กำเนิดกับวิวัฒนาการของรัสเซียและประเทศใกล้เคียง

กำเนิดกับวิวัฒนาการของรัสเซียและประเทศใกล้เคียง

ในสมัยก่อน พื้นที่บริเวณที่เป็นรัสเซียส่วนที่อยู่ในยุโรปปัจจุบันมีเส้นทางการค้าเบาบางและขาดแคลนเงินทุน ในปี ค.ศ. 990

ศูนย์กลางของพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมของบริเวณนั้นคือ เมือง Kiev ซึ่งทำหน้าที่ส่งต่อการค้าที่เชื่อมระหว่าง Byzantium กับอินเดีย จีน และ โลกอารยะอื่น Kiev ยังตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าที่เบาบางเชื่อมระหว่างทะเลบอลติกกับ Byzantium กล่าวกันว่า ในปี 988 เจ้าชาย Vladimir แห่ง Kiev สร้างความสัมพันธ์กับ Byzantium โดยการรับบัพติสม์จากคริสตศาสนานิกาย Byzantine เจ้าชายแห่ง Kiev เป็นผู้สืบเชื้อสายไวกิ้งค์ที่เคลื่อนลงใต้มายึดครองและแสดงอำนาจอธิปไตยอย่างหลวม ๆ เหนือเมืองต่าง ๆ ในรัสเซียในฐานะเจ้าผู้ครองแห่งภูมิภาค ในระดับท้องถิ่น ที่ดินส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมของหมู่บ้านยากจนเหมือน ๆ กับในส่วนอื่น ๆ ของยุโรปตะวันออก เจ้าที่ดินสามารถบังคับเอารายได้จากผู้ยากจนในรูปของค่าธรรมเนียม ค่าปรับ ค่าเช่า หรือ การใช้แรงงาน แต่ไม่อาจแทรกแซงการบริหารจัดการในที่ดินของครอบครัวหรือชุมชน ความเบาบางของการตั้งถิ่นฐานทำให้เกษตรกรสามารถหันไปหาที่ดินของเจ้าที่ดินรายอื่นได้ เจ้าที่ดินรายใหญ่มักประสบกับการโจมตีหรือการยึดครองจากพวกเร่ร่อนในทุ่งหญ้า steppe อย่างไรก็ตาม เจ้าที่ดินรายใหญ่จริง ๆ มีกองกำลังอิสระของตนเอง ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นในดินแดนบริเวณนี้เป็นส่วนใหญ่ 

ใน ปี 990 รัฐโปแลนด์ทางตะวันตกกำลังมั่งคั่งขึ้น โดยการยึดครองดินแดนที่เป็นของจักรวรรดิโรมันเดิมและกำลังขยายมาทางตะวันออก ในปี 1069 เจ้าผู้ครองโปแลนด์ส่งทหารมาที่ Kiev และตั้งญาติของตนขึ้นสู่บัลลังก์ของรัสเซีย ทางตะวันตกเฉียงเหนือนั้น รัฐไวกิ้งค์ทั้งหลายพยายามเป็นครั้งคราวที่จะขยายอาณาเขตไปในดินแดนที่อ้างโดยรัสเซียกับโปแลนด์ รัฐบัลกาเรียที่กระหายสงครามก็แสดงกำลังทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัสเซีย กษัตริย์โบฮีเมียและฮังการีก็กำลังขีดเส้นแบ่งเขตแดนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของตน ส่วนทางขอบด้านตะวันตกของยุโรปนั้น กองกำลังผู้บุกรุกจากสแกนดิเนเวียและตะวันออกกลางก็พยายามยึดครองและสร้างรัฐใหม่ ๆ บนฐานของเกษตรกรรมในบริเวณหมู่เกาะบริเตน คาบสมุทรไอบีเรีย (สเปน) และ คาบสมุทรอิตาลีไม่ว่าชุมชนจะเบาบางเพียงใด ประมาณ 1/3 ของยุโรปด้านตะวันออกกำลังกลายเป็นพวกที่แสวงหารัฐส่งบรรณาการจากดินแดนที่กว้างใหญ่ แต่ปกครองอย่างหลวม ๆ 

ในขณะเดียวกัน ทางด้านตะวันออกนั้น ผู้ยึดครองที่เป็นชนเผ่าเร่ร่อนก็คุกคามต่ออิทธิพลของรัฐขนาดใหญ่ ๆ และลงทุนอย่างมากในรัฐเกษตรกรรมที่มีอยู่แล้วที่พอจะขูดรีดได้ ในกรณีที่ดินแดนยึดครองมีจำนวนมากเกินไปหรือจัดการได้ยากในการเป็นกาฝาก พวกเขาก็จะจัดตั้งรัฐเพื่อทำการขูดรีดเสียเอง ลักษณะเช่นนี้เป็นกำเนิดรัฐต่าง ๆ ในช่วงปี ค.ศ. 500-1500 ที่เกิดจากพวกแล้วพวกเล่าที่ต่างพาเหรดออกมาจากทุ่งหญ้า stepp ที่กว้างใหญ่ อันได้แก่ Bulgars, Magyars, Petchenegs, Mongols, Turks และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ 

ารรุกรานจากตะวันออกเฉียงใต้ดำเนินต่อไปจนถึง ค.ศ. 1230 เมื่อพวกมองโกลไล่ปล้นสดมภ์เมือง Kiev และสถาปนาอำนาจครอบงำในดินแดนที่ยึดครองไว้ในเวลานั้น พวกมองโกลไล่ยึดครองส่วนใหญ่ของยูเรเซีย ตั้งแต่รัสเซียถึงจีน การปกครองของมองโกลไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าบรรณาธิการ การไล่คู่แข่งอื่น ๆ ออกไป และ การโจมตีทางทหารต่อพวกที่ไม่ให้ความร่วมมือ เวลาถึงประมาณ 2 ศตวรรษเป็นช่วงที่เจ้าชายรัสเซียต่าง ๆ จะต้องไปเป็นตัวประกัน ณ เมืองหลวงของพวกมองโกลที่ควบคุมย่านนี้ ที่ตั้งอยู่ตอนล่างของแม่น้ำโวลก้า 

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ความถี่และความรุนแรงของการโจมตีจากด้านตะวันออกเฉียงใต้เริ่มเบาบางลงตามการแตกสลายของจักรวรรดิมองโกลและกองทหารม้าจากทุ่งหญ้า steppe เริ่มเบนความสนใจต่อเป้าหมายที่อ่อนแอแต่ร่ำรวยกว่าทางใต้ (อาหรับ) การปล้นสดมภ์มอสโคในปี 1571 ของพวก Tatars ถือเป็นการรุกเข้าไปในรัสเซียของชนเผ่าจากทุ่งหญ้าเป็นครั้งสุดท้าย ในศตวรรษที่ 17 พวกมองโกลแถบคาซัคสถานและคีร์กิซสถานกลับร่วมมือกับรัสเซียในการบุกยึดไซบีเรีย จักรพรรดิเฉียนหลงทรงกริ้วถึงขนาดสั่งให้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ในเวลาเดียวกัน การระบาดของกาฬโรคและการเปิดเส้นทางเดินเรือจากยุโรปไปจีนกับอินเดียทดแทนเส้นทางสายไหม ก็ลดความสำคัญของแถบนี้ลงไปมาก 

ค.ศ. 1400 พื้นที่ระหว่างแม่น้ำ Vistula (โปแลนด์) กับเทือกเขา Ural กลายเป็นอาณาจักรขนาดใหญ่ที่ครอบคลุม Lithuania, Novgorod และ จักรวรรดิมองโกล ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือนั้น Prussia กับ Denmark (ที่รวมเอาสวีเดนกับนอร์เวย์) มีอิทธิพลเหนือทะเลบอลติก ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 16 เจ้าผู้ครอง Lithuania กับมอสโค แบ่งพื้นที่เหนือจักรวรรดิมุสลิม ตั้งแต่ชายฝั่งทะเลดำทางตะวันออกจนถึง Hungary, Greece, Adriatic ทางตะวันตก ในปี ค.ศ. 1569 Lithuania รวมกับโปแลนด์กลายเป็นอาณาจักรกว้างใหญ่ และ ปกครองพื้นที่ที่เบาบางระหว่างรัสเซียกับยุโรปส่วนที่เหลือ ต่อเมื่อเส้นทางเดินเรือระหว่างอังกฤษ/ฮอลแลนด์ กับ Archangel เกิดขึ้น รัสเซียจึงเชื่อมต่อกับโลกภายนอกได้มากขึ้น 

การยึดครองในรัชสมัยของ Peter the Great (1689-1725) และ Catherine the Great (1762-1796) ทำให้รัสเซียมีอาณาเขตใกล้เคียงกับของสหภาพโซเวียตก่อนล่มสลาย กล่าวคือ จรดทะเลดำและครอบคลุม Estonia Latvia และ Karelia (ติด Finland) ด้วย ส่วนจักรวรรดิออตโตมันที่ขยายตัวจากการยึดครองไปทางตะวันตกก็ครอบคลุมคาบสมุทรบอลข่านจนประชิดออสเตรีย ดังนั้นยุโรปในระหว่างศตวรรษที่ 16-18 จึงประกอบด้วยรัฐขนาดใหญ่ที่ควบคุมอาณาเขตและประชากรภายในอาณาจักรอย่างมีนัยสำคัญ แตกต่างไปจากรัฐที่หวังแต่บรรณาการอย่างในศตวรรษ 13-14 รัสเซียเองก็ปรับเปลี่ยนทิศทางของการเมืองและเศรษฐกิจ จากด้านตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งสอดคล้องกับเส้นทางเดินเรือใหม่ที่เกิดขึ้น 

โปแลนด์ยังคงเป็นข้อยกเว้นดังที่เป็นมาหลายศตวรรษ ผู้ปกครองรัฐไม่อาจปกครองเจ้าที่ดินรายใหญ่ให้อยู่ใต้อำนาจได้และไม่สามารถเรียกใช้มาให้ร่วมในการทำสงครามได้ ในทศวรรษที่ 1760 รัฐโปแลนด์มีพื้นที่ใหญ่กว่าฝรั่งเศส แต่มีทหารเพียง 16,000 นาย ในขณะที่เจ้าที่ดินมีทหารในบางครั้งมากถึง 30,000 นาย ในขณะที่ประเทศข้างเคียงอย่างรัสเซีย ออสเตรีย และ ปรัสเซีย ต่างมี 2-5 แสนนาย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่โปแลนด์ถูกเขมือบไปคนละส่วน ในปลายศตวรรษที่ 18 และอีกครั้งในศตวรรษที่ 19 

ก่อนหน้าศตวรรษที่ 20 ไม่มีดินแดนใดในรัสเซียที่มีเมืองที่กระจุกตัวหนาแน่นและตกเข้าไปอยู่ในเส้นทางที่การค้าหนาแน่นเลย การค้าในเส้นทางสายไหมที่เคยคึกคักก็เริ่มหดตัวลงและตามมาด้วยการปิดกั้นของพวกมองโกลตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 เมืองต่าง ๆ เช่น Kiev, Smolensk, Moscow และ Novgorod จึงเงียบเหงาไปหมด แม้เมืองต่าง ๆ เหล่านั้นจะดีขึ้นบ้างในศตวรรษที่ 16 แต่ก็เทียบไม่ได้เลยกับเมืองในยุโรปตะวันตกหรือทะเลเมดิเตอเรเนียน รัสเซียจึงเป็นรัฐที่เกิดขึ้นอย่างขาดแคลนเงินทุนโดยแท้ 

ในระยะเวลา 500 ปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 990 รัฐที่เติบโตขึ้นในย่านนี้ของยุโรปล้วนมาจากการยึดครอง การรับบรรณาการ และ การปกครองผ่านผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นที่มีฐานกำลังของตนเอง ภายใต้การครอบงำของมองโกล เจ้าชายอิสระทั้งหลายทางเหนือต่างตัดตอนอธิปไตยให้แก่เจ้าที่ดินที่เหมาการควบคุมผู้ยากจนทั้งการเมืองและเศรษฐกิจในดินแดนของตน แต่ภายหลังการล่มสลายของมองโกลในศตวรรษที่ 16 การยึดครองบริเวณทางใต้และตะวันออกนำมาซึ่งระบบการตัดตอนที่ดินและแรงงานให้แก่นักรบ การบังคับใช้แรงงานของผู้ยากจน การจำกัดการย้ายที่อยู่ และ ภาษีที่สูงขึ้นสำหรับสงคราม ลักษณะถาวรของระบบทาสอย่างนี้กำลังเริ่มขึ้น 

ณ จุดนั้น จักรพรรดิรัสเซียกำลังพยายามปกครองอาณาบริเวณที่กว้างขวางโดยมีกำลังไม่เพียงพอ พวกเขาปกครองทางอ้อมโดยผ่านโบสถ์/ขุนนางที่มีอำนาจมหาศาลและมีขีดความสามารถในการขัดความต้องการของจักรพรรดิได้ พระเจ้า Ivan III และ Ivan IV จึงพยายามลดทอนอำนาจของเจ้าที่ดินอิสระโดยการสร้างกองทัพของตนเองขึ้นมาพร้อม ๆ กับระบบข้าราชการที่ช่วยดูแลโดยการมอบที่ดินตอบแทนให้แก่หัวหน้าหน่วยต่าง ๆ พวกเขาจัดตั้งกองทัพเพื่อการปราบเจ้าชายที่เป็นพี่น้องและขุนนางที่ทะเยอทะยาน การรุกรานของต่างชาติ และ การขยายอาณาเขต 

เนื่องจากที่ดินส่วนใหญ่ถูกครอบครองโดยเจ้าที่ดินกึ่งอิสระที่มีกองกำลังด้วยการใช้ระบบใหม่ การนองเลือดกับพวกขุนนางจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้และจักรพรรดิเป็นผู้ชนะ ในขณะเดียวกันผู้ที่ภักดีได้รับการตอบแทนโดยได้รับอนุญาตให้ใช้กองทัพหลวงในการปราบปรามผู้ยากจนที่ออกนอกแถว แต่การสมคบกันระหว่างเจ้าหน้าที่และเจ้าที่ดินในการขูดรีดผู้ยากจนก็ยังมีเกิดขึ้นอีก 

ารมอบที่ดินขนาดเล็กไว้ในมือของเจ้าหน้าที่ผู้ค้ากำไรเกินควร เป็นการเพิ่มแรงกดดันแก่ผู้ยากจนบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือ ยิ่งเมื่อมีการเปิดดินแดนใหม่ทางใต้และตะวันออก แรงกดดันนี้ทำให้ประชากรในบริเวณที่ตั้งรกรากทางเกษตรกรรมเก่า ๆ ลดหายไป ซึ่งยิ่งทำให้เกิดความจำเป็นในการหาผู้ยากจนมาทดแทน ทั้งโดยการปฏิบัติในพื้นที่เองและโดยพระราชกฤษฎีกา เมื่อทางการประสบปัญหาในการเก็บภาษีจากผู้ยากจน Peter the Great ทรงออกพระราชบัญญัติให้เจ้าของที่ดินเป็นผู้รับผิดชอบภาษีนั้น นอกจากนี้ ข้าหรือทาสที่ได้รับอิสระจะต้องรีบรายงานตัวเพื่อรับราชการทหาร เมื่อถูกปฏิเสธจึงจะหาเจ้านายใหม่ได้ Peter ยังแบ่งระดับชั้นของขุนนางอย่างชัดเจนตามระดับการบริการที่ให้ต่อพระเจ้าซาร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจจินตนาการได้ในยุโรปที่ระดับชนชั้นถูกกำหนด สนับสนุน และ ครอบงำโดยรัฐ 

เมื่อรัสเซียต้องทำสงครามกับเพื่อนบ้านทางตะวันตกที่ติดอาวุธอย่างมาก ความพยายามในการขูดรีดเพื่อหารายได้ของรัฐจากระบบเศรษฐกิจที่ยังไม่เจริญทางพาณิชยกรรม ทำให้โครงสร้างของรัฐยิ่งซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกันการยึดครองดินแดนขนาดใหญ่ระหว่าง มอสโคกับออตโตมันก็ยิ่งทำให้ขนาดกองทัพใหญ่ขึ้น เอาระบบข้าแรงงานและการเป็นเจ้าที่ดินของรัสเซียมาใช้ และ สร้างระบบข้าราชการขึ้นมาจนเทอะทะถึงสุดขีด Peter the Great ไม่ยอมให้มีการแบ่งแยกให้ใช้ระบบที่แตกต่างกันโดยเฉพาะกับยูเครน 

ความท้าทายของการทำสงครามกับพระเจ้านโปเลียนแห่งฝรั่งเศส ทำให้โครงสร้างรัฐเปลี่ยน แปลงไปทั่วยุโรป แต่ทำให้รัสเซียเข้มแข็งขึ้น งบประมาณ ภาษี และ จำนวนข้าราชการมากขึ้น และกลายเป็นรัฐที่ใช้กำลังทหารอย่างเต็มรูปแบบ รัฐอื่นๆ ที่ใกล้เคียงอย่างโปแลนด์ ฮังการี เซอร์เปีย และ แบรนเดนเบิร์ก ต่างก็มีโครงสร้างสร้างรัฐที่คล้ายๆ กัน และแตกต่างไปจากรัฐอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมดในยุโรปตะวันตก แม้ว่าการขายธัญญาหารจากยุโรปตะวันออกไปยุโรปตะวันตกมีมากขึ้น แต่การค้าก็ไม่ได้ทำให้เกิดเมือง เนื่องจากเจ้าที่ดินเป็นผู้ได้ประโยชน์ไปโดยใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือบังคับทั้งพ่อค้าและผู้ยากจน การสะสมทุนอย่างในยุโรปตะวันตกจึงไม่เกิดขึ้น 

เมื่อเปรียบเทียบยุโรปตะวันออกโดยเฉพาะรัสเซียกับยุโรปตะวันตกแล้ว จะเห็นได้ว่าผู้ยากไร้มีความลำบากและถูกกดขี่ขูดรีดเป็นอย่างมากมาเป็นเวลานานโดยที่ไม่มีชนชั้นกลางเลย จนไม่น่าสงสัยเลยว่าทำไมการปฏิวัติบอลเซวิคจึงเกิดขึ้นในรัสเซีย และ ทำไม ? พระเจ้าซาร์และครอบครัวจึงได้รับชะตากรรมที่ดูโหดร้ายเช่นนั้น 

สิ่งที่ได้จากประวัติศาสร์ของยุโรปในช่วงนี้อีกประการหนึ่ง คือ ประชาชนในแต่ละรัฐเองที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่ารัฐจนไม่อาจเข้มแข็งเท่าประเทศใกล้เคียงจนเกือบสิ้นชาติ โปแลนด์เป็นตัวอย่างที่ดี แล้วจะไปโทษใครหรือโกรธเกลียดประเทศอื่น โดยเฉพาะรัสเซีย ได้อย่างไรที่มีรัฐอื่นมาเป็นเจ้าเข้าครอง เหนืออื่นใดรัฐในยุโรปล้วนแต่เคยยึดซึ่งกันและกันมาแล้วทั้งนั้น