มีดที่กำลังตกสู่พื้น

มีดที่กำลังตกสู่พื้น

ในยามที่ตลาดหุ้นกำลังร่วงลงมาอย่างแรงนั้น นักลงทุนหลายคนที่มีเงินสดเหลืออยู่มักจะถามว่าได้เวลา “เก็บ” หรือ “รับ” หุ้นหรือยัง

และถ้าจะซื้อควรจะดูหุ้นกลุ่มไหนหรือตัวไหน?

ประเด็นแรกก็คือ เราควรซื้อหุ้นหรือไม่นั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกันแม้ว่าเราจะเป็นนักลงทุนระยะยาวและเน้นซื้อขายหุ้นแบบ VI และไม่ค่อยสนใจภาวะตลาดหุ้นและไม่สนใจจังหวะเวลาเข้าซื้อหรือทำ Market Timing เหตุผลก็เพราะว่าในยามที่ตลาดหุ้นกำลังตกหนักนั้น ตลาดจะมีความไร้เหตุผลหรือ “ไร้ตรรกะ” สูงกว่าปกติ ซึ่งนั่นก็หมายความว่าดัชนีหุ้นอาจจะตกต่ำลงได้อีกมากและต่ำกว่าพื้นฐานที่แท้จริงได้และถ้าเรารีบเข้าไปซื้อ แม้ว่าจะดูแล้วว่ามันเป็นราคาที่คุ้มค่า แต่หุ้นก็อาจจะตกลงไปอีกมาก ผลก็คือ เราต้องซื้อหุ้นแพงและถือหุ้นที่ขาดทุนและการขาดทุนนั้นอาจจะยังดำรงอยู่ไปอีกนานพอสมควรจนบางทีเราทนไม่ไหวขายทิ้งในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงได้

จริงอยู่ที่บ่อยครั้งเมื่อเราเข้าไปช้อนซื้อหุ้นในยามที่ดัชนีและหุ้นบางตัวตกลงมามากแล้วมันก็ “เด้ง” ในเวลาที่รวดเร็วซึ่งทำให้เรามีกำไรและขายหุ้นไปทันที กำไรที่ได้รับมาอย่างรวดเร็วนั้นอาจจะทำให้เรารู้สึกดี เรารู้สึกว่าเรากล้าสวนกระแส “กล้าในยามที่คนอื่นกลัว” และประสบความสำเร็จในการ “ลงทุน” อย่างที่เซียนและวอเร็นบัฟเฟตต์พูดไว้ แต่ในความเป็นจริงก็คือ กำไรที่เราได้รับนั้นมักจะน้อยหรือไม่มากเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่จะต้องรับ ถ้าจะพูดแบบนักเลงคีย์บอร์ดของไทยก็คือ “เก็บเหรียญบาทบนซุปเปอร์ไฮเวย์” ดังนั้น เซียนหุ้นนักลงทุนระยะยาวอย่างปีเตอร์ลินช์จึงมีสุภาษิตว่า “อย่ารับมีดที่กำลังตกสู่พื้น” ซึ่งมีความหมายว่า ในยามที่ตลาดหุ้นกำลังตกลงมาอย่างแรงเป็นแพนิกหรือใกล้ ๆ เป็นแพนิกนั้น บ่อยครั้ง การเข้าไปซื้อก็คล้าย ๆ กับการไป “รับมีด” ซึ่งทำให้เราบาดเจ็บรุนแรงได้ วิธีที่ดีกว่าน่าจะเป็นการรอให้ “มีดตกลงถึงพื้นก่อน” แล้วค่อยเข้าไป “เก็บหุ้น” ได้อย่างปลอดภัยและสบายใจ ซึ่งผมเองก็เชื่ออย่างนั้น “มีดที่ตกลงถึงพื้นแล้ว” ก็คือภาวะที่การตกอย่างแรงเริ่มหยุด ความผันผวนของหุ้นน้อยลง ซึ่งอาจจะมาจากปัจจัยที่ทำให้หุ้นตกลงแรงเริ่มคลายตัวลง เป็นต้น

ผมคิดว่านักลงทุนระยะยาวที่จะได้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดีนั้น ถ้ามีโอกาสก็ควรจะเข้าซื้อหุ้นที่ตกลงมาแรงอย่าง “ไร้ตรรกะ” ราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงอย่าง “เห็นได้ชัด” ซื้อในจำนวนที่มีนัยสำคัญ แล้วก็ถือไว้ยาวนานจนกระทั่งราคาหุ้นขึ้นไปสูงเท่ากับหรือเกินกว่าพื้นฐานและสูงกว่าต้นทุนมากจึงพิจารณาที่จะขาย และนี่ก็คือสิ่งที่วอเร็น บัฟเฟตต์ หรือเซียนหุ้นหลาย ๆ คนทำมาตลอดเมื่อมีโอกาสเกิดขึ้น ผมไม่แน่ใจว่าการตกของหุ้นไทยในครั้งนี้จะก่อให้เกิดโอกาสแบบนั้นหรือไม่ เวลาจะเป็นตัวบอก

ประเด็นต่อมาก็คือ เราควรจะซื้อหุ้นกลุ่มไหนหรือหุ้นตัวไหน? สำหรับเรื่องนี้ผมคิดว่าเราควรจะตัดเรื่องของกลุ่มออกไปเนื่องจากข้อจำกัดของหน้ากระดาษและประโยชน์เองก็ไม่มากนัก เราควรจะเน้นไปที่หุ้นเป็นตัว ๆ จะดีกว่า

สำหรับหลายคนแล้ว ดูเหมือนว่าเขาจะชอบที่จะช้อนซื้อหุ้นที่ “ตกมากที่สุด” ที่เขา “เคยเล่น” บ่อยครั้งเป็นหุ้นที่เคยเป็น “ดารา” ที่ทุกคนกล่าวขวัญถึง เป็นหุ้นตัวเล็กหรือกลางที่ผลประกอบการโดดเด่นและราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นไปสูงลิ่วหลายเท่าในเวลาเพียง 2-3 ปี เขาเคยได้กำไรจากการเล่นหุ้นตัวนั้นมาอาจจะ “หลายรอบ” จริงอยู่แม้ว่าช่วงหลัง ๆ ผลประกอบการจะด้อยลงบ้างแต่ “สตอรี่” หรือเรื่องราวน่าตื่นเต้นของบริษัทก็ยังดำรงอยู่ เขาคิดว่าด้วยราคาหุ้นที่ตกลงมา “หลายสิบเปอร์เซ็นต์” หรืออาจจะถึงครึ่งหนึ่งของราคาสูงสุดนั้น มันตกมากเกินไปและ “ไม่มีเหตุผล” ดังนั้น เขาคิดว่าเขาจะเข้าไปช้อนซื้อหุ้นตัวนั้นและคิดว่าราคาก็จะปรับตัวกลับขึ้นมาเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นหลังจากแพนิก แต่สำหรับผมแล้ว นี่อาจจะเป็นกลยุทธ์ที่ผิดพลาดโดยเฉพาะถ้าหุ้นตัวนั้นยังแพงมาก เช่น มีค่า PE สูง บางทีอาจจะยังสูงถึง 30-40 เท่าขึ้นไปจากที่เคยสูงถึง 70-80 เท่าในยามที่ตลาดหุ้นยังร้อนแรงและคนกำลังคลั่งไคล้หุ้นตัวเล็กที่โตเร็วและมีสตอรี่ เป็นต้น เพราะผมคิดว่า การปรับตัวลงแรงมากของหุ้นนั้น มันมักจะเป็น “จุดจบ” ของ “ยุคสมัย” ที่คน “ไม่แคร์เรื่องของความถูกความแพง” และเป็นการเริ่มต้นของความ “มีเหตุมีผลของราคาหุ้น” หุ้นที่จะมีค่า PE ปกติขนาด 30-40 เท่าได้นั้น อาจจะต้องเป็น “Super Stock” เท่านั้น

อีกกลยุทธ์หนึ่งที่น่าสนใจและเบน เกรแฮม เลือกใช้โดยเฉพาะในยามที่เกิดแพนิกหรือวิกฤติตลาดหุ้นก็คือ การหาหุ้นที่ “ถูกที่สุด” โดยอาจจะต้องมีเงื่อนไขบางอย่างเช่น มันต้องเป็นหุ้นที่ “ไม่ตาย” เป็นต้น การหาหุ้นที่ถูกมาก ๆ นั้นมักจะค่อนข้างง่ายในยามที่ตลาดหุ้นตกหนัก นิยามคำว่าหุ้นถูกเองนั้นก็อาจจะมีได้หลายแบบ แต่วิธีที่ผมคิดว่าดีที่สุดน่าจะเป็นหุ้นที่มีผลประกอบการมั่นคง ฐานะการเงินดี ความเสี่ยงในการล้มละลายน้อย และมีความสามารถจ่ายปันผลได้สูง ผมไม่ชอบหุ้นถูกเนื่องจากบริษัทมีทรัพย์สินมากแต่ผลประกอบการแย่และไม่สามารถจ่ายปันผลได้มากขนาดถึง 4-5% ต่อปีขึ้นไป ผมคิดว่าการ “Unlock” หรือการพยายามปลดปล่อยทรัพย์สินที่ไม่ทำงานออกไปนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก ซึ่งทำให้การซื้อหุ้นเหล่านั้นจะไม่ได้ผลตอบแทนไปนานและไม่คุ้ม สู้ซื้อหุ้นแล้วรอรับปันผลที่งดงามทุกปีจะดีกว่า

ประเด็นเรื่องการซื้อหุ้นว่าเราควรเน้นหุ้นตัวเล็กหรือตัวใหญ่ประเภท “บลูชิพ” ดีนั้น ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถของนักลงทุนมาก แต่โดยทั่วไปแล้ว หุ้นตัวใหญ่น่าจะปลอดภัยและราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นได้ก่อนหุ้นตัวเล็ก เหตุผลก็คือ หลังจากแพนิกหรือเกิดวิกฤติ นักเก็งกำไรจะหายไปมาก กว่าที่พวกเขาจะกลับมาเป็นกอบเป็นกำนั้นก็มักจะหลังจากที่หุ้นตัวใหญ่ปรับตัวขึ้นไปแล้วซึ่งทำให้ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นและดึงดูดนักลงทุนโดยเฉพาะสถาบันต่างประเภทกลับมาซื้อหุ้นจนทำให้หุ้นคึกคักและดึงดูดนักลงทุนรายย่อยกลับเข้ามาซื้อหุ้นใหม่ นอกจากนั้น ด้วยค่า PE ของหุ้นตัวเล็กที่มักจะสูงกว่าหุ้นตัวใหญ่ในภาวะตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันนั้น ผมคิดว่า Valuation ของหุ้นตัวใหญ่ก็น่าจะยังดีกว่าหุ้นตัวเล็กแม้ว่าราคาหุ้นตัวเล็กอาจจะตกมากกว่าหุ้นตัวใหญ่

กลยุทธ์ที่ดีที่สุดนั้นผมเชื่อว่าจะอยู่ที่การซื้อหุ้น Super Stock ที่มีราคาลงไปมากและต่ำกว่าพื้นฐาน ถ้าเราสามารถประเมินได้ การซื้อเก็บไว้ก็มักจะ “การันตี” ว่าจะได้ผลตอบแทนที่งดงาม ผมเองนึกถึงหุ้นอย่างอเมซอนที่ราคาเคยตกลงไปกว่า 90% ในช่วงฟองสบู่ดอทคอมแตกในปี 2000 ถ้าใครวิเคราะห์ได้ว่ามันจะเป็นหุ้นซุปเปอร์สต็อกและซื้อและถือไว้จนถึงวันนี้ก็จะกลายเป็นคนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้มหาศาลจนรวยไปเลยก็ได้ อย่างไรก็ตาม หุ้นที่เป็นซุปเปอร์สต็อกอยู่แล้วก็อาจจะไม่ได้ตกลงมามากพอ ส่วนหุ้นที่ยังไม่เป็นแต่กำลังจะเป็นนั้นบางทีก็ดูยาก ดังนั้น คนที่จะใช้กลยุทธ์นี้จะต้อง “มองขาด” จริง ๆ

ก่อนที่จะจบ ผมก็อยากจะย้ำอีกครั้งว่า สำหรับนักลงทุนระยะยาวแล้ว ความจำเป็นที่จะต้อง “รีบซื้อ” นั้นมีน้อยมาก การที่หุ้นส่วนใหญ่ตกลงมาหนักเองก็ไม่ได้เป็นเงื่อนไขว่าหุ้นนั้นมีราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน การซื้อหุ้นที่จะปลอดภัยนั้น เราจะต้องเผื่อ Margin of Safety สูงพอ ซึ่งนั่นก็หมายความว่าเราสามารถประเมินมูลค่าของกิจการได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงโดยที่ต้องไม่อิงกับภาวะของตลาดและตัวหุ้นที่เป็นอยู่เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ดูเหมือนว่าตลาดและหุ้นบางตัวจะ “ไร้ตรรกะ” พอสมควร การประเมินมูลค่าหุ้นในวันนี้จะต้องคิดว่าเราจะซื้อหุ้นตัวนั้นเพื่อรับปันผล ไม่ขายและไม่สนใจว่าจะมีคนมาซื้อต่อในราคาที่สูงขึ้นหรือไม่ ถ้าดูแล้วเราพอใจ เราก็ซื้อ ถ้ายังไม่พอใจก็ไม่ต้องซื้อ รอจนกว่ามันจะตกลงมาถึงจุดที่เราพอใจ