สงครามการค้าภายใต้การเปิดเสรีและโลกาภิวัตน์

สงครามการค้าภายใต้การเปิดเสรีและโลกาภิวัตน์

สถานการณ์สงครามการค้าเริ่มบานปลาย สร้างความวิตกกังวลว่าจะเกิดผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และปริมาณค้าโลก ส่งผลเสียหายต่อประเทศคู่กรณี

ขณะที่ ผลกระทบได้สะท้อนมาที่การปรับตัวลดลงของราคาหุ้นทั่วโลกและตลาดการเงินแล้ว จุดศูนย์กลางของสงครามการค้าอยู่ที่การตั้งกำแพงภาษีตอบโต้กันระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน

ทำไมจึงเกิด มาตรการกีดกันและการปกป้องทางการค้า (Trade Protectionism) ขึ้นหรือสงครามการค้าขึ้น ใน ท่ามกลางที่หลายภูมิภาคทั่วโลกเดินหน้าสู่การรวมกลุ่มและบูรณาการทางเศรษฐกิจผ่านการเปิดเสรี ระบบทุนนิยมโลกก็มีลักษณะเป็นโลกาภิวัตน์ไร้พรมแดนมากขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีกลไกระงับข้อพิพาททางการค้าผ่านองค์การการค้าโลก

การเปิดเสรีควรส่งเสริมให้เศรษฐกิจขยายตัว คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้น ประชาธิปไตยเข้มแข็งและมีคุณภาพดีขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งตลาดเสรีภายใต้การกำกับดูแลที่ไม่เหมาะสมทำให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เกิดอำนาจผูกขาด ยักษ์ใหญ่ทำลายกิจการขนาดเล็ก ผู้อ่อนแอถูกเบียดตกเวทีการค้าจากผู้แข็งแรง สร้างความไม่มั่นคงต่อกิจการอุตสาหกรรมและความมั่นคงในชีวิตของผู้คน ทำให้เกิด อภิทุนนิยม (Supercapitalism) ของเครือข่ายกลุ่มธุรกิจทุนยักษ์ใหญ่ภายใต้โลกาภิวัตน์ และสิ่งนี้บั่นทอน ประชาธิปไตย และ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งให้ “โดนัล ทรัมป์” นักการเมืองประชานิยมแบบขวาจัดก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐ เสนอ America First พร้อมการออกมาตรการกีดกันทางการค้า ตั้งกำแพงภาษีเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในและการจ้างงานในประเทศ

ความจริงแล้ว การปกป้องและกีดกันทางการค้าเกิดขึ้นบ่อยๆท่ามกลางการเปิดเสรี สหรัฐและประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นอียู หรือ ญี่ปุ่น มักมีมาตรการปกป้องตลาดภายในในรูปแบบใหม่ๆเสมอ มาตรการแทรกแซงการค้าต่อตลาดเสรีเช่นนี้จะพัฒนาไปสู่สงครามการค้าหรือไม่ เมื่อตกลงกันไม่ได้แล้วคู่กรณีต่างตอบโต้ทางการค้าต่อกันด้วยมาตรการต่างๆจนส่งผลกระทบต่อระบบการค้าและระบบเศรษฐกิจโดยรวม มาตรการกีดกันทางการค้าจำนวนมากไม่ได้เป็นนโยบายที่ถูกริเริ่มโดยรัฐบาล หากเป็นไปตามข้อเรียกร้องและแรงกดดันของกลุ่มผลประโยชน์ในประเทศ มาตรการเหล่านี้จำนวนหนึ่งมักมีเป้าหมายค่อนข้างเฉพาะเจาะจง อย่างเช่นรัฐบาลโดนัล ทรัมป์ ก็มุ่งเป้าไปที่จีนและกลุ่มประเทศที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯมากๆ และ มุ่งไปที่อุตสาหกรรมที่แข่งขันกับสินค้านำเข้าจากต่างชาติไม่ได้ ผู้ผลิตภายในสูญเสียส่วนแบ่งตลาดอย่างรวดเร็ว เดิมอุตสาหกรรมเหล่านี้มักเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับกลาง อาศัยคนงานทักษะต่ำเป็นแรงงานในการผลิต ส่วนมากอายุมาก เมื่อคนงานเหล่านี้ตกงาน มักไม่สามารถหางานใหม่ในอุตสาหกรรมที่กำลังขยายตัวได้เนื่องจากขาดทักษะใหม่ๆ คนงานเหล่านี้จำนวนมากสูญเสียตำแหน่งงานและอาชีพจากการเข้ามาตีตลาดของสินค้านำเข้า

เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและคนงานที่ได้รับความเสียหายย่อมเรียกร้องกดดันไปที่รัฐบาล หรือ เลือกนักการเมืองที่สัญญาจะมีนโยบายปกป้องพวกเขาได้

สหรัฐกล่าวหาจีนว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเอง คาดว่าสงครามการค้าจะมีความยืดเยื้อเพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมากกว่าปัญหาการขาดดุลการค้าจำนวนมหาศาลของสหรัฐฯต่อจีน โดยปีที่แล้วสหรัฐฯขาดดุลกับจีนสูงถึง 3.7 แสนล้านดอลลาร์ ปัญหาทางการค้าล่าสุดเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่ขัดกัน โดยจีนต้องการก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูงภายใต้ยุทธศาสตร์ Made in China 2025 สหรัฐฯกล่าวหาว่า จีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาส่วนใหญ่ก็จะเป็นสินค้าเทคโนโลยีซึ่งจีนต้องการพัฒนาขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งทางการค้าจะต้องจบลงด้วยการเจรจากันเนื่องจากเศรษฐกิจทั้งสองประเทศจะได้รับความเสียหายทั้งคู่ เศรษฐกิจโลกโดยรวมก็ได้รับผลกระทบ เงินเฟ้อจะสูงขึ้น การว่างงานจะเพิ่มขึ้น แต่กระบวนการการเจรจาอาจใช้เวลามากจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มีความซับซ้อนสูง จีนได้มีการตอบโต้กันอย่างทันทีทันใดโดยใช้มาตรการกีดกันทางการค้าในระดับเดียวกัน มีการปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้า 25% ของมูลค่าสินค้านำเข้า 34,000 ล้านดอลลาร์จากเป้าหมายของมาตรการที่ 50,000 ล้านดอลลาร์  

กรณีสหรัฐฯเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีน มาตรการนี้เป็นผลสืบเนื่องจากข้อพิพาทเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งซอฟต์แวร์ สิทธิบัตร และเทคโนโลยีอื่นๆ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่สร้างความระหองระแหงระหว่างสหรัฐฯ และจีนเรื่อยมา โดยสินค้าที่อยู่ในรายการเก็บภาษีเพิ่มส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศ การบินและอวกาศ เครื่องจักร เครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์การเรียนการสอน

ขณะที่ จีนใช้วิธีตอบโต้ไปที่รายการสินค้าที่มีความอ่อนไหวในการทางการเมืองสูง อย่าง สินค้าเกษตรโดยเฉพาะถั่วเหลือง สินค้ายานยนต์โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสร้างแรงกดดันทางการเมืองไปยังกระบวนการตัดสินใจนโยบายการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ

สหรัฐนั้นได้มีการแก้ไขกฎหมายการค้าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 เพื่อเพิ่มอำนาจให้รัฐบาลในการแทรกแซงหรือตอบโต้ทางการค้าได้เองโดยไม่จำเป็นต้องมีภาคเอกชนร้องเรียน โดยมีการเปลี่ยนแปลงมาตรา 301 ออกเป็น Special 301 และ Super 301 โดยมาตรา Sepecial 301 นั้นมีเป้าหมายเพื่อใช้ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิ่งที่จีนและสหรัฐอเมริกามีข้อพิพาทการค้ากันอยู่เวลานี้ สำนักผู้แทนการค้าของสหรัฐอเมริกา (United States Trade Representatives, USTR) จะเป็นหน่วยงานที่รวบรวมข่าวสารและข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบและวิธีการปฏิบัติทางการค้าของประเทศต่างๆว่ามีลักษณะเข้าข่ายละเมิดกฎหมายมาตรานี้หรือไม่แล้วจัดทำบัญชีรายชื่อประเทศที่พบว่า มีการละเมิดกฎหมาย โดยทำขึ้นเป็น 3 บัญชีตามระดับความรุนแรง คือ ประเทศที่ควรได้รับความสนใจเป็นอันดับแรก (Priority List) ประเทศที่ควรติดตามสังเกตเป็นอันดับแรก (Priority Watch List) ประเทศที่ควรติดตามสังเกต (Watch List) 

ประเทศไทยเองก็เคยถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Priority List มาแล้ว โดยสหรัฐกล่าวหาไทยว่า มีการละเลยในการใช้กฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ และ บกพร่องในการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตร และ เคยโดนตอบโต้ทางการค้ามาแล้ว ขณะที่ มาตรา Super 301 นั้นมีเป้าหมายให้ต่างประเทศเปิดตลาดให้แก่สินค้าส่งออกจากสหรัฐอเมริกาให้มากขึ้น จะใช้มาตรการกดดันให้ต่างประเทศเลิกหรือลดการใช้มาตรการกีดกันต่างๆตามที่ตกลงกันไว้ ภายใต้องค์การการค้าโลกและ GATT และถ้ารัฐบาลของประเทศนั้นไม่ยินยอมปฏิบัติตาม รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาจะใช้มาตรการตอบโต้ เช่น เก็บภาษีขาเข้าเพื่อลงโทษ (Punitive Tariff) ในอัตราสูงมากจนทำให้สินค้าเข้าจากประเทศนั้นขายในสหรัฐอเมริกาไม่ได้ 

ย้อนกลับไปสมัยประธานาธิบดี บิล คลินต้น สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นมหาศาล 2 ใน 3 ของการขาดดุลการค้าเป็นผลจากการนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วน รัฐบาลคลินตันจึงใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้า 100% กับรถยนต์ราคาแพงจากญี่ปุ่น ทำให้ยอดการขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกาลดลง อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นได้นำเรื่องการขึ้นภาษีนำเข้าดังกล่าวร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก นโยบายการค้าสมัยรัฐบาลคลินตันก็ดี สมัยทรัมป์ก็ดี ถือเป็น มาตรการตอบโต้ทางการค้าโดยพลการ (Unilateral Measure) โดยไม่ผ่านกลไกขององค์การการค้าโลก จะทำให้ระบบการค้าเสรีโลกาภิวัตน์สั่นคลอน เพราะเมื่อสหรัฐขยับมาตรการกีดกันทางการค้าประเทศคู่กรณีก็จะเคลื่อนไหวเพื่อตอบโต้บ้าง ในระยะยาวแล้ว จะไม่มีใครได้ประโยชน์จากการค้าแบบนี้ และ คนที่จะได้รับความเสียหายมากที่สุด คือ ประชาชนผู้บริโภคทั่วโลก หากประชาชนในแต่ละประเทศได้รับความยากลำบากทางเศรษฐกิจมากๆก็จะส่งผลทำให้เกิดแรงกดดันทางการเมือง อาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่บานปลายมากไปกว่า สงครามทางการค้า ก็เป็นได้