โทษประหารชีวิตกับสังคมไทย

โทษประหารชีวิตกับสังคมไทย

อาชญากรรมในปัจจุบันมีแนวโน้มของความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น ตามความเจริญของเทคโนโลยีและความทันสมัยของการสื่อสารแขนงต่างๆ

สิ่งที่ยืนยันได้คือ สถิติคดีอาชญากรรมที่เพิ่มในแต่ละปี ข่าวอาชญากรรมตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือจากสื่อต่างๆ หน่วยงานทางด้านกระบวนการยุติธรรมที่ตั้งขึ้นมาใหม่ หรือมีการปรับปรุงระบบการทํางานแบบใหม่ เพื่อรองรับปัญหาอาชญากรรมและจํานวนนักโทษที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีจนเรียกได้ว่าล้นคุก ขอบเขตและปริมาณความร้ายแรงของอาชญากรรมเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของบุคคลโดยทั่วไป เพราะมันเป็นตัวบ่งชี้ถึงความร้ายแรงของอาชญากรรม ที่สามารถนําไปเปรียบเทียบกับจํานวนอาชญากรรมในอดีต หรือคาดคะเนปัญหาอาชญากรรมในอนาคต และประเมินว่ามาตรการที่ใช้ในการป้องกันนั้นได้ผลในการลดปริมาณอาชญากรรมหรือไม่

โดยเฉพาะการกระทําความผิดทางอาญา มีกระบวนการที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง และมีปัจจัยหลายประการเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งยังไม่มีทฤษฎีใดอธิบายได้อย่างสมบูรณ์ในความเป็นไปของการกระทําความผิดของแต่ละคดี ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงขั้นได้รับโทษประหารชีวิต เพื่อจะได้นํามาวิเคราะห์หาข้อสรุปที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น

จุดมุ่งหมายของการลงโทษประหารชีวิต เพื่อเป็นการแก้แค้นทดแทนกับความผิดที่ได้กระทำขึ้น (Retributive) เพื่อเป็นการข่มขู่ยับยั้งมิให้ผู้ใดกระทำความผิดอีก (Deterrence) และเพื่อเป็นการตัดโอกาสในการกระทำความผิดซ้ำขึ้นอีก (Incapacitation)

ในทางตรงข้าม สิทธิในการมีชีวิตมนุษย์เป็นสิทธิเด็ดขาด เพราะว่ามนุษย์มีความคิด จิตวิญญาณ และความมหัศจรรย์ อันก่อให้เกิดข้อถกเถียงและการอภิปรายมากมายถึงการดำรงอยู่ของสิทธิในการมีชีวิตในกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายบ้านเมือง ซึ่งก็ยังไม่สามารถนิยามลักษณะหรือธรรมชาติของสิทธิในการมีชีวิตได้อย่างชัดเจน โดยแม้ศีลธรรมซึ่งเป็นนามธรรมอาจไม่ได้รับการยอมรับในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่สิทธิขั้นพื้นฐานอื่นใดก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้หากปราศจากความเคารพในสิทธิการมีชีวิต การใช้การลงโทษประหารชีวิตย่อมปฏิเสธคุณค่าทั้งหมดนี้ เพราะสังคมของมนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาบนฐานความสำนึกในคุณค่าของชีวิต ดังนั้น พื้นฐานของการก่อเกิดของรัฐก็อยู่บนสิทธิขั้นพื้นฐานมนุษย์ และกฎหมายก็ถูกบัญญัติและรับรองขึ้นเพื่อตอบสนองการคงอยู่ของความเป็นมนุษย์ด้วยเช่นกัน

ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องพิจารณาถึงการดำรงอยู่ของการลงโทษประหารชีวิตอย่างจริงจัง อันจะนำไปสู่การประชาพิจารณ์ถึงการดำรงอยู่ของการลงโทษประหารชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ และทั้งยังต้องพิจารณาต่อไปว่า เมื่อกระบวนการยกเลิกการลงโทษประหารชีวิตสำเร็จแล้ว กระบวนการยุติธรรมไทยจะต้องตระเตรียมการอย่างใดเพื่อรองรับการยกเลิกการลงโทษประหารชีวิตบ้าง ซึ่งหากกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้องและรวดเร็ว ก็จะน่าเป็นสิ่งที่ตอบสนองให้กับประชาชนได้ดีกว่าลงโทษที่รุนแรง ดังเช่นโทษประหารชีวิต ดังนั้นจึงควรที่จะต้องปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนเกิดการยอมรับ การลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแทนการลงโทษประหารชีวิต

และรัฐควรปรับโครงสร้างทางสังคม การศึกษา และสถานภาพทางเศรษฐกิจ ให้ประชาชนในสังคมได้มีความเสมอภาคและเท่าเทียม รวมทั้งมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อป้องกันการเกิดอาชญากรรม เนื่องจากโครงการสร้างดังกล่าวเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอาชญากรรม ดังนั้น หากป้องกันอาชญากรรมได้ โทษประหารชีวิตก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

กระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐในการบังคับโทษทางอาญา ควรเสนอทางเลือกอื่นนอกเหนือจากโทษประหารชีวิตที่มีผลในการตัดผู้กระทำความผิดออกไปจากสังคม เช่น โทษจำคุกตลอดชีวิตเด็ดขาดสถานเดียว โดยไม่ยอมให้มีการอภัยโทษ หรือพักการลงโทษ อาจตอบสนองกระแสความต้องการของคนในสังคมให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงโทษดังกล่าว โดยรัฐควรจัดสรรงบประมาณให้แก่กรมราชทัณฑ์ในการสร้างเรือนจำความมั่นคงสูงเพื่อคุมขัง เพราะเมื่อมีเรือนจำที่มีมาตรฐานสูงมากจนยากแก่การแหกที่คุมขังก็จะทำให้โทษประหารชีวิตลดความสำคัญลง และจะเริ่มบริหารจัดการโทษอื่นที่จะสามารถใช้แทนโทษประหารชีวิตได้

 โดย... 

รศ.กรกฎ ทองขะโชค

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ