ธุรกิจท่าเรือผลักดันนโยบายไทยแลนด์ 4.0 อย่างไร

ธุรกิจท่าเรือผลักดันนโยบายไทยแลนด์ 4.0 อย่างไร

ประเด็นที่กำลังเป็นหัวข้อพูดคุยในกลุ่มผู้บริหารบริษัทข้ามชาติ คงหนีไม่พ้นเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล

สำหรับบริษัทข้ามชาติแล้ว พวกเรามีความรู้ความเชี่ยวชาญในระดับโลก ตลอดจนมีทรัพยากรที่สามารถช่วยผลักดันให้นโยบายนี้เดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง แต่ขณะที่ผู้คน ต่างก็มีมุมมองที่หลากหลายเกี่ยวกับนโยบายนี้ ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ บางคนถึงขนาดเยาะเย้ยถากถางนโยบายนี้ว่า เป็นเพียงมาตรการประชาสัมพันธ์จากรัฐบาล จะเห็นได้จากสื่อต่างๆ ที่บางครั้งเลือกใช้คำวิจารณ์นโยบายนี้ว่าเป็นเพียง “มาตรการประชาสัมพันธ์” “การใช้วาทกรรม” หรือ “สโลแกนใหม่” ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยว่า เป็นเพียงความเพ้อฝันของรัฐบาล

ส่วนตัวแล้ว ผมมีมุมมองในเชิงบวกมากกว่า โดยเชื่อนโยบายนี้มีคุณประโยชน์มากมายที่เราจะได้รับจากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งความจริง คุณประโยชน์ที่ว่าได้ส่งผลแล้ว และมีหลากหลายภาคส่วนธุรกิจกำลังได้รับผลอันดีงาม ทั้งนี้ ในฐานะบริษัทระดับโลก เราถือว่าได้มีโอกาสเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายนี้ ผมเชื่อว่าเป็นหน้าที่ของผมที่ต้องอธิบายและชี้แจงให้เห็นภาพ เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นเพื่อนๆ ผู้บริหารในบริษัทข้ามชาติรายอื่นๆ ให้เข้าใจในนโยบายนี้มากขึ้น

ผมได้อ่านข่าวแจ๊ค หม่า เดินทางมาเมืองไทยเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และประกาศการลงทุนมูลค่า 1.1 หมื่นล้านของ อาลีบาบา กรุ๊ป เพื่อลงทุนในธุรกิจดิจิทัล และอีคอมเมิร์ซ ข่าวใหญ่นี้ ทุกคนให้ความสนใจเนื่องจากเป็นการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อกับผู้บริโภคโดยตรง แต่ยังมีอีกหลายอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยี ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและเป็นท่าเรือที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ท่าเรือนับเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็นอย่างมากต่อการขยายตัวในเชิงมหภาค แต่สื่อมวลชนมักไม่ให้ความสนใจ ไม่เขียนถึง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้มีประเด็นดีๆ มากมายให้เขียนและวิจารณ์ถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เชื่อมโยงกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ท่าเรือเป็นมากกว่าประตูสู่การค้า และนับเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบังที่เป็นศูนย์กลางของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หรือในอีกนัยหนึ่งคือส่วนสำคัญภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 การก่อสร้างและพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังที่กำลังเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยหรือภูมิภาคอาเซียน แต่นับเป็นครั้งแรกในโลก ซึ่งโครงการท่าเทียบเรือชุด D (ดี) ของฮัทชิสัน พอร์ท เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือที่ล้ำสมัยที่สุดในโลก นำเอาเทคโนโลยีระดับโลกมารวมกันไว้ในที่เดียวกันเป็นครั้งแรก อาทิ ระบบปฏิบัติงานควบคุมรถปั้นจั่นยกตู้สินค้าควบคุมโดยระบบปฎิบัติงานระยะไกล (remote control crane operations) และแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือสำหรับผู้ใช้งานและระบบติดตามแบบอิเล็คทรอนิคส์ (e-tracking systems)

ท่าเทียบเรือชุด D (ดี) จะใช้เงินลงทุนราว 2 หมื่นล้านบาท (ราว 600 ล้านเหรียญสหรัฐ) ส่งผลให้โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูงสุดในประเทศไทย ท่าเทียบเรือชุด D (ดี) จะติดตั้งปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าขนาดใหญ่ (เป็นหนึ่งในปั่นจั่นขนาดใหญ่ที่สุดในโลก) พร้อมระบบควบคุมการปฏิบัติงานจากระยะไกล ช่วยให้การทำงานรวดเร็ว แม่นยำ ยกระดับประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการทำงาน  หลังก่อสร้างเสร็จสิ้น ท่าเทียบเรือชุด D (ดี) ไม่เพียงจะเพิ่มศักยภาพในการรองรับตู้สินค้าได้จำนวน 3.5 ล้านทีอียู (หน่วยนับตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของท่าเรือแหลมฉบัง แต่จะยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของไทยที่พรั่งพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีระดับโลก และส่งผลให้ท่าเรือแหลมฉบังกลายเป็นประตูสู่นานาชาติในด้านการขนส่งทางเรือ ในปัจจุบันที่มีเรือเดินสมุทรขนาดเล็กขนส่งตู้สินค้าจากเรือเดินสมุทรขนาดที่ใหญ่กว่า ผ่านท่าเรือที่ขนถ่ายสินค้าถ่ายลำเรือในประเทศสิงคโปร์หรือมาเลเซียเพื่อไปยังประเทศปลายทาง โดยเราจะสามารถเปลี่ยนการขนส่งแบบถ่ายลำดังกล่าวมาเป็นการขนส่งท่าเรือแหลมฉบังได้โดยตรง ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทสายเรือหลายแห่งมีความต้องการที่จะนำเรือขนาดใหญ่ดังกล่าวมาเทียบที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยเรามีขีดความสามารถรองรับเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ที่มีความยาวเรือมากกว่า 350 เมตรได้

การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลดีอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเราสามารถรับเรือเดินสมุทรที่มีขนาดใหญ่ขึ้น หมายถึงจำนวนตู้สินค้าที่บรรทุกได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดความต้องการการขนส่งมากขึ้น และโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศที่พัฒนาต่อเนื่องเพื่อที่จะมารองรับ เช่น ถนน รางรถไฟ และพลังงาน ผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านโลจิสติกส์องค์รวมภายในประเทศ โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการลงทุนเพิ่มเติม โดยการพัฒนาใหม่ๆ เหล่านี้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากบริษัททั้งในและต่างประเทศร่วมมือกัน โดยลงทุนทั้งด้านเทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญ ตลอดจนประสบการณ์การทำธุรกิจ ซึ่งเราเองดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากว่า 15 ปี และยังเป็นผู้ลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดตามสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในส่วน “ผู้ประกอบกิจการท่าเรือ”

สำหรับผู้ที่มองนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ในแง่ลบ ผมสามารถยืนยันได้ว่ารัฐบาลมีความกระตือรือร้นและให้ความสำคัญต่อท่าเรือแหลมฉบังตลอดจนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เป็นอย่างมาก ในฐานะที่เราเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนระยะยาวในประเทศไทย ทำงานอย่างใกล้ชิดกับหลากหลายหน่วยงาน ทั้งการท่าเรือแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และกรมศุลกากร รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ในมุมมองของทุกฝ่ายแล้ว การพัฒนาระดับโลกที่ท่าเรือแหลมฉบังไม่เป็นเพียงวิสัยทัศน์แต่คือความจริงที่จับต้องได้ ดูเหมือนแจ๊ค หม่า ก็เห็นด้วย โดยอาลีบาบาวางแผนที่จะร่วมมือกับกรมศุลกากร เพื่อปรับเปลี่ยนระบบขั้นตอนพิธีการศุลกากรทั้งหมดให้เป็นขั้นตอนพิธีการฯ ด้วยระบบดิจิตัล โดยเชื่อมต่อทั้งประเทศไทย จีน และประเทศข้างเคียงเข้าด้วยกัน นับเป็นสัญญาณอันดีที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจในประเทศไทย

 

โดย...  

มร. สตีเฟ่น แอชเวิร์ธ

กรรมการผู้จัดการ ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

Charnwiset, Rungnapa (BKK-WSW)