จากทีมหมูป่า : ถึงความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยว

จากทีมหมูป่า : ถึงความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยว

ข่าวทีมหมูป่าได้เป็นข่าวดังที่สุดอยู่ในประเทศไทยในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ทุกคนทั้งประเทศต่างเอาใจช่วยให้น้องๆ ทีมหมูป่ากลับบ้านโดยปลอดภัย

 ขอใช้พื้นที่นี้ขอบคุณภาคีที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ที่เสี่ยงชีวิตเข้าไปในถ้ำ แม้ว่าในบัดนี้จะออกมาโดยปลอดภัยทุกคน กรณีนี้ก็ควรนำมาเป็นอุทาหรณ์ในการจัดการความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเที่ยวถ้ำที่จะเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น เมื่ออุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ถ้ำจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวตอนบ่ายที่เหมาะสม ดังนั้นจึงควรมีมาตรการเพิ่มเติมในการดูแล เช่น การมีฤดู มีเส้นทางและเวลาเปิด-ปิดสำหรับการเที่ยวถ้ำ การสังเกตชื่อท้องถิ่นซึ่งจะแสดงลักษณะพิเศษ หรือลักษณะเฉพาะที่ต้องระมัดระวัง เช่น สบ (ที่น้ำมาบรรจบ) ขุนน้ำ โคก (ที่สูง) เป็นต้น โรงเรียนควรให้ความรู้ผ่านวิชาลูกเสือและเนตรนารี เรื่องการเตรียมตัวด้านความปลอดภัยเมื่อมีการเดินทาง เช่น การพกนกหวีดเมื่อไปเที่ยวทะเลหรือเที่ยวถ้ำ เพราะจะทำให้การติดต่อขอความช่วยเหลือง่ายขึ้น การพกอาหารที่ให้พลังงานสูงใช้เนื้อที่น้อย เช่น กล้วยตาก energy bar เมื่อเข้าป่าแทนที่จะพกขนมกรุบกรอบที่มีเกลือสูงทำให้ต้องการดื่มน้ำมาก และก่อนการเปิดถ้ำให้นักท่องเที่ยวเข้าชม ควรมีการศึกษาถึงสภาพของถ้ำ อากาศ อุณหภูมิ ตลอดจนอันตรายจากสัตว์มีพิษ โรค ไม่ใช่พบถ้ำก็รีบเปิดหารายได้จากการท่องเที่ยวทันที

ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากที่เหตุการณ์สงบลง ควรมีการเยียวยาระบบนิเวศน์ของถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนให้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด โดยเฉพาะการเข้าไปเจาะสูบน้ำบาดาล ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อระดับน้ำใต้ดินของบริเวณใกล้เคียง ซึ่งได้อาศัยตาน้ำนี้มาก่อน รวมทั้งการเก็บขยะและสิ่งแปลกปลอมออกมาให้หมด

แต่ความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวมีมิติที่หลากหลายและกว้างไปกว่านี้อีกมาก ในระดับนานาชาติ The World Economic Forum (WEF) ซึ่งจัดทำตัวชี้วัดด้านความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวในปี 2017 (Travel & Tourism Competitiveness Index 2017) มีตัวชี้วัดด้านความปลอดภัยด้วย โดยความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวจะเน้นหนักไปที่ความปลอดภัยจากผู้ก่อการร้าย การเกิดอาชญากรรม และการประทุษร้ายต่อชีวิต ซึ่งชื่อเสียงของประเทศไทยในเรื่องนี้ค่อนข้างจะต่ำอยู่ คืออยู่ในอันดับที่ 118 สำหรับตัวชี้วัดด้านความปลอดภัยโดยรวม (Safety and security) และอยู่ในลำดับที่ 60 สำหรับตัวชี้วัดด้านความเชื่อถือได้ของบริการการตำรวจ (Reliability of police services) นอกจากนี้ยังอยู่ในอันดับที่ 76 สำหรับการอัตราการเกิดการประทุษร้ายต่อชีวิต (Homicide rate)

จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีผลงานด้านความปลอดภัยที่ไม่ดีนักทั้งๆ ที่เป็นประเทศท่องเที่ยวระดับแนวหน้าของโลกและความปลอดภัยเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดที่นักท่องเที่ยวจะต้องพิจารณาเมื่อเลือกเดินทาง

สำหรับระดับจังหวัดของประเทศไทยเราก็มีตัวชี้วัดความสามารถในการแข่งขันระดับจังหวัดซึ่งล้อมาจากกรอบความคิดเดียวกันกรอบของ WEF การศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดทำโดย นายณัฐพล อนันต์ธนสาร และนางสาววรัญญา บุตรบุรี พบว่าจังหวัดท่องเที่ยวของไทยนั้นยิ่งเป็นจังหวัดท่องเที่ยวชั้นนำก็ยิ่งมีความปลอดภัยต่ำ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น ในเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ยิ่งมีนักท่องเที่ยวมากก็มีเงินไหลหมุนเวียนมากก็ย่อมมีมิจฉาชีพมากขึ้นไปด้วย

จากทีมหมูป่า : ถึงความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยว

ตารางที่ 1 แสดงลำดับความปลอดภัยของจังหวัดในประเทศไทยทั้ง 76 จังหวัด ซึ่งดัชนีด้านความปลอดภัยนี้มาจากการวิเคราะห์ตัวแปร 6 ตัวด้วยกัน คือ จำนวนการเกิดอุบัติเหตุทางถนน คดีเกี่ยวกับชีวิต การทำร้ายร่างกาย การกระทำชำเรา การประทุษร้ายต่อทรัพย์ และจำนวนคดีจากยาเสพติด จะเห็นได้ว่าจังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยมนั้น มีคะแนนและลำดับความปลอดภัยอยู่ในลำดับท้ายๆ ของประเทศ

การที่จะดูแลความปลอดภัยได้นั้น เป็นเรื่องของฝีมือการจัดการ ซึ่งก็ต้องเริ่มกันที่ตั้งแต่การวางแผนพัฒนาเลยทีเดียว แต่การพัฒนาการท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้น เป็นการพัฒนาโดยคำนึงถึงความสะดวกให้ได้เงินเร็วแต่ฝ่ายเดียว และมักจะคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของคนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวน้อยที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ถนนเลียบชายหาดก็สร้างจนไปติดหาดหลักสำคัญหลายๆ แห่ง ลูกเล็กเด็กแดงจะไปว่ายน้ำก็ต้องเดินผ่านถนน มิหนำซ้ำยังให้มีการจอดรถบนถนนติดหาดอีกด้วย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วถ้าจะให้เกิดความปลอดภัยควรมีพื้นที่ถอยร่นจากหาดประมาณ 200 เมตร แล้วถึงให้เป็นที่จอดรถและถนน เป็นการป้องกันการกัดเซาะและกันพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนพักผ่อน โดยไม่ต้องกังวลกับยวดยานที่วิ่งกันขวักไขว่

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะให้ความสนใจกับมิติอื่นของการจัดการภาคท่องเที่ยวมากกว่าการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้แต่ฝ่ายเดียว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสนใจไปถึงการพัฒนาทั้งระบบ รวมไปถึงระบบรักษาความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว กรณีหมูป่าเป็นกรณีที่เราไม่ควรให้เกิดขึ้นซ้ำอีก และควรถอดและสรุปบทเรียนการบริหารจัดการไว้ด้วย การเที่ยวถ้ำในอนาคตควรเป็นการเที่ยวถ้ำอย่างปลอดภัย