สคบ.อำนาจควบคุมการให้เช่าซื้อ(รถ-จยย.)ของไฟแนนซ์ ?

สคบ.อำนาจควบคุมการให้เช่าซื้อ(รถ-จยย.)ของไฟแนนซ์ ?

สคบ. ได้ออกประกาศคณะกรรมการ(คกก.)ว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์(จยย.)

เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนพิเศษ 35 ง หน้า 6/16 ก.พ. 2561) เพื่อควบคุมสัญญาการประกอบกิจการค้าให้เช่าซื้อรถยนต์และจยย.ของไฟแนนซ์ ซึ่งจะมีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2561 เป็นต้นไป

ผู้เขียนได้เคยเสนอบทความ “สคบ. มีอำนาจออกประกาศฯ ควบคุมสัญญาเช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัย หรือไม่ ?” (http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/644565 ) ซึ่งมีหลักเช่นเดียวกันในการพิจารณาว่า คกก.ว่าด้วยสัญญา จะมีอำนาจออกประกาศควบคุมสัญญากับธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และจยย. ได้หรือไม่ จึงต้องใช้ความเห็นทางกฎหมายที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความไว้ และแนวปฏิบัติการยกเลิกประกาศฯ ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องนั้นไว้เป็นการเฉพาะแล้ว มาเป็นหลักในการพิจารณา ดังนี้

1.ขอบเขตการใช้อำนาจออกประกาศ ด้วยพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติว่า “ในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยการใดได้บัญญัติเรื่องใดไว้โดยเฉพาะแล้วให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วย การนั้น และให้นำบทบัญญัติในหมวดนี้ไปใช้บังคับได้เท่าที่ไม่ซ้ำหรือขัดกับบทบัญญัติดังกล่าว ...บทบัญญัตินี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความไว้ตามบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง คกก.ว่าด้วยสัญญาจะมีอำนาจกำหนดให้การให้บริการสาธารณูปโภคของรัฐวิสาหกิจเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาได้หรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11) มีความเห็นว่า “เมื่อกฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการสาธารณูปโภคได้บัญญัติเรื่องอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจในการวางนโยบาย และการกำหนดราคาค่าบริการสาธารณูปโภคไว้โดยเฉพาะแล้วตามนัยมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522  คกก.ว่าด้วยสัญญาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 จึงไม่อาจใช้อำนาจที่จะกำหนดให้บริการสาธารณูปโภคของรัฐวิสาหกิจเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาได้ (เรื่องเสร็จที่ 132/2544) และ เรื่องเสร็จที่ 412/2528 กับ เรื่องเสร็จที่ 693/2549 คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีคำวินิจฉัยทำนองเดียวกัน

2.คกก.เฉพาะเรื่อง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ได้ยกเลิกประกาศของ คกก.เฉพาะเรื่อง ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องนั้นไว้เป็นการเฉพาะแล้ว เพื่อให้เรื่องดังกล่าวบังคับใช้ตามกฎหมายนั้น ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เช่น ประกาศ คกก.ว่าด้วยฉลาก (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2553 เรื่อง ยกเลิกประกาศ คกก.ว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2546) เรื่อง ให้ปุ๋ยชีวภาพเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก เนื่องจากปัจจุบันได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ. 2518 โดย พ.ร.บ.ปุ๋ย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ให้มีบทบัญญัติเรื่องการควบคุมปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์ไว้โดยเฉพาะแล้ว สมควรยกเลิกประกาศ คกก.ว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2546) เรื่อง ให้ปุ๋ยชีวภาพเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก เพื่อให้ปุ๋ยชีวภาพบังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยปุ๋ยดังกล่าว (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127/ตอนพิเศษ 18 ง/หน้า 43/5 กุมภาพันธ์ 2553) และมีประกาศฯ ที่ยกเลิกประกาศที่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องนั้นไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 110/ตอนที่ 170/หน้า 91/26 ตุลาคม 2536, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 106/ตอนที่ 25/ฉบับพิเศษ หน้า 1/10 กุมภาพันธ์ 2532, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 103/ตอนที่ 125/ฉบับพิเศษ หน้า 12/22 กรกฎาคม 2529,ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124/ตอนพิเศษ 65 ง/หน้า 58/30 พฤษภาคม 2550

3.มีกฎหมายว่าด้วยการใดได้บัญญัติเรื่องการเช่าซื้อรถยนต์และ จยย. สัญญา และการทวงถามหนี้ ไว้โดยเฉพาะแล้วที่ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการนั้น ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ?

สัญญาเช่าซื้อรถยนต์และ จยย. ที่ผู้บริโภคทำกับผู้ประกอบธุรกิจมีกฎหมาย ว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน กฎหมายว่าด้วยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ว่าด้วยการควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน ลงวันที่ 26 ม.ค. 2515 กฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และกฎหมายว่าด้วยการทวงถามหนี้ บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ดังนั้น ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และ จยย.จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว คกก.ว่าด้วยสัญญา จึงไม่อาจใช้อำนาจที่จะกำหนดให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และ จยย.เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาได้ ตามนัยความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (เรื่องเสร็จที่ 132/2544) และไม่มีผลใช้บังคับตามกฎหมาย (ตามนัยเรื่องเสร็จที่ 693/2549)  

4.ผู้ประกอบธุรกิจควรทำอย่างไรถ้าเห็นด้วยกับบทความนี้ ผู้ประกอบธุรกิจก็คงต้องรีบฟ้องคดีให้ศาลปกครองเพิกถอนประกาศนี้ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รู้ หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี และร้องขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการใด ๆ โดยเร่งด่วน เพื่อชะลอการบังคับใช้ประกาศคกก.ว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และจยย.เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 มิฉะนั้น จะเกิดความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขแก่ผู้ประกอบธุรกิจในภายหลัง เพราะ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 57 บัญญัติว่าผู้ประกอบธุรกิจผู้ใดไม่ส่งมอบสัญญาที่มีข้อสัญญาหรือมีข้อสัญญาและแบบถูกต้องตามมาตรา 35 ทวิ ... ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ทั้งนี้ เพื่อให้ ธปท. บริหารงานของรัฐได้อย่างเป็นเอกภาพ โดยไม่มีประกาศฯ ดังกล่าว มาเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานแต่ประการใด

 

โดย... 

รังสรรค์ กระจ่างตา

อดีตกรรมการว่าด้วยสัญญา สคบ.