เม็กซิโกจะเป็นประชานิยมแบบไหน?

เม็กซิโกจะเป็นประชานิยมแบบไหน?

ข่าวเรื่องเยาวชน 13 คนติดอยู่ในถ้ำ ทำให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีของเม็กซิโกเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาไม่เป็นข่าวน่าสนใจในเมืองไทย

 แม้สื่อสำนักใหญ่ๆ จะรายงานกันอย่างต่อเนื่องก็ตาม สื่อเหล่านั้นเพิ่มการวิเคราะห์จากหลากหลายมุมมองเนื่องจากผู้ชนะการเลือกตั้งมาจากพรรคการเมืองใหม่ และพรรคการเมืองซึ่งครองอำนาจมานานพ่ายแพ้แบบหมดรูป นักวิเคราะห์มักเห็นพ้องต้องกันว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจเป็นความไม่พอใจแบบไฟสุมขอนของประชาชนและการเสนอนโยบายแนวประชานิยม ซึ่งเป็นแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกรวมทั้งในสหรัฐและในยุโรป เม็กซิโกจะเดินไปทางไหนหลังจากประธานาธิบดีคนใหม่เข้าดำรงตำแหน่งในตอนปลายปีการวิเคราะห์มีความหลากหลาย

ชาวเม็กซิกันไม่พอใจสภาพความเป็นไปในสังคมซึ่งสะสมมานาน เนื่องจากการพัฒนาไม่เป็นไปตามความคาดหวัง อาชญากรรม ความเหลื่อมล้ำ ความยากจนและความฉ้อฉลล้วนอยู่ในระดับสูงมาก วัดกันด้วยรายได้รายบุคคล ชาวเม็กซิกันมีรายได้สูงกว่าชาวไทยเล็กน้อย ดัชนีวัดความเหลื่อมล้ำบ่งว่าเม็กซิโกมีความเหลื่อมล้ำสูงกว่าไทยอย่างมีนัยสำคัญ รัฐบาลเม็กซิกันคำนวณว่าประชาชนของตนเกิน 40% ตกอยู่ในภาวะยากจน ส่วนของไทยอัตราความยากจนตกอยู่ในระดับ 10% ดัชนี้ชี้วัดความโปร่งใสขององค์กรความโปร่งใสสากล ประจำปี 2560 ให้ไทยได้ 37 จาก 100 นับเป็นลำดับที่ 96 ใน 180 ประเทศ ส่วนเม็กซิโกได้เพียง 29 นับเป็นลำดับที่ 135 ข้อมูลเหล่านี้น่าจะบ่งชี้อย่างดีว่าเพราะอะไรชาวเม็กซิกันจึงไม่พอใจพรรคการเมืองที่ครองอำนาจติดต่อกันมานานและชาวเม็กซิกันจำนวนมากพยายามข้ามเขตแดนไปหางานทำในสหรัฐจนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เสนอให้สร้างกำแพงกั้นการกระทำเช่นนั้นของชาวเม็กซิกัน

คอลัมน์นี้เคยเสนอแล้วว่า ประชานิยมที่ส่งผลให้นายทรัมป์ชนะการเลือกตั้งในสหรัฐสืบเนื่องมาจากความคาดหวังของชาวอเมริกันที่พวกตนต้องมีรายได้เพิ่มขึ้นไปส่งผลให้สามารถบริโภคเพิ่มขึ้นได้แบบไม่หยุดยั้ง แต่พวกเขาเริ่มทำไม่ได้เพราะสถานการณ์โลกได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ นายทรัมป์เสนอว่าเขาจะสามารถทำให้ชาวอเมริกันสมหวังได้ เขาจึงได้รับเลือก เขาจะทำได้มากน้อยแค่ไหนเวลายังน้อยเกินไปที่จะตัดสิน อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลากว่า 2 ปีที่เขาคุมอำนาจ แนวโน้มบ่งชี้ว่าเขาอาจทำได้เป็นส่วนน้อย

การเปลี่ยนขั้วอำนาจจากความไม่พอใจในพรรคที่คุมอำนาจมานานไปสู่รัฐบาลที่จะใช้นโยบายประชานิยมแนวเลวร้ายในเม็กซิโกมีส่วนคล้ายกับการเปลี่ยนขั้วอำนาจในอาร์เจนตินาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 คงเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางแล้วว่า การเปลี่ยนขั้วอำนาจของอาร์เจนตินาครั้งนั้น ส่งผลให้อาร์เจนตินาพัฒนาต่อไปไม่ได้และต้องล้มละลายหลายครั้งทั้งที่เคยรุ่งเรืองไม่ต่างกับฝรั่งเศสและเยอรมนี ในปัจจุบันนี้ อาร์เจนตินามีสภาพเป็นประเทศกำลังพัฒนาทั่ว ๆ ไปที่มีรายได้ในระดับกลางโดยมีรายได้รายบุคคลไม่ต่างกับของไทยมากนัก เม็กซิโกจะเดินไปในแนวอาร์เจนตินาหรือไม่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ในขณะนี้

อย่างไรก็ดี เม็กซิโกต่างกับอาร์เจนตินาในช่วงที่ทั้ง 2 เปลี่ยนขั้วรัฐบาล นั่นคือ อาร์เจนตินาเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ ส่วนเม็กซิโกเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปิโตรเลียมรายสำคัญ น้ำมันเป็น อุจจาระของปีศาจ” ดังที่อดีตรัฐมนตรีผู้ดูแลน้ำมันของเวเนซุเอลากล่าวไว้ ฉะนั้น มันอาจทำลายเม็กซิโกให้ย่อยยับได้หากรัฐบาลนำนโยบายประชานิยมแนวเลวร้ายมาใช้ เพราะย่ามใจว่ามีรายได้จากการขายน้ำมันจำนวนมหาศาล ประเด็นนี้ เม็กซิโกมีตัวอย่างซึ่งอยู่ไม่ห่างจากเขตแดนของตน นั่นคือ เวเนซุเอลา

คอลัมน์นี้พูดถึงเวเนซุเอลาแล้วหลายครั้ง ความย่ามใจเพราะมีน้ำมันมากที่สุดในโลกและความไม่เข้าใจในกระบวนการพัฒนาทำให้เวเนซุเอลาใช้ประชานิยมแบบเข้มข้น ทั้งที่ตนมีความฉ้อฉลทุกรูปแบบ ในปัจจุบัน รัฐบาลยังขายน้ำมันให้ประชาชนในราคาต่ำที่สุดในโลก นั่นคือ ราวลิตรละราว 3 บาท ชาวเวเนซุเอลาขาดแคลนอาหารอย่างแพร่หลายเพราะเลิกทำเกษตรกรรมอย่างจริงจังมานานและรายได้จากการขายน้ำมันไม่พอสำหรับสนับสนุนงบประมาณของรัฐบาลซึ่งรวมทั้งโครงการสวัสดิการจำนวนมากและการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศ

เม็กซิโกจะเลือกเดินทางไหนยังคาดเดาไม่ได้ในขณะนี้ ผู้ที่รู้ประวัติศาสตร์ต่างคงหวังว่ารัฐบาลใหม่จะไม่ดำเนินนโยบายตามแนวของเวซุเอลา