ธรรม .. ในธรรมชาติ ... ที่ควรรู้ !!

ธรรม .. ในธรรมชาติ ... ที่ควรรู้ !!

เจริญพรสาธุชนผู้ไม่อัตคัดในสติปัญญา เรื่องความอัตคัดแร้นแค้นเป็นคำพูดที่สะท้อนถึงความยากจน

 ที่ให้ความหมายไปตามบริบทของเรื่องราวที่กล่าวถึง เช่น ความอัตคัดในเศรษฐกิจ เป็นภาวะขัดสนแร้นแค้นทางเศรษฐกิจและบุคคล ที่ไม่สามารถจัดสรรหรือกระจายรายได้ให้เป็นไปตามความประสงค์ได้ ความอัตคัดในฐานแห่งสังคม ว่าด้วยเรื่อง การต่ำกว่ามาตรฐานในการดำรงชีวิต ไม่ว่าโภชนาการ สุขภาพอนามัย โดยมีนัยความอัตคัดหรือความยากจนในฐานการครองชีพที่แร้นแค้นลำบากแบบสุดๆ (absolute poverty) และความอัตคัดขัดสนเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นที่เขามีฐานการครองชีพที่ดีกว่า (relative poverty)

ในส่วนความยากจนในทางธรรมของพุทธศาสนาให้ ๒ ความหมาย คือ ความขาดแคลนในปัจจัยสี่ขั้นพื้นฐานของการดำรงชีพตามฐานของมนุษย์และความอัตคัดขัดสนทางสติปัญญา ยากจนในศีลธรรม แร้นแค้นในคุณความดี ไร้ความเมตตากรุณา เป็นต้น

พุทธศาสนาเราชี้ให้เห็นประโยชน์ของปัจจัย ๔ ที่ควรมีเพื่อการดำรงชีวิตให้สามารถทำความดี และรักษาความดีไว้ให้ได้ เพื่อเป็นพื้นฐานรองรับชีวิตในการก้าวไปสู่การศึกษาปฏิบัติธรรมขั้นสูง เพื่อการประพฤติพรหมจรรย์ให้ถึงที่สุดในความบริสุทธิ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง

การสอนให้รู้จักอยู่อย่างสันโดษ พอเพียง เพื่อก้าวไปสู่ความมักน้อยในการดำรงชีวิตที่ต้องเกี่ยวข้องกับวัตถุกามในรูปปัจจัยสี่ จึงเป็นความลุ่มลึก ละเอียด ประณีต ที่จะต้องเข้าใจธรรม .. ในธรรมชาติ ซึ่งรู้ได้ยาก .. เห็นได้ยากในหลักธรรมที่ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง ที่ว่าด้วยเรื่อง สัจธรรมในธรรมชาติ... การจะรู้เข้าใจ ธรรมคือธรรมชาติ ธรรมชาติคือธรรม เป็นเรื่องยากลำบาก อัตคัดขัดสน ในหมู่ชนที่น้อยรายจะเข้าใจ เข้าถึง เพื่อรู้จริง !!

ด้วยจิตใจของมนุษยชาติมุ่งแสวงหาให้ได้มา ตอบสนองความต้องการที่ติดรสชาติเบญจกามคุณกันอย่างหน้ามืดตามัว... จึงไม่แปลกที่ เงินทอง ตราสารการเงินจะมีคุณค่ายิ่งนักต่อชีวิตของสัตว์โลกที่ปรารถนาในเบญจกามคุณ ด้วยวัตถุแห่งกามทุกชนิดถูกตีราคาเป็นเงินเป็นทองไปทั้งหมด ด้วยสมมติของเงินทองเป็นวัตถุพิเศษที่สุดของมนุษย์เรา ที่ประชาคมโลกยอมรับอย่างเป็นเอกภาพ .. สมณศากยบุตรจึงไม่คู่ควรแก่เงินทองด้วยประการฉะนี้ .. พ่อมหาเปรียญทั้งหลาย !!!

หลักพระธรรมวินัยในพระศาสนา จึงมุ่งการสร้างสติปัญญา เสริมสร้างคุณความดี อันประกอบด้วยอำนาจคุณธรรมที่จะทำให้มนุษย์เราสามารถก้าวข้ามความเป็นสัตว์เสพกามที่เร่าร้อนหมกไหม้อยู่ด้วยอำนาจกามคุณ ด้วยการปรุงแต่งให้จิตใจกำหนัดยินดีในวัตถุกาม จนขาดสติปัญญา หน้ามืดตามัว ในการแสวงหาเพื่อตอบสนองความต้องการที่เรียกว่า ตัณหา (กิเลส)

ความเจริญในวัตถุกามจึงเป็นความยุ่งยากทางจิตใจของมนุษยชาติ ที่จะต้องคิดนึกดิ้นรนขวนขวาย เพื่อแสวงหาวัตถุกามมาตอบสนองความต้องการจนเกินความจำเป็นตามฐานะ ก้าวข้ามความสันโดษ

ความพอเพียงไปอย่างไร้เยื่อใย ด้วยจิตใจของสัตว์เราไม่มีขอบเขตปริมาณพื้นที่การรับ... เรียกว่า ไม่เคยเต็มห้องจิตใจ จึงมีภาษิตเปรียบเทียบว่า มหาสมุทรไม่รู้จักอิ่มในน้ำ ไฟไม่รู้จักพอในเชื้อ ฉันใด จิตใจที่กิเลสก็ไม่รู้จักอิ่มในอารมณ์ ฉันนั้น

พุทธศาสนาจึงเกิดมาเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติอย่างแท้จริง เพื่อทำให้สัตว์โลกเรามีความปรารถนาได้พอเหมาะพอควร ตรงตามความเป็นธรรมดาของโลก จึงสั่งสอนให้รู้ธรรม .. ในธรรมชาติ ได้แก่ ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ดังปรากฏในโลกธรรม มีลาภ-เสื่อมลาภ มียศ-เสื่อมยศ มีสุข-มีทุกข์ มีสรรเสริญ-มีนินทา

ความเข้าใจที่ว่า “โลกหรือธรรมชาติจะดำเนินไปอย่างไรก็ตาม ปล่อยให้เป็นเรื่องธรรมดาของโลกหรือธรรมชาติที่ต้องเป็นไปเช่นนั้น หน้าที่ของเรา คือ การเจริญสติปัญญา เพื่อนำชีวิตมาใช้ประโยชน์ให้ถึงที่สุด ด้วยการศึกษาให้เข้าใจความเป็นธรรมดาของชีวิตในธรรมชาติ... นี่คือสัจธรรมเพื่อชีวิตจริงๆ ..

เจริญพร