โลกและไทยภายใต้กับดักเศรษฐกิจ(1)

โลกและไทยภายใต้กับดักเศรษฐกิจ(1)

แม้ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจทั้งของโลกและไทยจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายฝ่ายเริ่มเห็นพ้องต้องกันว่า เศรษฐกิจโลกและไทยในระยะต่อไป

จะเผชิญกับ 3 ปัจจัยลบหลัก ที่จะทำให้การขยายตัวชะลอลงและเสี่ยงต่อภาวะตกต่ำรุนแรง (Hard landing)ปัจจัยลบทั้ง 3 ได้แก่

ปัจจัยลบที่ ภาวะสงครามการค้า ซึ่งรุนแรงขึ้นเกินกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้ จาก 2 พัฒนาการหลัก พัฒนาการแรกได้แก่การที่รัฐบาลสหรัฐประกาศจะขึ้นภาษี 25% ในสินค้านำเข้าจากจีน มูลค่ารวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยบางส่วนจะเริ่มในวันที่ 6 ก.ค.นี้ ซึ่งหลังจากที่สหรัฐประกาศ รัฐบาลจีนก็ประกาศตอบโต้โดยจะเก็บภาษี 25% ในสินค้าจำนวนรวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์เช่นกัน ซึ่งเมื่อรัฐบาลจีนประกาศตอบโต้ ประธานาธิบดีทรัมป์ก็เกทับด้วยการว่าจะเก็บภาษีนำเข้าจากจีน 10% ในสินค้าอีก 2 แสนล้านดอลลาร์ และพร้อมจะเก็บอีก 2 แสนล้านดอลลาร์ หากจีนตอบโต้อีก นอกจากนั้น ทรัมป์ยังให้กระทรวงการคลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะจำกัดการลงทุนของเอกชนจีนในสหรัฐเพิ่มเติม โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี โดยใช้ข้ออ้างด้านความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของสหรัฐเอง

ส่วนพัฒนาการที่ คือการที่รัฐบาลสหรัฐประกาศว่าจะศึกษาความเป็นไปได้ที่จะเก็บภาษีรถยนต์นำเข้าจากคู่ค้าด้วยอัตรา 25% โดยใช้มาตรา 232 ของกฎหมายการค้าปี 1962 ซึ่งเป็นประเด็นด้านความมั่นคงเช่นเดียวกับที่รัฐบาลทรัมป์เก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม

ผู้เขียนมองว่า พัฒนาการทั้ง 2 นี้บ่งชี้ว่าสงครามการค้าน่าจะรุนแรงขึ้น และกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกในช่วงต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังร้อนแรง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการลดภาษี จะเป็นกระสุนให้ทรัมป์ยังคงผลักดันมาตรการต่างๆ ที่จะนำไปสู่สงครามการค้าได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ผลโพลล์ของทรัมป์ระยะหลังที่ปรับตัวดีขึ้น อันเป็นผลจากที่แนวความคิดของอเมริกันชนส่วนใหญ่เริ่มมีมุมมองว่า สหรัฐถูกคู่ค้าโดยเฉพาะจีนเอาเปรียบด้านเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้ทรัมป์ยืนกรานที่จะใช้มาตรการด้านการค้าที่รุนแรงมากขึ้น

ในส่วนของประเทศอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบต่อมาตรการการค้าสหรัฐ โดยเฉพาะจีนที่ตกเป็นเป้าหลักนั้น ไม่มีทางเลือกนอกจากจะตอบโต้ด้วยความรุนแรงเท่าเทียมกัน แม้ว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจของตนก็ตาม เช่น จีนประกาศจะตอบโต้สหรัฐด้วยการขึ้นภาษีสินค้าเกษตรและเชื้อเพลิงนำเข้าจากสหรัฐ แม้ว่าจะทำให้ต้นทุนการผลิตรวมถึงเงินเฟ้อในประเทศปรับสูงขึ้นก็ตาม

นอกจากนั้น กระบวนการห่วงโซ่การผลิตโลกในปัจจุบันที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น ทำให้ผลลบต่อภาคการผลิตที่กระจายไปยังหลายประเทศและหลายอุตสาหกรรม เช่น การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากจีนจะกระทบต่อประเทศอื่นๆ ที่ผลิตชิ้นส่วนให้กับผู้ประกอบการจีน หรือการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ก็จะกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ รวมถึงผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตรถยนต์

ปัจจัยลบที่ การชะลอลงของเศรษฐกิจจีน โดยเป็นที่ทราบกันดีว่า กว่า 1 ใน 3 ของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นผลมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน ดังนั้น ถ้าเศรษฐกิจจีนประสบปัญหา เช่น เผชิญภาวะชะลอตัวรุนแรง (Hard Landing) เศรษฐกิจโลกก็ต้องชะลอตัวลงด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ภาพเศรษฐกิจจีนในปัจจุบันเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวมากขึ้นแล้ว เห็นได้จาก 1.ตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือน เช่น ยอดค้าปลีก การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวแรงขึ้น 2.ความเสี่ยงภาคการเงินที่มากขึ้น ทั้งต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชนที่สูงขึ้น การผิดนัดชำระหนี้ที่มากขึ้น และเงินหยวนที่เริ่มอ่อนค่ารุนแรงขึ้นในระยะหลัง และ 3.มาตรการที่อัดฉีดจากทางการ ทั้งการปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ถึง 2 ครั้งในปีนี้ และการที่ทางการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทำการแปลงหนี้สินให้เป็นทุน (Debt-to-equity swaps) ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจภายในอาจชะลอรุนแรงขึ้นกว่าตัวเลขที่ทางการประกาศ ทำให้ทางการจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ปัจจัยลบสุดท้ายได้แก่ความเสี่ยงด้านการตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เปราะบาง อันได้แก่ 1.ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดพร้อมๆ กับขาดดุลการคลัง 2.มีเงินเฟ้อสูง 3.มีหนี้ที่สูง ทั้งหนี้ภาคเอกชนและหนี้สาธารณะ และ 4.มีความเสี่ยงทางการเมือง ทำให้ประเทศเหล่านี้อ่อนไหวต่อการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางชั้นนำ โดยจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม มิฉะนั้นกระแสเงินทุนจะไหลออก ทำให้ค่าเงินจะอ่อนค่าและเงินเฟ้อสูงขึ้น

แต่ที่น่าสังเกตคือ ภาพล่าสุดนั้นเริ่มเห็นการอ่อนค่าของสกุลเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งแล้ว โดยเฉพาะประเทศที่บัญชีเดินสะพัดเกินดุล ทั้งมาเลเซีย จีน และแม้แต่เงินบาทของไทยเอง ซึ่งนั่นอาจบ่งชี้ว่านักลงทุนเริ่มมีมุมมองว่าประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งหมดมีความเสี่ยง แม้ว่าบริบทของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันก็ตาม

นอกจากนั้นหากเศรษฐกิจสหรัฐยังคงร้อนแรง และทำให้ธนาคารกลาง (Fed) ขึ้นดอกเบี้ยและลดทอนงบดุลอย่างต่อเนื่อง ก็จะเป็นแรงกดดันทำให้เงินทุนไหลออกต่อ และกดดันทำให้เงินสกุลท้องถิ่นอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง

3 กับดักเศรษฐกิจเหล่านี้จะกดดันเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัวกว่าที่หลายฝ่ายเคยคาดไว้ แต่จะส่งผลกับเศรษฐกิจไทยอย่างไรนั้น ติดตามได้ในฉบับหน้า

*บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่