ก้าวกระโดดได้ด้วยนวัตกรรม

ก้าวกระโดดได้ด้วยนวัตกรรม

ผมมีตัวอย่างเล็กๆและเป็นเพียงจุดเริ่มต้นให้เห็นว่า SMEs ของไทย กำลังขยับปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขันใหม่

เป็นเรื่องเล่าสั้นๆแต่อาจจะช่วยกระตุ้นความตื่นตัวให้กับผู้บริหาร ผู้ประกอบการ และคนทำงานทั่วไป เมื่อบริษัทต่างๆเริ่มตระหนักและเห็นว่าการทำธุรกิจและให้บริการแบบเดิมๆ เริ่มเสื่อมมนต์ขลังและไม่จีรังยั่งยืน ถ้าไม่ขยับปรับตัวอะไรคงมีอันเป็นไปในอนาคต โครงการยกระดับผลิตภาพด้วยการจัดการเพื่อสร้างนวัตกรรม (Managing for Innovation) สู่การประกอบการยุค 4.0 โดย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงอุตสาหกรรม คือหนึ่งในตัวอย่างโครงการที่เข้าไปช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรม

 

เพราะไม่ใช่เพียงให้ความรู้ แต่ยังเข้าไปให้คำแนะนำที่เน้นการปฏิบัติจริง ซึ่งมีบริษัทส่งใบสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก จากแผนงานเดิมที่ตั้งเป้าหมายจะรับเพียง 30 บริษัท แต่ด้วยความสนใจของบริษัทที่สมัครเข้ามาจึงเพิ่มเติมและรับบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกถึง 32 บริษัท

 

โดยผู้บริหารของทั้ง 32 บริษัทจะต้องจัดเตรียมทีมงานที่จะมารับการถ่ายทอดความรู้ผ่านการฝึกอบรม ตั้งแต่หลักสูตรทั่วไปด้านการจัดการความรู้ (Innovation Management) จนถึงการฝึกปฏิบัติ (Workshop) อาทิ การจัดทำแผนแม่บทนวัตกรรม (Innovation Master Plan) การจัดทำคู่มือการส่งเสริมนวัตกรรมภายในองค์กร (Innovation Manual) เทคนิคการคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking) และการจัดทำโครงการนำร่อง (Pilot project) เพื่อให้แน่ใจว่าทุกบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกจะสามารถจัดทำแผนงาน แนวทางการปฏิบัติ และลงมือทดลองทำโครงการเชิงนวัตกรรมเบื้องต้นได้เองภายในระยะเวลา 9 เดือน เป็นการปูพื้นฐานก่อนที่ทีมงานชุดแรกจะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ไปขยายผลต่อไป

 

ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการผ่านครึ่งทางมาแล้ว และทีมงานของบริษัทต่างๆที่เข้าร่วมโครงการ ก็กำลังทุ่มเทความพยายามในการทดลองพัฒนางานใหม่ๆในเชิงนวัตกรรมตามขั้นตอนที่วิทยาที่ปรึกษาให้คำแนะนำไว้ ซึ่งน่าจะได้ผลลัพธ์เบื้องต้น (prototype) ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการต้นแบบ ระบบงานต้นแบบ หรือผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ที่จะนำไปต่อยอดและพัฒนาให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ก่อนจะนำไปสู่การใช้งานจริง (สำหรับผลงานที่เป็นนวัตกรรมด้านกระบวนการ) หรือจำหน่ายให้กับลูกค้า (สำหรับผลงานที่เป็นนวัตกรรมด้านสินค้าหรือบริการ)

 

ขอยกตัวอย่างความก้าวหน้าในการลงมือปฏิบัติเพื่อพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมใหม่ จาก 8 บริษัทที่ผ่านการคัดเลือกเข้าโครงการ แม้ว่าจะดูเหมือนว่าไม่ใช่นวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ เปลี่ยนโลก หรืออาจจะมีให้เห็นแล้วบ้างในอุตสาหกรรมอื่น หรือในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่สำหรับ SME ของไทยที่คุ้นชินกับการผลิตสินค้าหรือให้บริการในรูปแบบเดิมๆมานานหลายปี หรือเป็นเพียงผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ไม่ได้มีสินค้าเป็นแบรนด์ของตัวเอง การทลายกรอบความคิดเดิมเพื่อให้เกิดทัศนคติใหม่แก่พนักงานภายใน การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของการทำงานซ้ำๆมาเป็นวัฒนธรรมแห่งการสร้างสรรค์หรือการสร้างสิ่งใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควร แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป ถ้ามีแบบแผนและแนวทางที่เป็นระบบอย่างชัดเจน โดยมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้บรรลุผลตามเป้าหมายให้ได้

 

ความพยายามกระตุ้นให้พนักงานออกจากพื้นที่แห่งความคุ้นชิน (comfort zone) ไปสู่พื้นที่แห่งใหม่ที่มีความท้าทายรออยู่ข้างหน้า (challenge zone) เป็นการพลิกโฉมแนวทางและวิธีการบริหารจัดการในยุคนี้อย่างแท้จริง เพราะพื้นที่การทำงานแบบเดิมนั้น เริ่มไม่ปลอดภัยและมีภัยคุกคามจากโลกไร้พรมแดน การแข่งขันที่รุนแรง และเทคโนโลยีสมัยใหม่ การขยับปรับตัวก่อนจึงเป็นทางเดียวที่จะทำให้องค์กรอยู่รอดปลอดภัยในระยะยาวได้

 

บริษัท K&O System and Consulting จำกัด (ผู้ให้บริการระบบ Document Management System) กับการต่อยอดโซลูชั่นเดิมสู่ระบบลดการใช้เอกสารภายในองค์กรต่างๆ และสามารถเชื่อมข้อมูลที่ตรงกันขององค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ โรงพยาบาลกับบริษัทประกัน โรงแรมกับกองตรวจคนเข้าเมือง โรงงานกับโรงงานด้วยกัน

 

บริษัท Demier จำกัด (ผู้ให้บริการออกแบบและสร้างเครื่องจักรเพื่ออุตสาหกรรม) เมื่อเครื่องจักรในโรงงานไม่ได้ต้องการความสามารถเชิงกลอย่างเดียว แต่ต้องมีความอัจฉริยะ ควบคุม สั่งการ และเชื่อมต่อผ่านโครงข่ายไร้สาย นำข้อมูลการผลิตที่ได้มาประมวลผล รายงาน และตัดสินใจได้

 

บริษัท United Technology Development จำกัด (ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศชั้นนำของไทย Uni-Aire แอร์พันธุ์อึด) กับการยกระดับกระบวนการผลิตสู่ 4.0 ด้วยโซลูชั่นวางแผนและควบคุมระบบการผลิตด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล

 

บริษัท E-Business Plus จำกัด (ผู้ให้บริการซอฟท์แวร์เพื่อการจัดการองค์กร) กับการพัฒนาโซลูชั่นที่ผนวกเอาความสามารถด้านไอทีของบริษัท กับเทคโนโลยีดิจิตัลใหม่ๆมาใช้ยกระดับการทำงานภายใน ก่อนที่จะนำโซลูชั่นที่ได้มาพัฒนาต่อเพื่อให้ลูกค้าได้ลองใช้

 

บริษัท Digitrans Solution จำกัด (ผู้ให้บริหารไอทีโซลูชั่นเพื่อบริหารการผลิตในโรงงาน) กับการพัฒนาโซลูชั่น machine learning เพื่อประมวลผลฐานความรู้ภายในโรงงานไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการผลิต การซ่อมบำรุงเครื่องจักร สู่ระบบผู้เชี่ยวชาญ (Expert system) ที่ให้คำแนะนำแก่ผู้บริหารโรงงานได้

 

บริษัท SK Polymer จำกัด (ผู้ผลิตและแปรรูปชิ้นส่วนยาง ซึ่งอยู่ในสินค้าชั้นนำมากมายหลายยี่ห้อ) ด้วยการปรับโครงสร้างการทำงานครั้งใหญ่ ตั้งแผนก automation ที่จะเข้ามายกระดับกระบวนการผลิตเดิมที่เป็น 2.5 มาเป็น 3.0 (factory automation) และมุ่งสู่ 4.0 ในอนาคต

 

บริษัท Synergy Technology จำกัด (ผู้ผลิตชิ้นส่วนให้บริการด้านอิเล็กทรอนิกส์) มุ่งสู่การผลิตและออกแบบเทคโนโลยี IoT ที่จะฝังตัวอยู่ในอุปกรณ์ต่างๆทำให้สามารถเชื่อมต่อ ตรวจติดตามสถานะ และควบคุมสั่งการแบบไร้สายได้

 

บริษัท Civic Media จำกัด (ผู้ผลิตและให้บริการระบบแสงสว่าง ป้ายไฟ และเทคโนโลยีจาก LED) สู่การพัฒนาโซลูชั่นด้าน Smart farm และการปลูกพืชในร่มด้วยแสงอาทิตย์เทียม