ข้อคิดชีวิตดิจิทัล

ข้อคิดชีวิตดิจิทัล

การใช้เทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพต้องเริ่มที่ตัวเราเองก่อน

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจในยุคดิจิทัล เราจะเห็นการปรับตัวเกิดขึ้นมากมาย เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงภูมิทัศน์ทางธุรกิจที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไปโดยเราไม่รู้ตัว 

อย่างไรก็ดี ถึงกระนั้น เราก็อาจเผลอไผลใช้ชีวิตดิจิทัลอยู่อย่างผิด ๆ โดยไม่รู้ตัว แม้ว่าจะใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มที่แล้วก็ตามก็ตาม เพราะบางครั้งการที่เราใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ แต่อาจกลับพบว่าประสิทธิภาพในการทำงานลดลงหรือแย่กว่าเดิม เพราะกลายเป็นเนื่องจากว่าเราเอาเวลาไปใช้กับเรื่องอื่นนอกเหนือจากงานที่ต้องทำ ดังนั้น หลายคนอาจเห็นว่าเทคโนโลยีทำให้เราใช้ชีวิตยุ่งยากมากขึ้น นั่นจึงหมายความว่าเราใช้ชีวิตดิจิทัลผิดรูปผิดรอยไป

ข้อแรกที่พบเห็นได้บ่อย ๆ ในการที่เทคโนโลยีมาทำให้ชีวิตไม่เป็นตามที่คิด และคล้ายกับว่าเราใช้เทคโนโลยีอย่างผิดประเภทอยู่ คือเราแบ่งแยกการใช้เวลาไม่ถูกต้อง เช่น การเดินบนทางเท้าควรต้องมองดูสิ่งต่าง ๆ รอบข้าง แต่คนรุ่นใหม่มักใช้เวลาไปกับการดูหน้าจอโทรศัพท์ ใส่หูฟัง จนบางครั้งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ทั้งเดินชน สิ่งกีดขวางต่าง ๆ ตกน้ำ หรือถูกรถชน ซึ่งเราเองก็เห็นกันอยู่ และเป็นข่าวให้เห็นบ่อย ๆ หรือเวลาทานอาหารกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูง ซึ่งเราควรใช้เวลากับผู้ร่วมทานอาหารด้วยกันไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือครอบครัว แต่คนรุ่นใหม่ก็มักจะใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือ ตั้งแต่ถ่ายภาพอาหาร พูดคุย แชท จนไม่มีเวลาให้คนรอบข้าง ซึ่งดูเหมือนกับเป็นการลดคุณค่าของอาหารมื้อนั้นลงไปในทันที เช่นเดียวกับในห้องประชุม ที่เราควรใช้เวลาเพื่อจดจ่อกับสาระสำคัญที่กำลังพูดคุย ตัดสินใจ หรือการปรึกษาหารือกันแต่เป็นเรื่องปกติไปแล้ว ในทุกวันนี้ที่เกือบทุกคนจะหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาแชทไลน์หาผู้อื่น ซึ่งส่วนใหญ่ที่เห็นแล้วก็จะเป็นเรื่องไร้สาระทั้งสิ้น

การใช้เทคโนโลยีผิดเวลา จึงส่งผลต่อการทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทั้งหมดนั้นทำให้ประสิทธิภาพลดลง แม้ว่าเราจะใช้แอพพลิเคชั่นหลาย ๆ ตัวเช่นไลน์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ แต่ในทางกลับกัน เราก็จะพบว่าสัดส่วน การใช้อย่างไม่มีประโยชน์นั้น มีมากกว่าที่จะใช้เพื่อทำงานหลายเท่า ไม่เชื่อก็ต้องลองดูว่าแอพพลิเคชั่นไลน์ ในโทรศัพท์ของเรานั้นมีข้อความที่ยังไม่ได้อ่านค้างอยู่เท่าไร ข้อความที่ยังไม่ได้อ่านมีอยู่เท่าไร บางคนมีข้อความค้างอยู่เป็นสิบ บางคนก็หลัก 100 ข้อความ หรือ 1,000 ข้อความ กว่าจะอ่านหมดก็ต้องเสียเวลาเยอะมาก เพราะไม่ใช่แค่อ่านแต่ต้องมีการตอบกลับ หรือถ้าเป็นโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ้คก็ต้องมีการกดไลค์ กดแชร์เพื่อปฏิสัมพันธ์ หนึ่งในข้อความเหล่านั้นอาจมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานปะปนอยู่แต่เราจะมองไม่เห็นเลย เพราะมันถูกบดบังด้วยข้อความไร้สาระในแต่ละวัน 

นอกจากนี้ หลาย ๆ ครั้งที่เราส่งไลน์หาเพื่อนร่วมงานหรือลูกค้า จึงไม่ได้รับการตอบสนองจนต้องโทรไปติดตามเรื่อง เพราะการใช้เทคโนโลยีของเราเป็นไปอย่างฉาบฉวย หลายครั้งที่คนส่งข้อความด่วนถึงกันแล้วกลับไม่ได้รับการตอบกลับ ไม่มีการติดตามเรื่องว่าที่เป็นเรื่องด่วนหรือออะไร เพราะคิดว่าเมื่อส่งไปแล้วก็ถือว่าจบภาระหน้าที่ โดยไม่คิดว่าผู้รับข้อความอาจไม่ได้สนใจ เพราะคิดว่าเป็นข้อความไร้สาระที่ได้รับอยู่แล้วเป็นปกติ

การใช้เทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพจึงต้องเริ่มที่ตัวเราเองก่อน โดยพิจารณาให้ดีว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ หากกำลังพักผ่อนตากอากาศอยู่ที่เชียงใหม่ จะใช้เวลาสัก 15-30 นาที ดื่มด่ำกับรสกาแฟท่ามกลางบรรยากาศเย็นสบายแล้วอ่านบทสนทนาสนุกสนานฮาเฮระหว่างเพื่อนฝูงก็เป็นสิ่งที่ควรทำแต่หากเป็นบรรยากาศคร่ำเคร่งในห้องประชุม แล้วเราจะใช้โทรศัพท์มือถือคุยกับเพื่อนฝูงอย่างสนุกสนาน ก็คงไม่ถูกจังหวะเวลาเป็นอย่างยิ่ง 

เนื่องจากในเวลานั้นเราต้องการใช้ประสิทธิภาพในการทำงานอย่างเต็มที่ และต้องติดตามวาระสำคัญ ๆ ให้ถึงที่สุด จังหวะเวลาในการใช้เทคโนโลยีให้ถูกที่ถูกทางจึงเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรกที่เราต้องทำความเข้าใจและปรับพฤติกรรมให้ถูกต้องก่อนที่จะคิดถึงการปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยีดิจิทัล