กำกับดูแลธุรกิจฟินเทค

กำกับดูแลธุรกิจฟินเทค

งานสัมมนากรรมการประจำปีของสถาบันไอโอดี เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ยน ประสบความสำเร็จด้วยดี มีกรรมการและผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 320 คน

หลายคนที่มาร่วมงานชอบและชมว่าหัวข้อสัมมนาดี ทันสมัย วิทยากรล้วนเป็นผู้มีความรู้ และงานจัดได้ดี ก็ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้การสนับสนุน ทางสถาบันคงสรุปสาระต่างๆที่ได้จากงานสัมมนา เผยแพร่ให้ผู้ที่สนใจทราบต่อไป และประเด็นที่จะเขียนวันนี้ ก็คือ การกำกับดูแลธุรกิจการเงินยุคฟินเทค ซึ่งมีการพูดถึงในงานสัมมนา โดยเฉพาะปาฐกถาของคุณรพี สุจริตกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในหัวข้อ ลอยตัวเหนือแรงขับไล่ธุรกิจ (disruption) โดยการกำกับดูแลที่เอื้อ (facilitating regulation) ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาหลายคนที่มาจากภาคการเงินชมว่า สะท้อนความท้าทายเรื่องการกำกับดูแลธุรกิจการเงินในยุคสมัยปัจจุบันได้ดีที่ภาคการเงินกำลังถูกกระทบอย่างมากจากนวัตกรรมการใช้เทคโนโลยีให้บริการทางการเงิน ที่เป็นแรงขับไล่หรือ disruption สำคัญในภาคการเงินขณะนี้ 

วันนี้เลยอยากเขียนเรื่องนี้โดยเก็บบางประเด็นที่คุณรพีได้ให้ความเห็นไว้ รวมกับความเห็นของผมเองในเรื่องนี้ 

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีได้เปิดพื้นที่ให้มีการพัฒนาธุรกิจการให้บริการทางการเงินสมัยใหม่ (Fintech) ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนโมเดลธุรกิจ เข้ามาแข่งขันกับสถาบันการเงินที่เป็นผู้ให้บริการเดิม ทำให้สถาบันการเงินเริ่มสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับธุรกิจการเงินแบบใหม่ ที่สามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้เหมือนกัน แต่รวดเร็วกว่า สะดวก และเป็นทางเลือกของกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ที่คุ้นกับการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อเป็นธุรกิจการเงินก็ต้องมีการกำกับดูแล คำถามจึงมีว่า เราจะกำกับดูแลธุรกิจการเงินประเภทนี้อย่างไร เพื่อให้สังคมได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและการแข่งขันที่มีมากขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถคุ้มครองผู้บริโภคหรือนักลงทุนได้ และป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจมีต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน 

โดยทั่วไป เป้าหมายของการกำกับดูแลธุรกิจการเงินก็เพื่อสร้างให้ระบบการเงินมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรการเงินของประเทศที่มีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งการกำกับจะให้ความสำคัญในสามเรื่องคือ  1.รักษาความเชื่อมั่นที่มีต่อระบบการเงินของประเทศ ผ่านกลไกการกำกับและตรวจสอบที่เข้มแข็ง  2.รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินโดยลดความเสี่ยงที่ธุรกรรมการเงินอาจเป็นความเสี่ยงต่อระบบการเงิน  3.คุ้มครองผู้บริโภคหรือนักลงทุนผ่านระบบการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ผู้บริโภคและนักลงทุนมีข้อมูลที่ครบถ้วนในการตัดสินใจ ซึ่งในทางปฏิบัติ การกำกับดูแลในสามแนวทางนี้จะมุ่งไปที่การทำหน้าที่ของสถาบันการเงินที่เป็นตัวกลางระหว่างนักลงทุนกับประชาชนผู้ออมเงิน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบการเงิน ลดความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจเกิดขึ้น และมีการเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐานสากลเพื่อคุ้มครองนักลงทุนและผู้บริโภค 

แต่นวัตกรรมการเงินที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีหรือฟินเทค นอกจากจะกระทบการทำธุรกิจของผู้ประกอบการเดิมคือ สถาบันการเงิน แล้ว ยังกระทบการทำหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลด้วย ซึ่งคุณรพีพูดถึงผลกระทบใน 3 รูปแบบ คือ  1.ธุรกิจสมัยใหม่เป็นรูปแบบที่ไม่มีตัวกลาง (intermediaries) เพราะทั้งผู้ออมและนักลงทุนจะติดต่อทำธุรกิจกันโดยตรง ไม่มีสถาบันตัวกลางที่ต้องทำหน้าที่ ทำให้การกำกับดูแลต้องเปลี่ยนจากกำกับดูแลการทำหน้าที่ของสถาบันมาเป็นกำกับดูแลธุรกรรมหรือผลิตภัณฑ์การเงินแทน  2.ธุรกิจการเงินใหม่เป็นธุรกิจที่เปิดกว้างให้ใครทำก็ได้เพราะใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีเป็นโมเดลธุรกิจ ทำให้กฎเกณฑ์เดิมที่เน้นกำกับความเหมาะสมของสถาบันที่ทำหน้าที่ตัวกลางจะไม่สามารถแตะผู้เล่นรายใหม่ได้อย่างชัดเจน เพราะไม่มีตัวตนของสถาบันการเงินเป็นผู้ให้บริการในธุรกิจการเงินใหม่ และ  3.เป็นธุรกิจการเงินที่ไม่มีพรมแดนที่ธุรกรรมสามารถทำที่ไหนก็ได้บนระบบ internet ผ่าน digital technology หมายความว่า ถ้ากฎเกณฑ์กำกับดูแลในพื้นที่หนึ่งเข้มงวดเกินไป นักลงทุนก็จะหาทางออกโดยไปทำธุรกรรมในพื้นที่อื่นแทน ทำให้ความตั้งใจของกฎเกณฑ์ที่จะใช้กำกับดูแลเพื่อคุ้มครองนักลงทุนก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะนักลงทุนเลือกไปทำธุรกรรมดังกล่าวในตลาดอื่นหรือประเทศอื่นแทน 

นี่คือ ประเด็นการกำกับดูแลธุรกิจการเงินสมัยใหม่ที่เป็นความท้าทาย 

คำถามที่ตามมา ก็คือ แล้วเราจะกำกับดูแลธุรกิจการเงินใหม่ๆ เหล่านี้อย่างไร จะออกแบบหรือวางระบบการกำกับดูแลอย่างไร รวมถึงจะบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่ออกมาอย่างไร เพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายของการกำกับดูแล ในเรื่องนี้มี 2 ข้อคิดที่อยากแชร์ 

ในประเด็นแรก ถ้าจะกำกับดูแลให้เกิดผล โดยเฉพาะถ้าต้องมีการออกระเบียบหรือกฎหมายใหม่ ผู้ร่างกฎหมายจำเป็นต้องมีความรู้และเข้าใจธุรกิจการเงินสมัยใหม่เป็นอย่างดี เพื่อลดช่องว่างระหว่างสิ่งที่กฎหมายต้องการจะทำให้เกิดขึ้นกับความเป็นจริงของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดการเงิน ช่องว่างนี้มักสร้างปัญหาการกำกับดูแลในทางปฏิบัติ จนบางครั้ง นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในกฎหมายที่ออกมา บ่อยครั้งที่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินถูกออกแบบให้มีกลไกการกำกับดูแลกันเองหรือใช้บุคคลอิสระภายนอกเป็นทางออกแทน 

ในประเด็นที่สอง ทำอย่างไรให้การบังคับใช้กฎเกณฑ์ต่างๆเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในเรื่องนี้ สิ่งที่นักลงทุนต้องตระหนักก็คือ กฎระเบียบต่างๆคงจะไม่สามารถคุ้มครองนักลงทุนได้ทุกอย่าง ในโลกที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว อีกทั้งพฤติกรรมมนุษย์ก็เป็นเรื่องที่คาดเดายาก ทำให้นักลงทุนควรต้องพึ่งตัวเองมากขึ้นในการปกป้องการลงทุนของตน หมั่นหาความรู้ ศึกษาวิเคราะห์ และมีวินัยในการตัดสินใจ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น 

ในความเห็นของผม ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทำให้การกำกับดูแลธุรกิจการเงินต้องปรับหรือต้องเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ทั้งในการทำหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลในการออกกฎเกณฑ์และการควบคุมตลาดให้เป็นไปตามเกณฑ์ ซึ่งหลักการกำกับดูแลธุรกิจการเงินที่ควรปรับและน่าจะใช้ได้ก็คือ 1.ต้องให้ความสำคัญกับตัวระบบการเงินเป็นหลัก โดยมุ่งดูแลควบคุมความเสี่ยงที่อาจมีต่อระบบ ไม่ใช่แค่สถาบันการเงินหรือธุรกรรม  2.สร้างระบบแรงจูงใจที่จะทำให้กลไกตลาดขับเคลื่อนการทำธุรกิจในทิศทางที่จะช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าว 3.การเอาผิดลงโทษต้องมุ่งไปที่การทำหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เล่นแต่ละคนในระบบการเงินตามบทบาทที่แต่ละคนมี คิดว่าถ้าไปในแนวนี้ การกำกับดูแลน่าจะสามารถตอบโจทย์ได้บ้าง ก็ฝากไว้เป็นข้อคิด