ผันแปรตามโลก

ผันแปรตามโลก

ความเปลี่ยนแปลงอาจทำให้หลายบริษัทพลาดเป้าหมายได้

ช่วงต้นเดือนมิถุนายนปีนี้มีสถานการณ์ระดับโลก ที่สร้างความผันผวนให้เกิดขึ้นมากกว่าที่คนทั่วไปจะจินตนาการได้ เพราะช่วงเวลาไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ประชาคมโลกเพิ่งได้ถอนหายใจที่ขั้วความขัดแย้งใน “สงครามนิวเคลียร์” ระหว่างเกาหลีเหนือ-สหรัฐอเมริกา ได้ยุติลงอย่างเป็นทางการ

แต่ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันเราก็จะเห็น “สงครามการค้า” ระหว่างประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ปะทุขึ้นอย่างรุนแรงให้เราได้ใจหายใจคว่ำกันอีกรอบ ประหนึ่งยุติสงครามในรูปแบบเดิมแล้วหันมาก่อสงครามในรูปแบบใหม่ ที่อาจสร้างความเสียหายให้กับประเทศต่าง ๆ ได้ไม่แพ้กันเลย

ภาพความขัดแย้งในการประชุม จี 7 หรือ การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ที่เราเห็นผ่านสื่อหลัก คือภาพที่ประธานาธิบดีทรัมป์ นั่งกอดอกอย่างท้าทายต่อหน้านางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และผู้นำประเทศต่าง ๆ บทสรุปของการประชุมสุดยอดครั้งก็เป็นไป ตามภาพข่าวที่คนทั่วโลกได้เห็น นั่นคือ ประธานาธิบดีทรัมป์ ไม่ยอมรับการประชุมในครั้งนี้ และไม่ลงนามรับรองในแถลงการณ์ร่วมปิดประชุม นับเป็นการแสดงออกอย่างรุนแรง ถึงความไม่พอใจและบั่นทอนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก

หากย้อนเวลาไปก่อนหน้านี้ ภาวะเศรษฐกิจโลกก็ดูจะมีเสถียรภาพจากการค้าเสรี ที่เปิดโอกาสให้ทุกประเทศค้าขายกันอย่างเป็นธรรม จนกระทั่งไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้าประชุมจี 7 สหรัฐฯ ก็ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม จนทำให้สหภาพยุโรป เม็กซิโก และแคนาดาประท้วงกันวุ่นวายจนนำมาสู่การตอบโต้ทางการค้าเข้าใส่กัน

ประเด็นสำคัญก็คือประเทศพันธมิตรเหนียวแน่นอย่างแคนาดาก็ถูกประธานาธิบดีทรัมป์โจมตีอย่างรุนแรง โดยเขาโทษว่าจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดาบิดเบือนคำแถลงการณ์จนทำให้เขาไม่อาจลงนามในคำแถลงการณ์ดังกล่าวได้

หากจะกล่าวว่า สงครามการค้าได้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการแล้วก็คงจะไม่ผิดนัก เนื่องจาก การที่ทรัมป์ไม่ลงนามในแถลงการณ์ร่วม และยังเดินทางกลับก่อนกำหนดเป็นการแสดงออกชัดเจนถึงการไม่ประณีประนอมพร้อมชนกับทุกความขัดแย้ง สิ่งที่เราจะได้เห็นนับจากนี้คือ การตั้งกำแพงภาษีเข้าใส่กันของประเทศชั้นนำ สร้างความผันผวนทางการค้าจนยากเกินจะคาด ซึ่งเป็นสิ่งที่นักธุรกิจ และนักลงทุนกังวลที่สุด เพราะสถาณ์การณ์จะดีหรือร้าย ล้วนเป็นสิ่งที่เขายอมรับได้ แต่หากไม่รู้ว่าจะดีหรือร้าย หรือไม่รู้ว่าจะรุนแรงแค่ไหน จะทำให้เขาวางแผนรับมือได้ลำบาก

หันกลับมาดูที่บ้านเรา นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว สิ่งที่คนในเมืองคุยกันจนเหมือนเป็นเรื่องปกติ ก็คือปัญหาจราจรที่ดูจะรุนแรงขึ้นในทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานครฯ เราอาจใช้เวลาอยู่ในบางสี่แยกนานนับชั่วโมงเป็นเรื่องปกติ และกว่าจะไปถึงที่หมายก็อาจกินเวลามากกว่าสองชั่วโมงอยู่บ่อย ๆ

ปัญหาจราจรที่เกิดขึ้นนี้ ผมคิดว่ามีความคล้ายคลึงกับนโยบายรัฐบาลไทยอยู่ไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่นนโยบาย 4.0 ที่ขณะนี้กำลังเร่งทุกกระทรวง ทุกกรม ให้รีบปฏิรูปตัวเองกันขนานใหญ่ เสมือนเราติดอยู่กลางแยกไฟแดงแล้วขับรถออกมาพร้อม ๆ กัน บางคันไปทางซ้าย บางคันตรงไป แต่ไม่มีใครรู้ว่าขับไปแล้วจะติดขัดที่แยกข้างหน้ามากแค่ไหน

ปัญหารถติดจึงเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของการแก้ปัญหาในประเทศ เพราะหลาย ๆ นโยบายที่ออกมาแล้วด้วยความตั้งใจและเจตนาที่ดี แต่เมื่อเจอสถานการณ์จริงที่มีตัวแปรมากมายจึงทำให้เราบอกไม่ได้ว่าจะเสร็จเมื่อไร จะทำได้อย่างไร เหมือนกับขับรถออกมาแล้วไม่รู้ว่าจะไปทางไหน เพราะต้องคอยเปลี่ยนเส้นทางเลี่ยงรถติดตลอดจนไม่อาจบอกได้ว่าจะไปถึงที่หมายเมื่อใด

เช่นเดียวกับการทำธุรกิจที่บริษัทอาจเคยตั้งเป้าหมายเอาไว้ แม้คอยผลักดันให้ถึงเป้าอยู่เสมอ แต่ก็อาจมีเหตุการณ์ที่ทำให้พลาดเป้าไปได้ เพราะมีปัจจัยต่าง ๆ มากมาย สร้างความผันผวนให้เกิดขึ้นจนบริหารยาก ซึ่งบทบาทของผู้บริหารในทุกวันนี้จึงขึ้นอยู่กับการควบคุมปัจจัยภายในและรับมือกับปัจจัยภายนอกให้ดีที่สุด