“มือใหม่..เริ่มเป็น Coach!”

“มือใหม่..เริ่มเป็น Coach!”

หลังจากเข้าโครงการ และเรียนรู้วิธีการเป็น Coach ในองค์กรแล้ว เอกชัย ก็มีความกระตือรือร้นอย่างยิ่งที่จะนำสิ่งที่เรียนรู้ ไปเริ่มปฏิบัติ

เพื่อ “ปรับเปลี่ยนตนเองจาก ผู้จัดการ ให้กลายเป็น Coach ในองค์กร!

เช้าวันจันทร์ เอกชัย เริ่มเรียกลูกน้องมาพูดคุย เรียกมา Coaching ตามแนวทางที่ได้เรียนรู้มา..

ลูกน้องบางคน หลังจากได้รับการ Coaching จากเอกชัยแล้ว ก็ดูมีความกระตือรือร้นขึ้นในการทำงาน

ลูกน้องบางคน ยังไม่เห็นปฏิกิริยาเชิงบวกใดๆ ทั้งในระหว่างการ Coaching และหลังการ Coaching แต่ลูกน้องหลายๆ คนของเอกชัย ที่ “ยังไม่ได้รับการ Coaching” และ “ยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการ Coaching” รวมไปถึง ยังไม่รู้เป้าหมายของเอกชัยว่า “กำลังทำอะไร เพื่ออะไร!?” ต่างก็รู้สึกสงสัย ตั้งคำถามในใจบ้าง จับคู่จับกลุ่มพูดคุยกันบ้าง “เจ้านายทำไมเรียกบางคนไปคุย แต่ไม่ได้เรียกเราวะ!?”

ในขณะที่ลูกน้องที่ เอกชัย เรียกไป Coaching เป็นครั้งที่สอง ในรอบ 1 สัปดาห์ ต่างก็ “สงสัยแต่ไม่ถาม!” ได้แต่ขุ่นข้องในใจว่า “ทำไมเจ้านายเรียกแต่เราไปคุยวะ ไม่เห็นเรียกคนอื่นเลย เราทำอะไรผิดหรือเปล่า?”

เรื่องที่ดีของ เอกชัย คือมีความตั้งใจนำสิ่งที่เรียนรู้ไปปฏิบัติ..เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมและสนับสนุน

คำถามคือ.. ทำไมลูกน้องถึงตั้งคำถามกันกับการถูกเรียกไปคุย และบางคนไม่ถูกเรียก?

อะไรคือข้อผิดพลาดของ เอกชัย.. มือใหม่ที่เริ่มเป็น Coach !?

สุรางค์ เข้าโครงการเรียนรู้วิธีการเป็น Coach ในองค์กร รุ่นเดียวกับ เอกชัย และกระตือรือร้นที่จะนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ในทันทีเช่นเดียวกัน

สุรางค์ รู้ว่าตนเองเป็นคน “ปากไว ใจร้อน” ได้พยายามปรับเปลี่ยนตนเอง ในเรื่องการสื่อสาร ตามที่ได้เรียนรู้ในโครงการนี้ว่า ทุกคนที่จะเป็น Coach ก่อนที่จะไปปรับ-เปลี่ยนหรือพัฒนาลูกน้อง ให้ปรับ-เปลี่ยนตนเองในเรื่อง ข้อบกพร่อง ข้อผิดพลาดในการสื่อสารและภาวะผู้นำของตนเองก่อน

สุรางค์ใช้เวลาหลายวันค่อยๆปรับเปลี่ยนตัวเองในเรื่อง ความปากไวใจร้อน ค่อยๆเห็นการเปลี่ยนแปลงของตนเอง มีสติที่จะควบคุมตนเองมากขึ้น

หลังจากนั้น สุรางค์ เริ่มเรียกลูกน้องมา Coaching โดยเน้นในรูปแบบ ไม่เป็นทางการก่อน ก่อนที่จะวางแผนการ Coaching รายบุคคลของแต่ละคนให้เป็นระบบ

ในระหว่างการ Coaching ลูกน้อง ทุกครั้งที่ลูกน้องตอบ หรือพูด สุรางค์มักจะรีบพูดสวน พูดแทรก หรือด่วนสรุปเป็นระยะ จนลูกน้องไม่ค่อยอยากที่จะพูดอะไรอีก!

สุรางค์ เริ่มรู้สึกว่า การเรียกลูกน้องมา Coaching ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีของลูกน้อง..

สุรางค์เริ่มต้นได้ดี ในการพยายามปรับเปลี่ยนตนเองก่อนจะเรียกลูกน้องมา Coaching แต่ทำไมเมื่อเรียกลูกน้องมา Coachingแล้ว กลับยังไม่ได้ผล?

อะไรคือข้อผิดพลาดของ สุรางค์.....มือใหม่ที่เริ่มเป็น Coach !?

ถ้าท่านย้อนกลับไปอ่าน ตั้งแต่บรรทัดแรก ท่านจะพบข้อผิดพลาดที่เหมือนกัน(แต่ส่งผลแตกต่างกันของเอกชัยและสุรางค์) คือ...

1.เอกชัย และ สุรางค์ ไม่ได้ประชุมหรือสื่อสารกับลูกน้องพร้อมๆกันในครั้งแรกว่า.. สิ่งที่เอกชัยและสุรางค์จะทำต่อไปนี้คืออะไร? เช่น ควรบอกกับทุกคนให้ทราบพร้อมๆกันว่า สิ่งที่จะทำต่อไปนี้ คือการแก้ไขไปจนถึงการพัฒนาและต่อยอดความสามารถของลูกน้องเป็นรายบุคคล ที่เรียกว่า Coaching

วิธีการคือการคุยเป็นรายบุคคล ไม่ใช่สาระสำคัญว่าใครก่อนใครหลัง ใครคุยบ่อยหรือไม่บ่อย แต่ผลโดยรวมคือให้ทีมงานทุกคนเดินไปในทิศทางเดียวกัน พัฒนาไปด้วยกัน บรรลุเป้าหมายร่วมกัน เป็นต้น

ถ้าเริ่มต้นแบบนี้ ปัญหาจะไม่เกิดขึ้นกับเอกชัย และจะไม่เกิดขึ้นกับสุรางค์เช่นกัน

2.สุรางค์ พลาดเพราะความเคยชินในเรื่อง ปากไวใจร้อน ที่จะต้องควบคุมตนเองให้มากขึ้น และต้องฝึกทักษะการฟังของตนเองให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้พูดแทรก พูดสวนด่วนสรุปในระหว่างการ Coaching ลูกน้อง

ถ้าเอกชัยและสุรางค์ กลับไปแก้ไขในเรื่องดังกล่าวได้ ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะ Coaching ลูกน้องแต่ละคนแล้วเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในเวลาไม่นาน..

ถึงแม้ Coach มือใหม่ทั้งสองคน จะมีข้อผิดพลาดบ้าง แต่ก็แก้ไขไม่ยาก และพร้อมที่ตะเป็น Coach ที่มีศักยภาพได้ในเวลาอันใกล้..

แต่ผู้ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในตอนนี้ก็คือ..

บรรดาหัวหน้าทุกระดับและผู้จัดการไปจนถึงผู้บริหารระดับสูง ที่มีลูกน้อง แต่ขาดทักษะในเรื่อง Coach

ยังคงต้องเจอปัญหาเกี่ยวกับลูกน้อง ที่ขยันสร้างปัญหาให้ทุกวันจนไม่เป็นอันได้ทำงานบริหาร หรือทำในสิ่งที่เป็นหน้าที่หลักที่ควรทำ เพราะต้องวุ่นวายกับการแก้ปัญหารายวันไปแบบ.. ไม่รู้จบ

ขอแสดงความยินดีกับ Coach มือใหม่ที่จะเป็น Coach ที่มีศักยภาพในเร็วๆนี้

และขอแสดงความ..อาลัยและเสียใจกับคนที่มีลูกน้องแต่ไม่สามารถยกระดับตนเองให้เป็น Coach ครับ!