โลกอนาคตที่เราต้องมอง

โลกอนาคตที่เราต้องมอง

ดิฉันเป็นคนชอบศึกษา สนุกกับการเรียนรู้ทั้งจากตำรา จากผู้มีประสบการณ์ และจากการค้นคว้าด้วยตนเอง พอศึกษาแล้วก็อยากเล่า

อยากแบ่งปัน จึงเป็นที่มาของการบรรยาย และการเขียน

วันนี้อยากจะเล่าถึงบางส่วนจากการเข้าร่วมสัมมนา Singularity University Thailand Summit 2018 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประเทศไทย

ต้องขอบคุณคุณชานนท์ เรืองกฤตยา และกลุ่ม YPO รวมถึงสปอนเซอร์หลักๆของงาน ทั้งสำนักงาน ดีลอยท์ ซึ่งเป็น Global Partner และสปอนเซอร์อื่นๆอีกประมาณ 10 บริษัท ที่ดึงการสัมมนาดีๆมาจัดในประเทศไทย

Singularity University เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มนักคิด นักบริหาร และนักลงทุน ซึ่งติดตามแนวโน้มทางเทคโนโลยีต่างๆในโลก และต้องการเผยแพร่ความรู้ กระตุ้นให้ผู้บริหารองค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน คิด มอง และเตรียมตัว เพื่อวางแผนให้องค์องค์ของตนเอง ไม่เพียงแต่อยู่รอด แต่จะสามารถเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เขารวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากวงการต่างๆ ทั้งดิจิตอล เทคโนโลยีการเกษตร การแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ อวกาศ วัสดุศาสตร์ การบริหารจัดการ ฯลฯ และนำบุคคลเหล่านั้นมาแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ กับผู้ที่บริหารองค์กร หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังสร้างองค์กรธุรกิจของตนเองขึ้นมา พร้อมทั้งเป็นพี่เลี้ยง ให้คำปรึกษา จับคู่ เชื่อมโยง และร่วมลงทุนกับธุรกิจต่างๆเหล่านี้

แต่เดิมทำเป็นกิจการเพื่อสังคม แต่พอขยายขอบเขตไปมาก จึงกลายเป็นธุรกิจการจัดการการศึกษา สัมมนา และที่ปรึกษาธุรกิจ โดยมีส่วนหนึ่งเป็นกิจการเพื่อสังคม เพื่อพยายามคิดค้นเทคโนโลยีและหาทุนสนับสนุนการคิดค้นเทคโนโลยี ที่จะช่วยให้คนยากจน หรือผู้ด้อยโอกาสในสังคม มีโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยราคาถูกหรือฟรี

ดิฉันเคยเขียนและพูดมาหลายเวทีว่า ทุกครั้งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางเทคโนโลยี จะเกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นอย่างมาก และโลกมักจะเกิดการจลาจล เกิดสงคราม และเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ วิธีเดียวที่จะหลีกเลี่ยงสถานการณ์นั้น คือการแบ่งปันเทคโนโลยี การทำให้คนธรรมดาๆที่ไม่มีเงินทองมากนัก สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆได้ด้วย หรือรัฐจะต้องจัดสรรเทคโนโลยีพื้นฐานให้กับผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้มีแนวคิดทำนองนี้ จึงน่าสนับสนุนค่ะ

เทคโนโลยีที่ต้องจับตาในด้านการสื่อสารคือ การมาถึงของการสื่อสารแบบไร้สายรุ่น 5Gซึ่งมีประสิทธิภาพสูงและเร็วกว่า 4G ถึง 10 เท่า จะทำให้การสื่อสารทั้งภาพและเสียงมีความเร็วเพิ่มขึ้น การเรียนการสอน และการทำงาน ในอนาคตอันใกล้ จะเปลี่ยนไปจากเดิม

เทคโนโลยีที่สองคือ พลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในพลังงานสะอาด ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ราคาแผงโซลาร์ที่ใช้ผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้ลดลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์จะมีราคาถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ จึงเป็นที่น่าจับตาดูอย่างใกล้ชิด และหลายประเทศเริ่มปรับกลยุทธ์สัดส่วนแหล่งพลังงานของประเทศตนเองแล้ว โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นเจ้าของบ่อน้ำมันเอง

เมื่อใดที่เราสามารถกักเก็บพลังงานได้ในราคาที่ถูกลง เมื่อนั้นพลังงานจากแสงอาทิตย์จะเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้น ตอนนี้กำลังรอให้ราคาแบตเตอรี่ ถูกลงเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับราคาแผงโซลาร์ค่ะ

เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการคมนาคมในทางดิ่ง เช่น โดรนขนาดใหญ่ที่ใช้ขนส่งผู้โดยสาร หรือโดรนใช้ส่งของต่างๆให้ถึงมือผู้รับ (ซึ่งปัจจุบันยังมีราคาแพง) และยานที่ขับเคลื่อนด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นในแนวราบ เช่น บนถนน หรือแนวดิ่ง จะทำให้การคมนาคมของโลกในอนาคตเปลี่ยนไป

เทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิติ อาจจะทำให้ความจำเป็นที่จะมีโรงงานผลิตสิ่งของลดลง และการเก็บสต็อคสินค้าลดลง เพราะผู้ใช้ จะสั่งพิมพ์เมื่อมีความต้องการใช้เท่านั้น ไม่ต้องเผื่อเวลาขนส่งจากโรงงานถึงท่าเรือ ถึงคลังสินค้า ถึงร้านค้า และถึงมือผู้บริโภค

พูดถึงการพิมพ์สามมิติ ดิฉันยังรู้สึกกระอักกระอ่วนกับ ที่วิทยากรกล่าวถึง “การพิมพ์อาหาร” ดิฉันมองว่า จะต้องมีคนรุ่นเก่าแบบดิฉันที่อาจจะยอมใช้ของใช้ที่เกิดจากการพิมพ์สามมิติ แต่ไม่น่าจะอยากรับประทานอาหารที่เกิดจากการพิมพ์สามมิติเท่าไรนัก

ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และการเกษตร การเข้าใจยีนส์ที่จะทำให้พืชเน่าเสีย อาจจะสามารถทำให้เกิดการตัดแต่งยีนส์ หรือใส่ตัวกินแบคทีเรียที่จะทำให้พืชเน่าเสียได้ เมื่อไม่มีแบคทีเรีย พืชผักก็จะไม่เน่าเสีย เราอาจจะไม่ต้องมีตู้เย็นเอาไว้ถนอมอาหาร เพราะสามารถมีวัตถุดิบอาหารสดๆ มากมาย

ในทำนองเดียวกัน การเข้าใจยีนส์ และเทคโนโลยีในการตัดต่อยีนส์ ก็จะสามารถทำให้เราสามารถรักษาโรคต่างๆโดยการเข้าไปจัด ปรับแต่งยีนส์เหล่านั้น ไม่ให้กลายพันธุ์ ไม่ให้เกิดการอักเสบ ถือเป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุ นอกจากนี้ การเพาะเลี้ยงอวัยวะ ซึ่งสามารถจะนำมาใช้ทดแทนอวัยวะของคนที่เสียไป ก็จะช่วยให้คนเรามีอายุยืนยาวได้

สมองกล หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) ที่มีพัฒนาการไปอย่างมาก จะช่วยให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การคาดการณ์ การวินิจฉัยปัญหา การหาสาเหตุของความผิดปกติ ทั้งในร่างกายของมนุษย์และในกระบวนการทำงาน หรือการผลิต หรือการอุตสาหกรรม หรือการบริการของโลกในอนาคตได้มากขึ้นเรื่อยๆ

มีข้อดี ก็ต้องมีข้อเสียค่ะ ทุกคนกังวลว่า สมองกลและปัญญาประดิษฐ์ จะมาแย่งงานมนุษย์หรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า สมองกล หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ มาช่วยทำงานที่คนส่วนใหญ่ไม่อยากทำ เช่น งานที่ต้องทำซ้ำๆแบบเดิม งานที่น่าเบื่อ หรืองานที่ต้องใช้การคำนวณซับซ้อน ซึ่งใช้เวลานาน ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และจะมีงานประเภทใหม่ๆ ให้คนทำอยู่ดี (เช่น ให้คำปรึกษาในการปรับตัวเพื่ออยู่รอด)

แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องระมัดระวังคือ ทางด้านสังคม เพราะคนที่มีเทคโนโลยี จะสามารถก้าวประโดดไปข้างหน้า แต่คนที่ไม่มีเทคโนโลยี จะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง จึงต้องมีองค์กร หน่วยงาน ที่รณรงค์และกำหนดกติกาในเรื่องนี้ โดย ปัจจุบัน องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้รณรงค์ให้ผู้พัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เข้าผูกพันและในสัตยาบันว่า ในการพัฒนาเทคโนโลยีนั้น ต้องทำเพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติ ไม่ละเมิดศีลธรรมและหลักจรรยาบรรณ ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติและธนาคารเพื่อการพัฒนาต่างๆ เช่น ธนาคารโลก ได้สนับสนุนเงินทุน และอุดหนุน หรือให้รางวัล แก่โครงการที่นำเทคโนโลยีมาใช้ โดยตั้งอยู่บนหลักการเหล่านี้ และมีเงื่อนไขสำคัญคือ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อเปิดให้ผู้ด้อยโอกาสในสังคม สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ และบังคับให้พัฒนาในลักษณะเทคโนโลยีแบบเปิด และเผยแพร่เป็นการทั่วไปเพื่อให้นักพัฒนาอื่นๆสามารถนำไปต่อยอดได้