‘สิงโต’ ฟอร์มดุ คืนชีพเศรษฐกิจอังกฤษ

‘สิงโต’ ฟอร์มดุ คืนชีพเศรษฐกิจอังกฤษ

"It's coming home!" หรือแปลตามบริบทได้ว่า “ฟุตบอลกำลังจะได้กลับบ้าน!”

วลีเด็ดที่แฟนบอลทีมอังกฤษคุยโวในโลกโซเชียลเสียงดังขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่นัดที่ “สิงโตคำราม” ถล่มปานามา น้องใหม่ฟุตบอลโลก ไปขาดลอย 6-1 ในรอบแบ่งกลุ่ม

เมื่อเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายก็เอาชนะโคลอมเบียจากดวลจุดโทษไปได้ 4-3 และทะลุถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย รอพบกับสวีเดน คืนนี้ (7 ก.ค.)

กลายเป็นว่าตอนนี้ ชาวอังกฤษทั่วประเทศเริ่มเชื่อกันอย่างจริงจังว่า ปี 2018 จะเป็นปีที่ทัพ “ทรี ไลออนส์” หยุดสถิติชวดถ้วยฟุตบอลโลกนาน 52 ปีติดต่อกันได้เสียที และแฟนบอลหลายคนใช้วลี "It's coming home!" บลัฟทีมอื่น ๆ นัยว่า ถ้วยแชมป์โลกกำลังจะได้กลับบ้านแล้ว!

หลังจากได้แชมป์โลกในปี 1966 ที่ตัวเองเป็นเจ้าภาพ ทีมอังกฤษก็ไม่เคยได้สัมผัสถ้วยแชมป์อีกเลย โดยเข้ารอบลึกที่สุดคือรอบรองชนะเลิศในปี 1990 ที่อิตาลี และหากนับตั้งแต่ปี 2000 ทีมอังกฤษไม่เคยไปได้ไกลกว่ารอบ 8 ทีมสุดท้าย ทั้งในฟุตบอลโลกและฟุตบอล “ยูโร”

แน่นอนว่า การที่อังกฤษซึ่งเป็นต้นกำเนิดกีฬาฟุตบอล ได้แชมป์ฟุตบอลโลกจะเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในการยกระดับมาตรฐานทีมชาติ หยุดการถูกเย้ยหยันนานหลายทศวรรษ และทำให้ประเทศมีความภาคภูมิใจด้านกีฬากับเขาบ้าง หลังไม่ได้ลิ้มรสความรู้สึกนี้มาตั้งแต่เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน 2012

แต่ก็มีอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนหวังว่า ทัพนักเตะพลังหนุ่มภายใต้การคุมทีมของ “แกเร็ธ เซาธ์เกต” จะนำถ้วยแชมป์โลกกลับบ้าน นั่นก็คือ “ผลทางเศรษฐกิจ”

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่สหราชอาณาจักรลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป (อียู) เศรษฐกิจของประเทศก็ประสบปัญหามาโดยตลอด อย่างแรกคือค่าเงินปอนด์ที่ร่วงลงอย่างหนัก ทำให้เงินเฟ้อขยายตัว ในช่วงการเติบโตของค่าแรงซบเซานี้ ส่งผลให้แรงงานในประเทศมีเงินได้หลังหักภาษีลดลงไปด้วย

สถานการณ์เหล่านี้ทำให้ชาวสหราชอาณาจักรที่เต็มใจใช้จ่ายเงินมีจำนวนลดน้อยลง และฉุดทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและยอดขายปลีก และเมื่อยอดขายร่วงก็ทำให้เศรษฐกิจในวงกว้างสะดุดและการเติบโตชะงัก

ข้อมูลเมื่อปลายเดือนที่แล้วชี้ว่า การเติบโตของสหราชอาณาจักรในช่วง 3 เดือนแรกอยู่ที่ 0.2% เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์เบื้องต้นซึ่งอยู่ที่ 0.1% แม้เกิดภาวะชะลอตัวครั้งใหญ่จากเหตุการณ์หิมะตกหนักทั่วประเทศนานหลายสัปดาห์

ถึงกระนั้น สถานการณ์ก็อาจดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีนี้ และฟุตบอลโลกน่าจะมีส่วนไม่มากก็น้อย

แอนดี ฮาลเดน 1 ใน 3 กรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษที่รับผิดชอบเรื่องการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในสหราชอาณาจักร เผยว่า เหตุผลที่เขาลงมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในฟุตบอลโลกด้วย

“ความสำเร็จด้านกีฬาของอังกฤษในสนามฟุตบอล ช่วยเพิ่มปัจจัยที่เป็นความรู้สึกบวกในกลุ่มกองเชียร์ทีมชาติอังกฤษ”

เมื่อทีมสิงโตคำรามโชว์ฟอร์มหรูในฟุตบอลโลก กองเชียร์อังกฤษก็จะมีความสุขมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายซื้อสินค้าไม่จำเป็นมากขึ้นด้วย และเนื่องจากอังกฤษคิดเป็น 85% ของประชากรสหราชอาณาจักร ทำให้แนวโน้มนี้มีผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจ

นอกจากนั้น เมื่อฟุตบอลโลกเริ่มแข่ง ชาวสหราชอาณาจักรก็มีแนวโน้มที่จะจัดปาร์ตี้และทำบาร์บีคิว ใช้เงินซื้อของอุปโภคบริโภคมากกว่าที่เคย และแน่นอนว่า พวกเขามีโอกาสจะไปเที่ยวผับและซื้อเครื่องดื่มมากกว่าเดิม

สหราชอาณาจักรเป็นเศรษฐกิจที่ใช้ผู้บริโภคขับเคลื่อน ดังนั้น เมื่อประชาชนใช้จ่ายมากขึ้น การเติบโตก็จะเร็วขึ้นไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ในทางทฤษฎี ฟุตบอลโลกน่าจะยังคงกระตุ้นเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าทีมอังกฤษจะผ่านเข้ารอบต่อไปได้หรือไม่ แต่มีแนวโน้มว่าจะกระตุ้นการเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงมาก

แต่ที่แน่ ๆ หากสิงโตคำรามสามารถผ่านทัพไวกิ้งส์คืนนี้ไปได้ จะกระตุ้นการเติบโตของประเทศให้กลับมาคึกคักได้อย่างมหาศาล และวลี "It's coming home!" ก็อาจใช้สื่ออีกความหมายได้ว่า "การเติบโตกำลังจะกลับมา" นั่นเอง