลื่นลมแรงยังทำไม่ได้ ยังมีการฝ่าฝืนจนนักท่องเที่ยวต้องสังเวยชีวิตร่วมครึ่งร้อย ซ้ำร้ายลองเปิดเว็บศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ สังกัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ตัวหนังสือยังยึกยือ เป็นภาษาต่างดาวอยู่เลย

มีคนตั้งถามว่า ขับรถฝ่าไฟแดงยังโดนจับ ห้ามเครื่องบินขึ้น-ลง ยังมีหอบังคับการบิน แต่ห้ามเรือออกจากฝั่งนี่ทำได้จริงไหม และหน่วยงานใดรับผิดชอบ

เช่นเดียวกับการสำรวจถ้ำ ภูเขา แม่น้ำ ทะเล ใครมีหน้าที่ต้องทำ และใครควรเป็นเจ้าภาพ จะหวังพึ่งแต่ "หน่วยซีล" คงไม่ได้ เพราะเขาเป็นนักทำลายใต้น้ำจู่โจม ชื่อก็บอกชัดๆ ว่าไม่ใช่นักกู้ภัยหรือมีหน้าที่ช่วยชีวิตผู้ประสบภัยกันทุกเหตุการณ์