ฟาร์มแม่นยำกับเกษตรอัจฉริยะ

ฟาร์มแม่นยำกับเกษตรอัจฉริยะ

เมื่อ 20 ปีก่อนมีบางสาขาอุตสาหกรรมเท่านั้นที่เริ่มขยับปรับเปลี่ยน แต่โดยส่วนใหญก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้รับผลกระทบ ปั่นป่วนจากความก้าวหน้าใดๆ

บางสาขาอุตสาหกรรมที่เริ่มส่งสัญญาณครั้งนั้นก็เป็นการขยับปรับเปลี่ยนด้านอุปสงค์เพียงด้านเดียว จากตลาดมวลรวม (mass market)ที่ผลิตภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องมีความแตกต่างหลากหลายมากนัก สู่การแบ่งออกเป็นส่วนตลาดย่อยๆ (segmentation) และเริ่มมีบางส่วนที่เป็นตลาดเฉพาะ (niche market)

 

แต่ด้วยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี เปิดโอกาสให้บริษัทผู้ผลิตสามารถจะใช้ประโยชน์จากการผลิตสินค้าจำนวนมากเพื่อให้ประหยัดจากขนาดการผลิต แต่ก็ยังสามารถสร้างความยืดหยุ่นให้กับผลิตภัณฑ์ที่จะปรับเปลี่ยนให้ตอบสนองต่อลูกค้าเฉพาะกลุ่มได้ง่ายขึ้น Mass Customization การผลิตจำนวนมากจากโรงงาน แต่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบ หรือเพิ่มเติมบางอย่างเข้าไปในภายหลังตามที่ลูกค้าต้องการ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า customer co-creation ร่วมกันผลิตนั่นเอง

 

ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่ยุคหนึ่งซึ่งโรงงานส่วนใหญ่ในบ้านเราจะเน้นการผลิตในปริมาณที่มาก และใช้แรงงานแบบเข้มข้น (labor intensive) เริ่มที่จะปิดตัวลง พร้อมกับคำสั่งซื้อที่ลดลงตามลำดับ แต่ธุรกิจเสื้อผ้าที่ใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปแทนกลับอยู่ได้ และเติบโตได้ดีขึ้นอย่างชัดเจน ดีไซน์เนอร์ของไทยมีผลงานเป็นที่ประจักษ์มากขึ้น สิ่งทอแบบเดิมจึงต่อเติมเสริมแต่งสู่ธุรกิจแฟชั่น นั่นคือไม่ได้เน้นที่ปริมาณอีกต่อไป หากแต่ลูกค้าสามารถเลือกแบบ สีสัน ลวดลาย และแต่งแต้มเติมมันได้ด้วยตัวเอง

 

ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีที่ใส่เข้าไปในสิ่งทอ ก็ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆอีกมากมาย ใครจะไปรู้ว่าเมื่อก่อนนักท่องเที่ยวที่ต้องเดินทางไปในประเทศที่หนาวมากมีหิมะตกจนถึงขั้นติดลบ ต้องนำเสื้อกันหนาวอย่างหนาไปด้วย แค่หนึ่งชุดก็เต็มพื้นที่ในกระเป๋าหนึ่งใบแล้ว แต่ด้วยเทคโนโลยี่ทันสมัยสามารถทำให้เสื้อผ้าบางลง น้ำหนักน้อยลง แต่กันหนาวได้ไม่ต่างจากเสื้อกันหนาวหนาๆ นาโนเทคโนโลยีทำให้โครงสร้างของสิ่งทอและผ้าผืนมีความก้าวหน้าอย่างมาก

 

และไม่เพียงแต่ภาคอุตสาหกรรม แต่ในภาคเกษตรกรรมก็เช่นกัน Smart farm หรือฟาร์มอัจฉริยะ ที่ผนวกเอาระบบสมองกลฝังตัว (embedded system) เข้าไป ทำให้การบริหารจัดการฟาร์มด้านการเพาะปลูก ใช้คนน้อยลงอย่างมาก ในพื้นที่เล็กๆแต่ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติและเซนเซอร์ตรวจจับตามจุดต่างๆในฟาร์ม ทำให้เจ้าของฟาร์มไม่จำเป็นต้องสิ้นเปลืองแรงงานอีกต่อไป ซึ่งสอดรับกับสถานการณ์ที่เริ่มหาคนงานทำเกษตรได้ยาก

 

ภาพที่เห็นในทุกวันนี้ ฟาร์มสมัยใหม่จะเพาะปลูกโดยเน้นที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ ผลผลิตไม่ต้องมากแต่ได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ ปลูกในโรงเรือนที่ควบคุมสภาพแวดล้อมและโรคพืชได้ มีเซนเซอร์ตรวจวัดความชื้นในดิน เมื่อผืนดินแห้งระบบจ่ายน้ำก็จะทำงาน ในขณะเดียวกันถ้าอุณหภูมิสูงเกินค่าที่กำหนดหลังคาโรงเรือนจะค่อยๆเปิด พัดลมระบายอากาศทำงาน หรือความชื้นสัมพัทธ์ต่ำเกินไป ระบบพ่นหมอกด้วยละอองน้ำขนาดเล็กมากก็จะทำงาน เพื่อสร้างความชุ่นชื้นให้กับโรงเรือนอีกครั้ง

 

ที่กล่าวมานั้นถ้าเปรียบกับยุคสมัยของการปฏิวัติอุตสาหกรรมก็คงเทียบได้กับยุค 3.0 คือเป็นเกษตรอัตโนมัติ เกษตรที่ใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการเพาะปลูก บำรุงต้น จนถึงการเก็บเกี่ยว

 

แต่เมื่อผนวกด้วย Internet of Things (IoT) และการวิเคราะห์ข้อมูลการเพาะปลูก (Data Analytics) เข้าไปแล้ว จะทำให้การเพาะปลูกสู่ยุค 4.0 ที่มีความแม่นยำเที่ยงตรงสูงขึ้น นั่นคือการนำข้อมูลการเพาะปลูกที่ดีที่สุดหรือเหมาะสมที่สุดสำหรับพืชแต่ละชนิด เข้าเก็บไว้ในฐานข้อมูลที่มี AI ให้คำแนะนำและช่วยควบคุมสั่งการเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับพืชนั้นๆ ซึ่งปัจจุบันทำได้แล้วในหลายประเทศชั้นนำ โดยเฉพาะการเพาะปลูกในพื้นที่ปิด (in-door farm) โดยใช้แสงอาทิตย์เทียมที่กำหนดค่าความเข้มแสงและความยาวคลื่นแสงที่เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิดในแต่ละช่วงเวลาของการเพาะปลูก สิ่งสำคัญคือปลูกพืชได้ทุกชนิด แต่ไม่ใช่ทุกชนิดที่ควรจะได้รับการปลูกในระบบดังกล่าว

 

เนื่องด้วยต้นทุนที่สูง การเพาะปลูกด้วยระบบฟาร์มอัจฉริยะและการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมด้วยความเที่ยงตรงแม่นยำสูงนี้ จึงเหมาะกับการเพาะปลูกพืชที่ต่างถิ่น มีราคาแพงจากการที่ต้องนำเข้า จึงไม่แปลกถ้าญี่ปุ่นจะปลูกมะม่วงหรือทุเรียนในระบบแบบนี้ ในขณะเดียวกันถ้าไทยจะทำบ้าง ก็คงต้องเป็นพืชเมืองหนาวหรือต่างถิ่นเช่นกัน วันนี้ฟาร์มเมล่อนอาจจะได้รับความนิยมสูงในไทย และมีการทำฟาร์มในโรงเรือนทันสมัยมากขึ้น แต่เชื่อว่าอีกไม่นานพืชผักผลไม้ต่างถิ่นอีกจำนวนมากจะทยอยได้รับความนิยมในการเพาะปลูกเช่นกัน อย่างน้อยเราก็ไม่ต้องแห่ทำตามกันเหมือนเดิม เพื่อไปเจอปัญหาผลผลิตล้นตลาดในอนาคต