คาดการการเมืองบางประเด็น: ก่อนและหลังเลือกตั้ง

คาดการการเมืองบางประเด็น: ก่อนและหลังเลือกตั้ง

ล่าสุด กฎหมายลูกที่จำเป็นสำหรับการเลือกตั้งผ่านหมด รอโปรดเกล้าฯ ซึ่งสามารถมีระยะเวลา 90 วัน ถ้าใช้เวลาเต็มที 90 วันก็คือ เดือน ก.ย.

 และหลังจากนั้น ก็นับไป 240 วันจะต้องมีเลือกตั้ง นั่นคือ เดือน พ.ค.2562  แต่ก็มิได้หมายความว่าจะต้องล่าช้าถึงเดือนพ.ค.2562 เพราะกำหนดไว้ว่าภายใน 240 วัน 

ขณะเดียวกัน ถ้าโปรดเกล้าฯก่อน 90 วัน กำหนดการก็จะร่นลงมาเร็วขึ้น เอาเป็นว่าระหว่าง ก.พ.2562 - พ.ค. 2562 สามารถมีการเลือกตั้งได้ ขณะเดียวกัน ณ ขณะนี้ เป็นที่ทราบแล้วว่า หากมีการโปรดเกล้าฯลงมาแล้ว จะไม่สามารถเลื่อนการเลือกตั้งด้วยเหตุผลทางกฎหมายได้อีก แต่กระนั้น มันก็ยังมีเหตุผลอื่นๆ ที่จะทำให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้ ดังนี้คือ 1. ปัจจัยที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ อย่างที่ท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ชอบพูดถึงภัยธรรมชาติหรือสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ (unknown factors) และ 2. พิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวไว้แล้วว่า จะมีพิธีบรมราชาภิเษกก่อนการเลือกตั้ง 

 คำว่า “ก่อน” นี้ มีผู้สงสัยว่า จะมีภายในปีนี้หรือปีหน้า แต่ไม่ว่าจะปีนี้หรือปีหน้า ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องขยับการเลือกตั้งออกไป เพราะในช่วงเตรียมงานและระหว่างงาน ควรที่จะพักกิจกรรมที่เกี่ยวกับการหาเสียงและกิจกรรมทางการเมือง แต่จะเป็นช่วงเวลาไหนนั้น แม้ว่า คสช. และรัฐบาลจะไม่ใช่ผู้กำหนดว่าจะต้องมีพิธีเมื่อไร แต่ คสช. และรัฐบาล จะต้องทำให้สถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในความสงบเรียบร้อยและให้มีบรรยากาศแห่งความร่วมมือร่วมใจของผู้คนในชาติ เพื่อพร้อมสำหรับพระราชพิธีที่เป็นพระราชพิธีแห่งประวัติศาสตร์และรัชสมัย และหากจะต้องมีการขยับการเลือกตั้งไปบ้าง ก็เข้าใจว่าพี่น้องประชาชนชาวไทยก็ย่อมเข้าใจถึงความสำคัญของโอกาสอันยิ่งใหญ่นี้ 

 แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาปัจจัยในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คสช. และ รัฐบาล ควรเปิดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพร้อมกับการหารือกับพรรคการเมืองต่างๆ กำหนดวันเลือกตั้งออกมาให้ชัดเจนแน่นอน เพื่อให้การเข้าร่วมในพระราชพิธีสำคัญที่สุดในรัชสมัยสมบูรณ์ครบถ้วน เพราะอย่างที่ทราบว่า รัฐบาลหลายประเทศต้องการเห็นประเทศไทยเข้าสู่เส้นทางประชาธิปไตย 

 เคยมีผู้ถามผู้เขียนว่า สถานการณ์ทางการเมืองหลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ? จะวุ่นวายไหม ? ผู้เขียนตอบไปดังนี้ สถานการณ์จะวุ่นวายหรือไม่นั้น ? 1. ขึ้นอยู่กับช่วงระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งและความบริสุทธิ์ยุติธรรมในการเลือกตั้ง การลงคะแนน การนับคะแนน 2. ฝ่ายที่เป็นพลังทางการเมืองสำคัญต่างๆ ยอมรับผลเลือกตั้ง 3. คสช. ไม่แทรกแซงกระบวนการทางการเมืองในช่วงแรกที่ ส.ส. ในสภาฯจะเป็นผู้เสนอชื่อและลงคะแนนให้ “นายกรัฐมนตรีคนใน” 4. หากไม่ได้ “นายกรัฐมนตรีคนใน” เมื่อเริ่มกระบวนการการหาเสียง ส.ส. ให้ครบ 250 ขึ้นไปเพื่อปลดล็อก จะต้องเป็นไปโดยธรรมชาติ ซึ่งปัญหาในช่วงนี้คือ ความต้องการคนนอกของ ส.ส. 250 คนจะตรงกับ ความต้องการคนนอกของ ส.ว. 250 คนได้อย่างไร ใครจะเป็นผู้ประสาน พล.อ.ประยุทธ์อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกนายกฯคนนอกเพียงคนเดียว เพราะเท่าที่ทราบ คุณชวน หลีกภัยก็น่าจะเป็นตัวเลือกในรอบนี้ด้วย 5. หากปลดล็อกไม่ได้ หรือปลดได้ แต่ไม่ได้นายกรัฐมนตรีคนนอก เพราะเสียงแตกในตอนลงคะแนนร่วม 2 สภา ก็เข้าสู่ทางตัน ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตรงนี้คือ ถ้าจะใช้วิธีการยุบสภา ส.ส. จะยอมให้ยุบสภาหรือไม่ ? อาจจะเรียกร้องให้เสนอชื่อ ผู้ที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด แต่ไม่ได้เกิน 376 ซึ่งในส่วนนี้จะค่อนข้างอ่อนไหว 

 ความขัดแย้งที่อาจจะนำไปสู่การบานปลายขยายผล สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอน ภายใต้เงื่อนไขที่ พลังมวลชนมีเป้าหมายและความคาดหวังเกี่ยวกับผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีที่แตกต่างกันอย่างมาก ฉะนั้น เพื่อทำให้กระบวนการการเลือกตั้งบริสุทธิ์และยุติธรรมสำหรับนักการเมืองทุกคนทุกฝ่าย หากเดือน ก.ย.ที่จะถึงนี้ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจจะลงการเมืองโดยให้ชื่อไปกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเพื่อจะแข่งขันเป็นนายกรัฐมนตรี “คนใน” มั่นใจว่า ท่านจะลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อมิให้มีการครหาว่าใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ในการหาเสียง เพราะถ้าในช่วงหาเสียง มีการได้เปรียบเสียเปรียบจากการใช้อำนาจหน้าที่ รับรองได้เลยว่า ความขัดแย้งปะทุแน่นอน และก็มีความชอบธรรมที่จะปะทุด้วย ต่อให้ประชาชนที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ก็เอาไม่อยู่  

ถ้าเป็นไปตามที่คาดการณ์นี้ นั่นคือ หาก พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจจะให้ชื่อกับพรรคการเมือง และพล.อ.ประยุทธ์ ลงจากตำแหน่ง เราก็จะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งควรที่จะเป็น “คนกลาง ที่ทุกฝ่ายยอมรับและไว้วางใจว่าจะดูแลให้พระราชพิธีและการเลือกตั้งดำเนินลุล่วงไปได้ด้วยดี ซึ่งผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีนี้จะเข้าข่ายเป็นรัฐบาลเฉพาะกาลเฉพาะกิจ ที่ไม่ได้มุ่งเน้นบริหารประเทศเพื่อหาเสียงและสืบทอดอำนาจอย่างใด และผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาลนี้ คือผู้ที่ไม่มีภาพลักษณ์ยุ่งเกี่ยวฝักฝ่ายทางการเมืองมาก่อน และก็จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับฝักฝ่ายทางการเมืองในอนาคตด้วย 

ถ้าเปรียบเทียบกับกรณีการเมืองของอิตาลีที่เกิดวิกฤต เพราะหลังเลือกตั้ง ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ประธานาธิบดีผู้เป็นประมุขของประเทศจึงเสนอบุคคลที่จะมาทำหน้าที่เฉพาะกาลเพื่อให้การบริหารประเทศเดินหน้าได้และให้มีการเลือกตั้งใหม่ขึ้น เพื่อว่า ตัวเลขของ ส.ส. ของแต่ละพรรคการเมืองในสภาจะเปลี่ยนแปลง และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างปรกติ 

ในกรณีของไทยเรา อาจจำเป็นที่จะต้องมี นายกฯคนกลางก่อนการเลือกตั้ง เพื่อมาทำหน้าที่เฉพาะกาลเพื่อให้การบริหารประเทศเดินหน้าได้และให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้อย่างเรียบร้อยและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย รวมทั้งทำหน้าที่เป็นจนกระทั่งมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ และหากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งได้ อย่างน้อย นายกรัฐมนตรีคนกลางนี้ก็จะยังเป็นที่ยอมรับได้มากกว่าพล.อ.ประยุทธ์ ที่ประกาศตัวเองว่า เคยเป็นทหาร และตอนนี้เป็นนักการเมือง