คำถามที่เรา (ไม่) เรียนรู้จากการประมูลคลื่นความถี่

คำถามที่เรา (ไม่) เรียนรู้จากการประมูลคลื่นความถี่

เป็นที่ทราบกันแล้วว่าการประมูลคลื่น 1800 MHz ครั้งล่าสุดนี้ไม่มีบริษัทเอกชนรายไหนที่สนใจเข้าร่วมการประมูล

โดยทั้ง 3 ค่ายเอกชนรายใหญ่ให้เหตุผลว่า ราคาตั้งต้นประมูลนั้นสูงเกินไป และหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการประมูลไม่เหมาะสม ซึ่งทางด้านเลขาธิการคณะกรรมการ กสทช. ได้ชี้แจงว่าราคาประมูลจำเป็นต้องอิงราคาประมูลครั้งก่อน และการแบ่งใบอนุญาตเป็นใบละ 15 เมกะเฮิรตช์ ก็ยึดถือตามผลสอบถามเสียงส่วนใหญ่จำนวนสองในสามจากทั้งหมดสามค่ายเอกชนรายใหญ่แล้ว

เราจะสรุปบทเรียนอะไรได้บ้างจากปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

ประเด็นแรก เรื่องราคาประมูลตั้งต้นนั้นสูงเกินจริงหรือไม่

ตามความเห็นของค่ายเอกชนและคนอีกจำนวนไม่น้อย ที่บอกว่าสูงเกินไปนั้นให้เหตุผลในทำนองว่า “บริษัทเอกชนเหล่านี้น่าจะทราบถึงต้นทุนและมูลค่าทางธุรกิจของคลื่นความถี่เป็นอย่างดี จึงได้คำนวณความคุ้มค่าทางการลงทุนออกมาแล้วพบว่า ไม่คุ้นค่าการลงทุน จึงพากันไม่เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ แต่จะขอรอไปก่อนดีกว่า เพราะครั้งหน้าราคาอาจจะถูกลงหรือมีคลื่นอื่นที่น่าสนใจกว่า” แต่ทาง เลขาธิการ กสทช. ก็ได้ชี้แจ้งว่า ราคานี้ก็ยึดอิงตามราคาคราวก่อนที่มีบริษัทเอกชนประมูลไปแล้ว แต่ก็มีผู้โต้แย้งว่าราคาประมูลในแต่ละครั้งนั้นอาจไม่จำเป็นต้องเท่ากันก็ได้ ทั้งนี้น่าจะขึ้นอยู่กับสถานะการณ์เฉพาะในแต่ละครั้งมากกว่า ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ใครควรเป็นผู้ตัดสินว่าสถานการณ์ในแต่ละกรณีเป็นเช่นไร เท่าที่ฟังมา รู้สึกว่า ก็ให้ไปดูจากการตัดสินใจของบริษัทเอกชนทั้งหมดที่พากันไม่เข้าร่วมประมูลก็จะเป็นตัวชี้ได้ว่า ราคาครั้งนี้แพงเกินไป เพราะเอกชนทั้ง 3 รายเห็นตรงกันว่าไม่คุ้มค่าการลงทุน คำถามที่ตามมาก็คือคำถามของประเด็นที่ 2

ประเด็นที่ 2 ที่เชื่อมโยงกันคือ ทำไมการประมูลคลื่น 900 MHz เมื่อปี พ.ศ. 2558 ที่แจสดันราคาไปจนชนะที่ 76,000 ล้านบาทนั้น จึงมักถูกมองว่าเป็นราคาที่ไม่สมเหตุสมผล (เพียงเพราะแจสไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้และทิ้งใบอนุญาตไปเนื่องจากข้อผิดพลาดของกฎระเบียบเก่าที่เปิดช่องไว้) เพราะการที่แจสสามารถดันราคาขึ้นไปได้โดยไม่เป็นการตบมือข้างเดียวนั้น ก็เป็นเพราะยังมีบริษัทเอกชนรายใหญ่อื่นที่ดันราคาสู้อยู่ด้วยใช่หรือไม่ แต่ขณะเดียวกัน เราก็อ้างว่าบริษัทเหล่านี้รู้ต้นทุนที่แท้จริงและรู้มูลค่าของคลื่นจริง ๆ ซึ่งตัวแทนของบริษัทเหล่านี้ที่เข้าสู่ ”ห้องประมูล” ก็เป็นผู้บริหารระดับสูงของแต่ละบริษัทที่รู้เรื่องเกี่ยวกับธุรกิจนี้เป็นอย่างดี (ไม่ใช่ตาสีตาสาที่ไหน) ก็น่าจะดูกันออกตั้งแต่แรกก่อนการเข้าประมูลแล้วหรือไม่ว่า คู่แข่งทั้ง 4 รายที่เข้าสู่การประมูลในครั้งนั้น เป็นผู้มีศักยภาพที่จะเข้ามาเป็นผู้แข่งที่สำคัญหรือเพียงต้องการเข้ามาเพื่อปั่นราคาเฉย ๆ (เพราะถ้าดูไม่ออก ก็จะขัดแย้งกับประเด็นแรกข้างต้น ที่บอกว่า บริษัทรายใหญ่ทั้ง 3 รู้ต้นทุนและมูลค่าทางธุรกิจในตลาดของคลื่นความถี่เหล่านี้เป็นอย่างดี จนเราใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่า การประมูลครั้งล่าสุดนั้นล่ม เพราะราคาสูงเกินจริง ใช่หรือไม่) ดังนั้น เขาก็จะต้องทราบว่าราคาที่สู้กันอยู่นั้นไม่ใช่ราคาที่สมเหตุสมผลใช่หรือไม่ แล้วยังดันแข่งราคาสู้กันต่อไปอีกทำไม ทั้ง ๆ ที่มีความเสี่ยงว่า คู่แข่งในการประมูลของตนในเวลานั้นอาจหยุดสู้ประมูลที่ราคาก่อนหน้านั้นเมื่อไหร่ก็ได้ใช่หรือไม่ ซึ่งหมายความว่าตัวเองจะต้องพร้อมที่จะรับคลื่นนั้นไปในราคาที่สูงเกินจริงทันทีใช่หรือไม่ ดังนั้นการดันราคาที่สูงขึ้นไปแบบนั้นก็เพื่อเป็นการกีดกันคู่แข่งขันใช่หรือไม่ (ซึ่งคู่แข่งรายใหม่ที่มีศักยภาพไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับการประมูลครั้งล่าสุดนี้) 

นอกจากนี้ เมื่อแจสทิ้งใบอนุญาตไปแล้ว พอมีการเปิดประมูลคลื่น 900 MHz ใบที่แจสทิ้งไปในปี พ.ศ. 2559 ทำไมจึงมีเอกชนรายใหญ่เข้ามาจ่ายในราคาที่แจสทิ้งไป ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่สู้ในราคานี้แล้ว หรือเป็นเพราะมีข้อแตกต่างสำหรับการประมูลเที่ยวหลังตรงที่บริษัทรายใหญ่มั่นใจว่าไม่ต้องเผชิญกับการแข่งขันของผู้แข่งหน้าใหม่ที่มีศักยภาพ เพราะคู่แข่งรายที่ 4 นั้นได้ “ต้องคำสาปของผู้ชนะ” หรือได้ทำตามความตั้งใจในการปั่นราคาและทิ้งใบอนุญาตกันแน่

คำถามหลักที่น่าจะเสียเวลาถกเถียงกันให้มากจึงน่าจะเป็นว่า เมื่อไม่มีคู่แข่งรายใหม่ที่มีศักยภาพที่จะเป็นผู้สร้างการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่มีผู้ประกอบการน้อยรายเช่นธุรกิจโทรคมนาคมแล้ว (ส่วนคำถามที่ว่า การมีอยู่เพียงสามรายใหญ่นั้น เป็นจำนวนที่เหมาะสมหรือไม่ ก็ให้คิดง่าย ๆ จากคุณภาพของบริการและราคาที่พวกเราได้รับและจ่ายอยู่ในปัจจุบันว่าเหมาะสมเป็นธรรมหรือไม่) และเมื่อประกอบกับข้อจำกัดของ กสทช. ที่แม้จะมีอำนาจตามกฎหมาย แต่ก็ติดขัดเรื่องคลื่นอีกจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในมือของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งภายใต้โครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ การเมืองไทยเช่นในปัจจุบัน กสทช.จะทำอะไรได้หรือไม่ ที่จะช่วยให้การประมูลคลื่นความถี่นั้นตอบโจทย์จริง ๆ ในเรื่องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรคลื่นความถี่ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม