กฎหมายกับการส่งเสริมสุขภาพ

กฎหมายกับการส่งเสริมสุขภาพ

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมไทยปัจจุบันมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มี แป้ง ไขมัน เกลือ และน้ำตาลสูง

ทั้งยังบริโภคผักผลไม้น้อยลง อันส่งผลให้เกิดปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นภัยอันตรายต่อสุขภาพอันดับต้น ๆ ของคนไทย เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไตวายเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด

เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีของคนไทย จึงได้มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 โดยมีสาระสำคัญส่วนหนึ่งอยู่ที่การจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มตามปริมาณความหวาน เนื่องจากพบว่าผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิดมีการใส่น้ำตาลหรือสารให้ความหวานสูง โดยจะดำเนินการจัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าและตามปริมาณความหวานของเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และจัดเก็บภาษีตามปริมาณความหวานของเครื่องดื่มผงและเครื่องดื่มเข้มข้น ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ประกอบการผลิตเครื่องดื่มที่มีความหวานลดลง เพื่อให้ผู้บริโภคสินค้าเหล่านั้นจะได้รับปริมาณน้ำตาลที่น้อยลงด้วย

หลังจากที่มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว แม้จะยังไม่เห็นผลชัดเจนว่าจะมีผลในการส่งเสริมสุขภาพของคนไทยอย่างไรบ้าง แต่หากสังเกตจากผลประกอบการของธุรกิจบางประเภทที่ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบโดยตรง ก็พอคาดการณ์ได้ว่า คนไทยคงจะมีแหล่งที่จะทำให้บริโภคน้ำตาลน้อยลงไปได้บ้าง อย่างไรก็ดี หากคิดคำนวณราคาต่อหน่วยที่อาจเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเก็บภาษีดังกล่าว จะเห็นว่าไม่ได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่มากเท่าใด จึงอาจไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมผู้บริโภคซึ่งยังสามารถเลือกซื้อสินค้าต่าง ๆ เหล่านั้นได้ ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ต้องกลับไปคิดทบทวนเพิ่มเติมว่าควรทำอย่างไรหากต้องการให้บรรลุจุดประสงค์ที่แท้จริง

นอกเหนือจากรสหวานซึ่งเป็นรสชาติที่ชื่นชอบของคนไทยหลาย ๆ คนแล้ว อีกรสชาติหนึ่งที่คนไทยชื่นชอบเช่นกันคือ รสเค็ม เพราะมีส่วนช่วยให้รสชาติอาหารเข้มข้นและมีความอร่อยมากขึ้น

เกลือ หรือ ในทางวิทยาศาสตร์คือโซเดียมคลอไรด์นั้น มีส่วนประกอบของโซเดียม ซึ่งเป็นสารอาหารประเภทเกลือแร่ที่สำคัญอย่างหนึ่งต่อร่างกาย แต่หากร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณมากเกินไป ก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้เช่นกัน เพราะส่งผลให้ไตถูกทำลายมากขึ้น และเมื่อประสิทธิภาพการทำงานของไตต่ำกว่าปกติ ก็จะส่งผลเสียต่อร่างกายในด้านต่าง ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรุนแรงถึงขั้นไตวาย

บางท่านอาจเคยได้ยินที่คุณหมอเตือนให้ลดหรืองดเค็มอยู่บ้าง จุดประสงค์ก็คือการให้ลดปริมาณโซเดียมที่ร่างกายได้รับนั่นเอง นอกเหนือจากเกลือ น้ำปลา และซอสปรุงรสต่าง ๆ ที่เป็นสิ่งคู่ครัวคนไทยแล้ว เรายังได้รับโซเดียมจากอาหารอื่น ๆ ด้วย เพราะโซเดียมเป็นส่วนประกอบของอาหารต่าง ๆ อยู่แล้ว เช่น ข้าว เนื้อ ปลา ไข่ นม ผักและผลไม้ นอกจากนี้ ดังที่ได้กล่าวในตอนต้นว่า เราบริโภคอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น ไม่ว่าจะจากการรับประทานอาหารนอกบ้าน หรือการซื้ออาหารปรุงสำเร็จมารับประทาน อาหารเหล่านั้นมักปรุงรสชาติให้เข้มข้น เพื่อให้มีรสอร่อยถูกใจลูกค้า แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้เราได้รับปริมาณโซเดียมที่มากเกินไป อีกทั้งการกินติดต่อกันทำให้เราเกิดความเคยชิน และทำให้เราโหยหารสชาติที่เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ดังจะเห็นได้จากการที่หลาย ๆ ท่านเวลาทานอาหารจะทานคู่กับพริกน้ำปลา หรือเพิ่มน้ำปลาหรือซอสปรุงรสลงในอาหารที่รับประทาน ซึ่งยิ่งมีส่วนทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินปริมาณที่เหมาะสม และส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา

ดังนั้น หากเราต้องการที่จะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมสุขภาพของคนไทย ดังที่ได้ออกกฎหมายเพื่อควบคุมปริมาณความหวานแล้ว ก็น่าที่จะต้องหันมามองการใช้กฎหมายเพื่อควบคุมปริมาณความเค็มด้วย โดยอาจเริ่มต้นจากการใช้โมเดลเดียวกับการควบคุมความหวานผ่านการเก็บภาษีสรรพสามิตจากขนมอบกรอบ และเครื่องปรุงรสต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับอาหารควบคุมปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ของตนมากขึ้น

หากคนไทยมีสุขภาพดี ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในด้านสาธารณสุข อีกทั้งยังลดภาระของแพทย์และพยาบาลซึ่งมีคนไข้ล้นมืออีกทางหนึ่งด้วย อย่างไรก็ดี ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า หากมีการเก็บภาษีสรรพสามิตในอาหารเหล่านั้นจริง ก็อาจส่งผลกระทบต่อกิจการของผู้ประกอบการได้ เพราะรสชาติที่อาจเปลี่ยนไป อาจทำให้คนไทยที่ยังไม่ทันปรับตัวเลือกที่จะไม่บริโภคเพราะรสชาติไม่ถูกปาก ซึ่งก็จะเป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษาและทำความเข้าใจกันต่อไป

อนึ่ง นอกเหนือจากการควบคุมเฉพาะเรื่อง ซึ่งในท้ายที่สุดอาจไม่ได้ผลตามที่ได้มุ่งประสงค์ไว้ เราอาจต้องเริ่มมองในภาพรวมให้มากขึ้น โดยอาจเริ่มจากการศึกษากฎหมายเพื่อการส่งเสริมสุขภาพของต่างประเทศ เช่น กฎหมายการส่งเสริมสุขภาพของประเทศญี่ปุ่น (健康増進法 - Health Promotion Act) โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อที่จะวางหลักการพื้นฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนอย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสนใจการดำเนินชีวิตประจำวันเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีมากขึ้น รวมถึงการตระหนักในความสำคัญและมีความพยายามที่จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง การสนับสนุนจากภาครัฐทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่นเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการมีสุขภาพชีวิตที่ดี การสำรวจ รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาปรับปรุงคุณภาพชีวิตคนให้ดีขึ้น ส่งเสริมการสนับสนุนเฉพาะทางในด้านที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการให้ภาคบริการ เช่น ผู้ประกอบการธุรกิจ บริษัทประกันภัย และโรงเรียน มีความพยายามเชิงรุกในการดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีของประชาชน อันรวมไปถึงการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพด้วย โดยการดำเนินการต่าง ๆ ดังกล่าว จะต้องผ่านการทำงานร่วมกันระหว่าง รัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคบริการเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ และองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสุขภาพ แรงงาน และสวัสดิการจะเป็นผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการวางนโยบายพื้นฐานดังกล่าว ซึ่งกฎหมายฉบับนี้อาจถูกใช้เป็นแนวทางในการออกกฎหมายของประเทศไทยต่อไป

โดย... 

ณิชนันท์ คุปตานนท์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์