ขงจื๊อกับจีนสมัยใหม่

ขงจื๊อกับจีนสมัยใหม่

ถ้าเราอยากเข้าใจวัฒนธรรมจีน เราต้องทำความเข้าใจแนวคิดและคำสอนของขงจื๊อ เช่นเดียวกับที่พุทธศาสนาเป็นพื้นฐานสำคัญของวัฒนธรรมไทย

 แม้ว่าขงจื๊อจะเป็นลัทธิความเชื่อในสมัยโบราณของจีน แต่เราก็ยังคงเห็นอิทธิพลของแนวคิดขงจื๊อได้ในจีนสมัยใหม่ โดยผมขอสรุปเป็น 3 เรื่อง คือ

1.จีนเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา ขงจื๊อเน้นว่าการศึกษาเป็นพื้นฐานของความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม ดังที่ประโยคแรกของหนังสือหลุ่นอวี่ ซึ่งรวบรวมคำสอนของขงจื๊อ ขึ้นต้นด้วยคำพูดว่า “การเรียนและทบทวนสิ่งที่เรียนอยู่เสมอ เป็นความสุขนัก”

ขงจื๊อเองเป็นนักการเมืองที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไร แต่ท่านเป็นนักการศึกษาที่ยิ่งใหญ่และมีลูกศิษย์มากมาย ขงจื๊อบอกว่า ไม่มีใครเกิดมาแล้วเข้าใจทุกอย่าง จึงต้องอาศัยการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ รอบตัว และเพื่อร่วมสร้างชุมชนและสังคมที่ดี

ในประวัติศาสตร์ ชนชั้นสูงของจีนจึงเป็นคนที่มีการศึกษา ข้าราชการจีนในยุคโบราณคัดเลือกมาจากการสอบจอหงวน ซึ่งก็คือการสอบวรรณคดีและคำสอนตามลัทธิความเชื่อของขงจื๊อนั่นเอง ส่วนในจีนสมัยใหม่ เราจะเห็นพ่อแม่คนจีนทุ่มเททุกอย่างเพื่อการศึกษาของลูก เด็กจีนแข่งกันเอาเป็นเอาตายเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย

มีหลายคนวิจารณ์ว่า การศึกษาจีนเรียนหนักเกินไป และเน้นการท่องจำและความรู้ตายตัว แทนที่จะเน้นทักษะต่างๆ และความคิดสร้างสรรค์ แต่นี่เป็นปัญหาที่ “รูปแบบ” ของการศึกษา ไม่ใช่ปัญหาที่ค่านิยมการให้ความสำคัญกับการศึกษา ดังที่คนอเมริกันเชื้อสายจีนเอง ก็ให้ความสำคัญกับการศึกษาของบุตรหลาน และด้วยการศึกษาที่มีคุณภาพในสหรัฐฯ จึงทำให้มีคนอเมริกันเชื้อสายจีนจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการชั้นนำในสหรัฐฯ

  1. จีนเป็นสังคมที่เน้นปฏิบัตินิยมหมายถึง ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์และการปฏิบัติ มีความยืดหยุ่น และเน้นความสำเร็จทางโลก

ลัทธิขงจื๊อไม่ใช่ศาสนา เพราะไม่ได้มีความเชื่อหรือพิธีกรรมที่เคร่งครัดเช่นศาสนาทั่วไป ในความคิดขงจื๊อ คนเราควรทำดี เพราะตัวเราเองก็ปรารถนาให้คนอื่นทำดีกับเรา (ขงจื๊อบอกว่า สิ่งที่เราไม่อยากได้ ก็อย่าไปทำกับคนอื่น) แต่ขงจื๊อไม่ได้มีความคิดว่า คนเราต้องทำดี เพราะบุญ บาป หรือโอกาสจะไปสวรรค์นรกในภพหน้า

มีลูกศิษย์เคยถามขงจื๊อเรื่องชีวิตหลังความตาย ขงจื๊อตอบว่า ชีวิตตอนเป็นๆ นี่ยังเข้าใจกันไม่ถ่องแท้เลย แล้วจะไปสนใจชีวิตหลังความตายทำไม

ความคิดแบบยืดหยุ่น ยังสะท้อนจากคำสอนของขงจื๊อ เช่น ขงจื๊อสอนศิษย์คนหนึ่งว่าตัดสินใจอะไรต้องเด็ดขาดแล้วรีบนำไปดำเนินการทันที แต่สอนศิษย์อีกคนว่า ก่อนทำอะไร ควรทบทวนก่อนให้รอบคอบ อย่าตัดสินใจผลีผลาม ลูกศิษย์คุยกันเองเลยงงว่า ตกลงอาจารย์เห็นว่าควรทำอย่างไร ขงจื๊อบอกว่า คนที่โลเลควรถือหลักแรก ส่วนคนเลือดร้อน ควรถือหลักหลัง ไม่มีหลักเดียวตายตัว

เคยมีหลายคนวิจารณ์ว่า คนจีนเป็นคนลื่นไหลและพลิกแพลงยืดหยุ่นกว่าคนชาติอื่น หรือไปจนถึงไม่มีหลักการ แต่จริงๆ แล้ว ขงจื๊อเองมีหลักการที่เน้นผลลัพธ์ที่ถูกต้อง เพียงแต่ยืดหยุ่นในการปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ท่านปรารถนา

หลายคนยังมองว่า คนจีนขาดมิติทางจิตวิญญาณ เพราะคำสอนของขงจื๊อล้วนเป็นเรื่องของ “โลกนี้” เน้นไปที่ความสำเร็จทางโลก นี่จึงเป็นสาเหตุให้ในประวัติศาสตร์จีน ลัทธิเต๋าและพุทธเข้ามาเติมเต็มมิติทางจิตวิญญาณที่ลัทธิขงจื๊อขาดแคลน คนจีนโบราณจึงนับถือและปรับใช้ทั้ง 3 แนวคิดพร้อมกัน โดยไม่ได้มองว่าขัดแย้งกันหรือต้องทำลายให้เหลือความคิดเดียว (ซึ่งก็สะท้อนความยืดหยุ่นของลัทธิขงจื๊ออีกเช่นกัน)

คนจีนให้ความสำคัญกับความสำเร็จทางโลก เราจึงไม่แปลกใจที่เห็นจีนเน้นการสร้าง การสู้ การเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างเมกะโปรเจคใหญ่ๆ มากมาย ซึ่งด้านลบก็คือ ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาความเครียดความกดดันในสังคมอย่างแพร่หลาย

  1. จีนให้ความสำคัญกับเสถียรภาพในสังคมยุคทองในอดีตของจีนคือยุคสงบสุข รุ่งเรือง ส่วนยุคมืดคือยุคแห่งความวุ่นวาย เมื่อใดที่สังคมวุ่นวาย แปลว่าผู้ปกครองเริ่มไม่ได้รับอาณัติสวรรค์แล้ว

มีลูกศิษย์เคยถามหลักในการปกครองจากขงจื๊อ ขงจื๊อตอบว่า ต้องมีอาหารเพียงพอ มีกองทัพพร้อมรบ และประชาชนมีความเชื่อมั่นศรัทธาในผู้ปกครอง

ลูกศิษย์ถามต่อว่า ถ้าจำเป็นต้องตัดทิ้งอย่างหนึ่ง จะตัดทิ้งอะไรก่อน ขงจื๊อตอบว่า “ตัดทิ้งกองทัพ” ลูกศิษย์ถามต่อว่า ถ้าจำเป็นต้องตัดทิ้งอีกอย่าง จะทิ้งอะไรต่อมา ขงจื๊อตอบว่า “ตัดทิ้งอาหาร” แต่ถ้าคนไม่เชื่อมั่นในผู้ปกครองเมื่อใด ประเทศอยู่ไม่ได้

พรรคคอมมิวนิสต์จีนในปัจจุบันดูเหมือนจะยึดหลักคิดนี้ โดยเน้นการสร้าง “สังคมสมานฉันท์” (ซึ่งนี่ก็เป็นคำของขงจื๊อ) และเน้นงานประชาสัมพันธ์และโฆษณาชวนเชื่อความสำเร็จของรัฐบาล ควบคุมสื่ออย่างรัดกุม เพื่อรักษาความเชื่อมั่นศรัทธาจากประชาชน ส่วนคนทั่วไปก็ดูพอใจ เพราะประเทศสงบ มีเสถียรภาพ ทำมาหากินได้ ไม่วุ่นวายเหมือนช่วงสงครามกลางเมืองหรือช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ตรงนี้จึงแตกต่างจากลักษณะของสังคมตะวันตก ซึ่งเป็นสังคมที่มีความวุ่นวายและขัดแย้ง (ทั้งภายในและภายนอก) มาตั้งแต่อดีต โจทย์ของสังคมตะวันตกจึงอยู่ที่จะวางกลไกและระบบเพื่ออยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลาย วุ่นวายและซับซ้อนได้อย่างไร ดังนั้นจึงเกิดการสร้างระบบประชาธิปไตยขึ้นนั่นเอง

คำถามก็คือ สังคมและเศรษฐกิจจีนสมัยใหม่ที่มีความหลากหลายซับซ้อนขึ้นทุกวัน สุดท้ายจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่ หรือฐานคิดทางวัฒนธรรมแบบขงจื๊อจะยังฝังรากแน่นได้

และนี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีน (ซึ่งสมัยก่อนเกลียดชังขงจื๊อ) มาวันนี้กลับดูรักขงจื๊อขึ้นมา เพราะความคิดขงจื๊อโดยเนื้อแท้แล้ว เป็นความคิดอนุรักษ์นิยม และพรรคคอมมิวนิสต์จีนเองตอนนี้ก็กลายร่างเป็นพรรคชาตินิยม ที่ต้องการเรียกความชอบธรรมจากการฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของชาติจีนและวัฒนธรรมจีน ซึ่งวัฒนธรรมจีนก็คือวัฒนธรรมขงจื๊อนั่นเอง

ชายชรา ซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อ 2,500 ปี ที่แล้ว จึงยังถูกปลุกขึ้นมาเสมอ