ข้อความอิเล็กทรอนิกส์ใช้เป็นพยานได้หรือไม่?

ข้อความอิเล็กทรอนิกส์ใช้เป็นพยานได้หรือไม่?

โลกในยุคปัจจุบัน ที่เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตแทบทุกระดับของสังคม ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ต่างใช้ช่องทางเทคโนโลยี

 ในการติดต่อและทำธุรกรรมกันอย่างแพร่หลาย แม้กระทั่งเรื่องของการหยิบยืมเงินทองก็ใช้ช่องทางดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการส่งต่อข้อมูลในโลกออนไลน์ เรื่องการแชทขอกู้ยืมเงินเท่ากับการทำสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งเปิดเผยข้อมูลโดยสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ มากมายว่า ข้อมูลดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด และมีหลักกฎหมายที่เข้ามาใช้พิจารณาได้จริงหรือไม่ โดยบทความนี้ขอนำเสนอข้อมูลต่อผู้อ่านให้สามารถเข้าใจ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา ดังนี้

ข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นเรื่องที่นาย ก. ได้ขอกู้ยืมเงินจากนาย ข. เป็นเงินกว่า 3 แสนบาท โดยมีการขอยืมเงินผ่านช่องทางแชทสนทนาในเฟซบุ๊คส่วนตัว แล้วมีการโอนเงินผ่านธนาคารให้แก่นาย ก. ต่อมานาย ก. จึงนำบัตรกดเงินสดควิกแคชไปถอนเงินและใส่รหัสส่วนตัวทำรายการเบิกถอนเงินและกดยืนยันทำรายการพร้อมรับเงินสดและกดสลิป ภายหลังนาย ก. ปฏิเสธไม่ชำระหนี้โดยอ้างเหตุว่านาย ข. ฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคแรก บัญญัติว่า “การกู้ยืมเงินกว่า 2 พันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” เมื่อนาย ข. ไม่ได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จึงฟ้องคดีไม่ได้

ทั้งนี้ศาลฎีกาได้นำพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาใช้ในการตัดสินในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8089/2556 เมื่อพิจารณาจากเหตุผลในการประกาศใช้ที่มีข้อความตอนหนึ่งว่า “…การทำธุรกรรมในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการในการติดต่อสื่อสารที่อาศัยการพัฒนาการเทคโนโลยีทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีความสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แต่เนื่องจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวมีความแตกต่างจากวิธีการทำธุรกรรมซึ่งมีกฎหมายรองรับอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างมาก อันส่งผลให้ต้องมีการรองรับสถานะทางกฎหมายของข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เสมอกับการทำเป็นหนังสือ หรือหลักฐานเป็นหนังสือ การรับรองวิธีการส่งและรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนการรับฟังพยานหลักฐานที่เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นการส่งเสริมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้น่าเชื่อถือ และมีผลในทางกฎหมายเช่นเดียวกับการทำธุรกรรมโดยวิธีการทั่วไปที่เคยปฏิบัติอยู่เดิม….” การใช้กฎหมายฉบับนี้มาใช้บังคับจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ในการพัฒนาการใช้และการตีความกฎหมายของไทยอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถทำความเข้าใจผ่านประเด็นสำคัญ ดังนี้

ประเด็นแรก “ฟ้องของนาย ข. มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่ การที่นาย ก. สมัครใจขอกู้ยืมเงินจากนาย ข. กว่า 3 แสนบาทในแชทสนทนาและตกลงปฏิบัติตามเงื่อนไขที่นาย ข. กำหนด ถือเป็นการสมัครใจทำธุรกรรมในทางแพ่งและพาณิชย์ที่ดำเนินการโดยใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ซึ่งวางหลักไว้ว่า “ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” ประกอบกับ “ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว” จึงถือว่าโจทก์มีหลักฐานเป็นหนังสือแล้ว

ประเด็นที่สอง “หลักฐานเป็นหนังสือได้ลงลายมือชื่อของนาย ก. หรือไม่ การที่นาย ก. นำบัตรกดเงินสดดังกล่าวไปใช้เบิกถอนเงินสด ซึ่งต้องทำตามขั้นตอนที่ระบุในคู่มือการใช้บริการ ต้องใส่รหัสผ่าน 4 หลัก เลือกรายการถอนเงินจากบัญชีสินเชื่อเงินสด เลือกระยะเวลาการผ่อนชำระ ระบุจำนวนเงินที่ต้องการและรับเงินสดพร้อมสลิปไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งในสลิปจะปรากฏอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินในแต่ละครั้งอยู่ด้วย ถือเป็นอักษร อักขระ ตัวเลข ที่สร้างขึ้นให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งนำมาใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น และเพื่อแสดงว่าบุคคลดังกล่าวยอมรับข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น จึงเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ของนาย ก. และเมื่อนาย ข. แสดงใบคู่มือการใช้บริการ อันเป็นหลักฐานที่รับฟังได้ตามกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว การกระทำของนาย ก. ดังกล่าวจึงถือเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินจากนาย ข. ประกอบทั้งนาย ก. มีการขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้สินเชื่อเงินสดควิกแคชที่ค้างชำระ นาย ข. จึงมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อนาย ก. ฝ่ายผู้ต้องรับผิดมาแสดง จึงรับฟังเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้ นาย ข. จึงมีอำนาจฟ้องนาย ก. ได้ตามกฎหมาย ซึ่งบรรทัดฐานของคดีดังกล่าวเป็นที่มาของคำพิพากษาที่ 6757/2560 ในเวลาต่อมา โดยเป็นเรื่องที่เจ้าหนี้ประชดลูกหนี้โดยการปลดหนี้ให้ในแชทสนทนา ศาลก็นำกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มาตีความว่าเป็นการปลดหนี้โดยได้ทำเป็นหนังสือ จึงมีผลเป็นการปลดหนี้ที่สมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว

จากที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่าการตีความข้อความในแชทสนทนาในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ถือเป็นตัวอย่างบรรทัดฐานที่ดี เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเป็นการชี้แนะแก่ตัวลูกหนี้ด้วยว่า เมื่อบุคคลใดเป็นลูกหนี้ของบุคคลอื่น ก็ย่อมมีหน้าที่จะต้องดำเนินการชำระหนี้ให้ถูกต้อง ไม่ใช่หาช่องทางหลีกเลี่ยงจนก่อให้เกิดความเดือนร้อนแก่ฝ่ายผู้อื่น

โดย... 

ผศ.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์