ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ถึงรวยก็ช่วยไม่ได้

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ถึงรวยก็ช่วยไม่ได้

ข่าวที่ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งรับขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศซึ่งร่ำรวยกว่าเรา สะท้อนให้เห็นว่า

ความรวยไม่ได้เป็นหลักประกันว่าระดับจิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อมของคนในประเทศจะสูงตามรายได้เสมอไป เขาแค่มีเงินมากพอที่จะปัดขยะไปให้พ้นตัวก็เท่านั้นเอง

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นปลายทางของการส่งออกขยะ ก็เพราะระดับจิตสำนึกของสังคมไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่สูงพอ ยิ่งเป็นช่วงเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจรายไตรมาส ตัวเลขจีดีพีกลายเป็นข้อมูลที่ได้รับความสนใจมากกว่าระดับมลพิษในอากาศ ปริมาณน้ำเสียในแม่น้ำลำคลอง และปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ซึ่งดูเหมือนจะไกลปากไกลท้องเกินไป

ในทางเศรษฐศาสตร์มีแนวคิดที่เรียกว่าเส้นโค้งคุซเน็ทซ์ (Kuznets curve) แนวคิดนี้เสนอว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาเป็นกราฟเส้นโค้งรูปโดม โดยความสูงของโดมคือ ระดับปัญหาสภาพแวดล้อมของประเทศ และความกว้างของโดมคือรายได้ต่อหัวของคนในประเทศ ช่วงที่ประเทศคนในประเทศยังยากจน เป้าหมายสำคัญคือการเพิ่มรายได้ ประเทศจะทำทุกอย่างเพื่อให้คนสามารถมีกินมีใช้ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะยังเป็นเรื่องไกลตัว ช่วงนี้เป็นการไต่ขึ้นไปบนยอดโดม ปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มสูงขึ้น

หลังจากรายได้เพิ่มมาถึงระดับหนึ่ง ผู้คนมีชีวิตที่ดี มีกินมีใช้ พวกเขาก็เริ่มมองหาคุณภาพชีวิตสูงกว่าเดิม จึงทำให้หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การแยกขยะ ลดการใช้ถุงพลาสติก เป็นต้น พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวตามให้เป็นธุรกิจที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม สุดท้ายแล้วปัญหาสิ่งแวดล้อมก็จะลดลง

ในประวัติศาสตร์การพัฒนาของโลก การทำลายสิ่งแวดล้อมขนานใหญ่ เริ่มต้นเมื่อประมาณ 200 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศอังกฤษและประเทศอื่นในทวีปยุโรปกำลังเปลี่ยนตัวเองจากประเทศเกษตรกรรมมาเป็นประเทศอุตสาหกรรม โดยมีถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับคนยุคนั้น

สำหรับยุคนั้น ถ่านหินถือเป็นเชื้อเพลิงที่สร้างความสกปรกได้มากที่สุดประเภทหนึ่ง หากไม่มีการบำบัดเขม่าควันที่เกิดจากการเผาไหม้ให้ดี เมื่อตกลงพื้นจะทำลายดิน ถ้าตกลงในแหล่งน้ำก็จะทำให้น้ำเสีย คนที่มีสารพิษจากเขม่าควันสะสมในร่างกายมาก ก็จะเกิดอาการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง

เนื่องจากผลกระทบเหล่านี้ใช้เวลานานกว่าจะแสดงตัว ประกอบกับช่วงนั้นยังขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศน์ จึงปล่อยให้ความเสียหายเกิดขึ้นทีละนิดสะสมไปเรื่อยๆ จนในที่สุดสภาพแวดล้อมและสุขภาพของคนนับล้านที่อาศัยอยู่ในย่านอุตสาหกรรมก็ถูกทำร้ายจนเสียหายอย่างรุนแรงไปแล้ว

สภาพแวดล้อมของประเทศเหล่านี้เสื่อมโทรมถึงขีดสุด บางพื้นที่ควันจากถ่านหินบดบังท้องฟ้าจนแทบไม่มีแสงแดดส่องลงมา คนต้องหายใจเอาอากาศเสียเข้าไปอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แม่น้ำหลายสายปนเปื้อนไปด้วยมลพิษจนแทบไม่มีสิ่งมีชีวิตชนิดไหนอยู่ได้เลย

มาวันนี้ ประเทศเหล่านั้นส่วนใหญ่ได้หลายเป็นประเทศแนวหน้าทางเศรษฐกิจของโลก บ้านเมืองมีการพัฒนา สภาพแวดล้อมดีน่าอยู่อาศัย ดูไปแล้วประหนึ่งว่า การเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม การตกระกำลำบากของหลายในรุ่นก่อนๆ ก็คือต้นทุนในการพัฒนาประเทศให้มาถึงจุดที่อยู่ในวันนี้

แม้ว่าภาพรวมของประวัติศาสตร์ชวนให้เชื่อว่าเส้นโค้งคุซเน็ทซ์เป็นเรื่องจริง แต่ข่าวการส่งออกขยะของประเทศร่ำรวยทั้งหลายก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ทำให้เกิดข้อกังขาว่า ความรวยจะช่วยให้คนมีจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมจริงได้จริงหรือ

บางทีทางที่เหมาะกว่าคือการมองว่าสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาเป็นฝาแฝดที่ต้องได้รับการเอาใจใส่ทั้งคู่ เพราะระบบนิเวศน์มีขีดจำกัดในการรับมือกับปัญหาสภาพแวดล้อม เมื่อใดที่ปัญหานี้เกินกว่าขีดจำกัดของระบบ ระบบจะล้มเหลวไม่สามารถกลับมาสู่สภาพเดิมได้อีก การแกล้งปิดตาทำเป็นมองไม่เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อม ก็เป็นเพียงการซุกปัญหาไว้ใต้พรมเท่านั้น

จริงอยู่ที่ การผู้รับขยะไม่พึงประสงค์เหล่านี้ถือเป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ จนอาจทำให้หลายคนร่ำรวยขึ้นมา แต่ความรวยเช่นนี้ เป็นความรวยของคนที่มีความคิดคับแคบ เอาแต่ได้ อยากได้เงินง่าย ไม่คิดถึงผลที่จะเกิดขึ้นตามมา ลองคิดกันแบบสุดโต่งว่าประเทศไทยยอมกลายเป็นศูนย์กลางขยะโลก เชื่อว่าแค่ไม่กี่ปี คงมีเงินไหลเข้าประเทศจำนวนมาก เงินเหล่านี้อาจจะพอให้เรามีกินมีใช้ แต่ยังไงเสีย มันก็คงไม่มากพอจะมาชดเชยกับการเจ็บไข้ได้ป่วย และความสูญเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสภาพแวดล้อมของประเทศ

คำถามที่ต้องขบคิดกันให้ตกในระดับสังคม คือ เราจะส่งต่อมรดกแบบไหนให้กับลูกหลาย ความมั่งคั่งที่มาพร้อมพิษร้าย หรือความมั่งคั่งที่มาพร้อมกับความมั่นคงและยั่งยืน