ราชนีติ : วิถีพระราชา มรรคาผู้นำ (10)

ราชนีติ : วิถีพระราชา มรรคาผู้นำ (10)

ตอนที่แล้วได้กล่าวถึงคาถาบทที่ 89-98 เรื่องการบำรุงรักษาราษฎร การคัดเลือกที่ปรึกษาและการคบมิตร รวมถึงการบำรุงมิตร

ในตอนนี้ ขอข้ามไปเริ่มต้นที่คาถาบทที่ 113 ดังนี้

คาถาบทที่ 113 เมื่อพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างปราการ ป้อม คู ประตู หอรบ ศัสตราวุธยุทธภัณฑ์ครบถ้วน ฝึกซ้อมไว้มิขาด ท้าวเธอก็ทรงดำรงพระราชอาณาเขตไว้ได้

คาถาบทที่ 114 ใช่แต่เท่านั้น พระเจ้าอยู่หัวยังจะต้องบำรุงบ้านเมืองให้มีกองทัพช้าง กองทัพม้า กองทัพรถ และกองทัพบกราบ ให้บริบูรณ์ ให้มีแพทย์ผู้สามารถ ให้มีนายช่างต่างประเภท ให้มีพราหมณ์ ให้มีนักปราชญ์ราชบัณฑิต และการอื่นๆ อีก และทรงปกครองต่อไพร่ฟ้าเสมอพระองค์

(ขอข้ามคาถาบทที่ 115-118 เพราะเป็นการขยายความคาถาบทก่อนๆ ความหมายซ้ำกัน)

คาถาบทที่ 119 พระเจ้าอยู่หัวเปรียบเหมือนลำต้น คลังเปรียบเหมือนพื้นที่ พระเจ้าอยู่หัวเปรียบเหมือนกิ่ง คลังเปรียบเหมือนลำต้น พระเจ้าอยู่หัวไร้ทรัพย์เปรียบเหมือนนกปีกหัก ดังฤๅจะทำอะไรได้

คาถาบทที่ 120 ทรัพย์เปรียบเหมือนคุณ คือดวงตาซึ่งเป็นใหญ่ของจอมราชย์ ผู้ทรงปรารถนารูปารมณ์เป็นต้น เหตุนั้นพระเจ้าอยู่หัวต้องทรงทำความเพียร เพื่อสำเร็จลาภ การอารักขา และความเจริญของท้าวเธอเองให้บริบูรณ์

คาถาบทที่ 121 พระราชาธิบดี ต้องรักษาพระราชอาณาจักรของพระองค์ ทั้งไพร่พล ทั้งข้าเฝ้าที่ภักดีในพระองค์ ทั้งเศรษฐีคหบดี และแม้คนร้าย และต้องป้องกันคลังหลวงอย่างกวดขัน เพราะอย่างนั้นจึงเชื่อว่าทรงปกปักรักษาอาณาประชาราษฎร์

คาถาบทที่ 122 พระราชาธิบดีต้องไม่เก็บส่วยอากรในไร่นาให้เกินพอดี เมื่อมีความจำเป็นก็ต้องแสดงเหตุผล เพราะเมื่อเก็บเกินพอดีไปหรือไม่เป็นธรรม พสกนิกรก็จะติเตียน และความล้มเหลวของการคลังก็จะเกิดขึ้น

(ขอข้ามคาถาบทที่ 123-125 เนื้อความซ้ำกับคาถาบทที่ผ่านมา)

คาถาบทที่ 126 คนมีบุญไม่ต้องขวนขวายก็บรรลุประโยชน์ที่ต้องการได้สมใจตามคราวนั้นๆ เหมือนงูเหลือมนอนอยู่กับที่ก็มีอาหารมาให้ถึงปากฉะนั้น

คาถาบทที่ 127 ผลไม้ที่ยังไม่สุก อยู่ในที่ที่สอยยาก คนเป็นอันมากก็ยังพากเพียรสอยให้ลำบากเปล่าๆ ผลไม้ชนิดนั้นไม่ทำให้สำเร็จประโยชน์ได้เลย ส่วนผลไม้ที่สุกและหล่นลงมาเองย่อมเป็นสาธารณะแก่คนทั้งหลาย ใช่แต่เท่านั้น ผลไม้หล่นเอง ไม่ต้องสอยนั้น รสก็อร่อย กินก็ชื่นใจ

คาถาบทที่ 128 คุณธรรมคือว่า ง่าย 1 เงี่ยหูฟัง 1 ตั้งอกตั้งใจเล่าเรียน 1 จำได้แม่นยำ 1 บอกวิชาที่ได้เรียนและที่จำไว้ได้ 1 ความรู้ชัด 1 เข้าใจดีในคุณชาตินั้นๆ 1 ทั้ง 7 นี้จัดว่าเป็นคุณที่แท้

คาถาบทที่ 129 พญาช้างที่ทรงคุณอันสามารถ เพราะเหตุที่ตกมันเพียงตัวเดียวเท่านั้น ก็ยังฆ่าพลรบด้วยความองอาจ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียวเท่านั้น เสด็จเหนือคชสารทำยุทธหัตถีก็ยังทรงชนะศัตรูได้ เพราะเหตุนั้นเขาจึงยอมให้พระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นจอมทัพ เพราะทรงพระกำลังยิ่งกว่าช้าง ภายหลังที่ทรงทำยุทธหัตถีแล้ว

คาถาบทที่ 130 คนฉลาด หาความรู้ไว้เพื่อสำรวม รักษาความสำรวมไว้เพื่อธรรมะ ควรจับจ่ายใช้สอยเพื่อทำทาน แต่นั้นควรทรงธรรมะเพื่อนิพพานเป็นที่สุด

คาถาบทที่ 131 ทาน 1 ศีล 1 การบริจาค 1 ความซื่อตรง 1 อัธยาศัยอ่อนโยน 1 เพียรเผาบาป 1 ไม่โกรธ 1 ไม่เบียดเบียน 1 ขันติ 1 ไม่ร้ายกาจ 1 ทั้ง 10 นี้เรียกราชธรรม พระราชาธิบดีผู้ทรงธรรมต้องประพฤติเป็นวัตรโดยความไม่ประมาท

คาถาบทที่ 132 ทานการให้ 1 ช่วยเหลือกันตามควร 1 พูดน่ารัก 1 วางตนเสมอต้นเสมอปลาย 1 4 อย่างนี้เป็นอุบายเครื่องผูกใจกันที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้

(คัดจากฉบับแปลโดยนายทอง หงส์ลดารมภ์)

คาถาที่คัดมาข้างต้นนี้ พิเคราะห์แล้วเห็นได้ว่าเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนของพระราชา รวมถึงผู้นำทั้งหลายก็สามารถนำไปปรับใช้ได้ดุจเดียวกัน โดยมีประเด็นใหญ่ๆ คือ

1.การเตรียมพร้อมในการป้องกันประเทศ ด้วยการเตรียมกำลังทหารให้พร้อมทุกหมู่เหล่า เป็นการประกันความปลอดภัยจากศัตรูภายนอกพระราชอาณาจักร

 2.การสร้างความสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ การสร้างความเจริญแก่พระราชอาณาจักร การบำรุงนักปราชญ์ราชบัณฑิต สมณะชีพราหมณ์ ซึ่งถือว่าเป็นภูมิปัญญาของสังคมให้บริบูรณ์ ย่อมเป็นหลักประกันถึงความมั่นคงของพระราชอาณาจักร

3.การปฏิบัติตนให้อยู่ในธรรมะขององค์พระราชาซึ่งเป็นผู้เป็นใหญ่เหนือคนทั้งปวงในพระราชอาณาจักร ดังในคาถาบทที่ 131 ซึ่งเรารู้จักในชื่อทศพิธราชธรรม 10 และคาถาบทที่ 132 ที่เรารู้จักในชื่อ สังคหวัตถุ 4

เมื่อพระราชาพระองค์ใดประพฤติปฏิบัติตามหลักดังกล่าวแล้ว ก็เชื่อได้ว่าพระราชาพระองค์นั้นทรงเป็นพระราชาผู้ทรงธรรม

ผู้นำทั้งหลายก็เช่นกัน