ทิศทางภาษี ICO

ทิศทางภาษี ICO

ความเดิมจากฉบับที่แล้ว หลังจากผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่า ICO ไม่ได้มีลักษณะอย่างเช่น หุ้น หนี้ และเงินตรา

จึงจำเป็นต้องตรากฎหมายเพื่อกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ ประกอบกับ ICO คือ การลงทุนประเภทหนึ่ง ดังนั้น เมื่อมีการลงทุนก็ต้องมีเงินได้ เมื่อมีเงินได้ก็ต้องมีภาษี จึงเป็นเหตุผลหนึ่งในการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 เพื่อจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล (พ.ร.ก.ฯ) โดยเพิ่มข้อความในมาตรา 40 (4) แห่งประมวลรัษฎากร

อย่างไรก็ดี พ.ร.ก.ฯ ฉบับดังกล่าว อาจยังไม่ครอบคลุมประเด็นภาษีทั้งหมดอันอาจเกิดขึ้นในธุรกรรมที่เกี่ยวของกับสินทรัพย์ดิจิทัล และในการปรับใช้จริงอาจมีข้อสังเกตบางประการ โดยผู้เขียนจะตั้งเป็นประเด็น ดังนี้

บริษัทผู้ออก ICO ต้องเสียภาษีไหม พ.ร.ก.ฯ ฉบับนี้ไม่ได้กล่าวไว้ และกฎหมายก็ไม่ได้ยกเว้น แปลว่า หากในอนาคตไม่มีกฎหมายยกเว้นการจัดเก็บภาษีให้บริษัทผู้ออกเงินได้จากการระดมทุนในรูปแบบ ICO ย่อมเป็นเงินได้จากการประกอบธุรกิจตามนิยามของมาตรา 40 (8) ป.รัษฎากร ซึ่งบริษัทจะต้องเสียภาษีนิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม

ในทางปฏิบัติ เงินได้จากการระดมทุนในรูปแบบ ICO ยังคงมีข้อโต้แย้งในทางวิชาการว่า เงินจากผู้ลงทุนที่โอนซื้อ Token ควรถือเป็นเงินได้ที่บริษัทผู้ออก ICO จะต้องเสียภาษีหรือไม่ เนื่องจากเงินที่บริษัทได้มาเป็นการระดมไปสร้างสิ่งที่จะทำให้เกิดรายได้ในอนาคต ส่วนสัญญาระหว่างบริษัทกับผู้ลงทุนเป็นเพียงการทำสัญญาตกลงจะแบ่งผลประโยชน์หรือกำไรจากกิจการนั้น ๆ ซึ่งอาจยังไม่เกิดขึ้น ณ วันที่ทำสัญญา นอกจากนี้ หากพิจารณาในทางบัญชีรายรับเช่นว่านี้ควรลงบัญชีในช่องของ หนี้ หรือ ทุน จึงจะถูกต้องเหมาะสมกว่ากัน เนื่องจาก ICO ไม่ได้มีลักษณะเป็นส่วนทุนเช่น IPO จึงไม่ใช่อาจใช้สิทธิยกเว้นภาษีในขาผู้ออกได้

ใครต้องหัก ณ ที่จ่าย อย่างไรบ้าง? ในส่วนนี้ พ.ร.ก.ฯ กำหนดให้ เงินส่วนแบ่งกําไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากถือครอง Token (ม.40(4)(ซ) ป.รัษฎากร) และผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอน Crypto หรือ Token เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน (ม.40(4)(ฌ) ป.รัษฎากร) เป็นเงินได้พึงประเมิน 

หมายความว่า ในตลาดแรก หากบริษัทผู้ออก ได้ทำการจ่ายส่วนแบ่งกำไรหรือผลประโยชน์ให้ผู้ถือ Token บริษัทผู้ออก มีหน้าที่ หัก ภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ก่อนจ่ายผลตอบแทนให้ผู้ถือ Token และ

ในตลาดรอง หากผู้ลงทุนได้ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยน Crypto หรือ Token (สินทรัพย์ดิจิทัล) ผ่านตัวกลางที่ได้รับอนุญาต (Exchange) และข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ลงทุนได้ผลประโยชน์จากธุรกรรมนั้น ๆ มากกว่าต้นทุนที่ได้มา Exchange ย่อมมีหน้าที่ หัก ภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% จากกำไรหรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นก่อนจ่ายเงินให้กับนักลงทุน

จากกรณีข้างต้น ในส่วนของผู้รับหรือนักลงทุน มีหน้าที่นำรายได้จากสินทรัพย์ดิจิทัลมายื่นภาษีประจำปีเพื่อคำนวน Final Tax ด้วย 

อย่างไรก็ดี ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ พ.ร.ก.ฯ ยังไม่ได้ระบุแนวทางในเรื่องมาตรฐานการแปลงอัตราสกุลเงินไม่ว่าระหว่าง Crypto ต่างสกุล (เช่น ระหว่าง Bitcoin กับ Ether) หรือ จาก Crypto แปลงมาเป็นไทยบาท และมาตรฐานกลางสำหรับแต่ละ Exchange ในการแปลงอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน และหากเป็น Token ประเภทที่กำหนดสิทธิให้ผู้ถือได้สิทธิประโยชน์ในสินค้าและบริการ (หรือ Utility Token) การคำนวนผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นเพื่อชำระภาษีจะมีแนวทางอย่างไร

นอกจากนี้ หลักการสากลที่สำคัญในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล คือ การไม่เปิดเผยตัวตน ของคู่สัญญาโดยใช้เทคโนโลยีเข้าจัดการผ่านระบบสัญญาในแบบ Smart Contract แต่การหัก ณ ที่จ่ายตามพ.ร.ก.ฯ มีความจำเป็นที่ผู้จ่ายต้องระบุตัวตนผู้รับเพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย 

ทั้งหมดนี้คงต้องรอแนวทางที่ชัดเจนจากภาครัฐ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีความสำคัญและจะส่งผลต่อวิธีการ ขั้นตอน และความถูกต้องในการ หักภาษี ณ ที่จ่ายทั้งสิ้น

ภาษีสายขุด? พ.ร.ก.ฯ ฉบับนี้ไม่ได้กล่าวไว้ แต่หากตีความตามหลักการในป.รัษฎากร การขุดและมีเหรียญที่มีค่าไว้ในครอบครองอาจยังไม่ทำให้ผู้ขุดเกิดรายได้ แต่หากมีการขายเหรียญนั้นในเวลาต่อมา รายได้ในลักษณะดังกล่าวอาจถูกตีความให้ตกอยู่ในความหมายของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) ส่วนหนึ่งอาจเพราะไม่สามารถจัดให้เข้ากลุ่มเงินได้ประเภทที่ 1-7 ได้ ซึ่งเงินได้มาตรา 40(8) สามารถหักค่าใช้จ่ายตามจริงหากมีหลักฐานค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาแนวทางของสรรพากรสหรัฐอเมริกา (IRS) พบว่า กฎหมายกำหนด ให้ภาระภาษีเกิดขึ้นตั้งแต่ขุดมาได้ แม้เพียงถือครองไว้และไม่ได้โอนขาย ผู้ขุดก็มีหน้าที่จดมูลค่าไว้ ณ วันที่ขุดขึ้นมาได้เพื่อรายงานกับ IRS ในฐานะที่เป็นเงินได้ประเภทหนึ่ง และหากในอนาคตมีการขายเหรียญดังกล่าว ก็จะต้องเสีย Capital gain ในอีกชั้นหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ IRS ได้วางแนวทางที่แตกต่างสำหรับผู้ที่ขุดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ (Business) และขุดเพื่อเป็นกิจกรรมยามว่าง (Hobby) ซึ่งหากผู้ขุดมีวัตถุประสงค์ทางธุรกิจสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้มากกว่าการขุดในลักษณะ Hobby

ท้ายที่สุด ภาษีก็เหมือนน้ำ ที่ไหนเก็บต่ำ นักลงทุนก็จะหลั่งไหลไปที่นั้นเสมอ ประเด็นในเรื่องภาษีและ ICO ก็เช่นกัน ประเทศไหนมีกฎหมายและนโยบายที่ส่งเสริมกิจกรรม ICO ในต้นทุนที่ต่ำ ย่อมดึงดูดนักลงทุนได้มาก เพราะโดยสภาพของ ICO ต้องการให้การระดมทุนทำได้โดยง่ายอย่างไร้พรมแดน (Borderless) และด้วยข้อดีของเทคโนโลยี จึงทำให้การระดมทุนสามารถกระทำได้ ไม่ว่า นักลงทุนจะอยู่ที่ไหนในโลก ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า Tax haven ต่าง ๆ ทั่วโลกให้ความสนใจในการเป็นสถานที่ในการออก ICO โดยพยายามลดกฎเกณฑ์และอัตราภาษีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในอนาคต ผู้เขียนเชื่อว่าการเลี่ยงภาษีในรูปแบบดิจิทัลจะเป็นประเด็นหลักในเวทีภาษีอากรระหว่างประเทศ

ในส่วนของประเทศไทย การออก ICO เป็นเรื่องใหม่และยังอยู่ในขั้นตอนการจัดทำกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง สำหรับผู้ที่สนใจคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

 [บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]