ฟีเวอร์ฟุตบอลโลก

ฟีเวอร์ฟุตบอลโลก

ช่วงนี้คงไม่มีกีฬาใดร้อนแรงไปกว่าฟุตบอลโลกอีกแล้ว ดิฉันจะไม่เขียนถึงก็กระไรอยู่ โดยเฉพาะหลังจากการประกาศผลว่าทวีปอเมริกาเหนือ

จะได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2026 หรือในอีก 8 ปีข้างหน้า

ฟุตบอลโลกเริ่มแข่งกันมา 88 ปีแล้ว โดยในการแข่งขันทั้งหมดที่ผ่านมา มีเพียง 8 ประเทศเท่านั้นที่เคยได้ตำแหน่งแชมเปียนมาครอง ประกอบด้วย บราซิล เคยได้เป็นแชมป์ 5 ครั้ง เยอรมนี กับ อิตาลี ได้เท่ากัน คือ 4 ครั้ง อาร์เจนตินา กับอุรุกวัย เคยได้แชมป์ทีมละ 2 ครั้ง ฝรั่งเศส สเปน อังกฤษ เคยได้ทีมละ 1 ครั้ง

จำนวนทีมที่เข้าแข่งขันแต่เดิมมี 32 ทีม ในปัจจุบันนี้มีถึง 48 ทีม โดยจะแข่งกัน 64เกมส์ฟุตบอลโลกในปี 2018 ที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพนี้ จะจัดที่สนามแข่งขัน 9 สนาม โดยเริ่มจำหน่ายบัตรตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา และจะจำหน่ายไปถึงวันที่ 15 กรกฎาคม

บัตรรอบกลุ่ม ราคาตั้งแต่ 105 ถึง 210 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3,360 บาท ถึง 6,720 บาท รอบ 16 ทีม ราคา 115 -245 เหรียญ และรอบก่อนรองชนะเลิศ ราคา 175-365 เหรียญสหรัฐ ส่วนรอบอื่นๆดิฉันไม่สามารถหาราคาได้ เพราะบัตรจำหน่ายไปหมดแล้ว รอบที่มีราคาขายแสดงอยู่ก็มีบัตรเหลืออยู่น้อยแล้วค่ะ ส่วนใหญ่ที่ยังขายไม่หมดเป็นบัตรในแมทช์ที่มีทีมจากเอเชียเข้าแข่งขันค่ะ แมทช์ที่มีทีมดังๆจากอเมริกาใต้ หรือยุโรปเข้าแข่งขันนั้น บัตรหมดไปนานแล้ว เพราะเขาขายบัตรแบบ “มาก่อนได้ก่อน”ค่ะ ผู้จะซื้อบัตรก็ต้องเข้าไปลงะเบียนและซื้อออนไลน์ได้

นอกจากบัตรการแข่งขันแล้ว ทุกอย่างเป็นเงินเป็นทองไปหมด ตารางการแข่งขันที่หนังสือพิมพ์ไทยนิยมพิมพ์แจกฟรี (ปีนี้ไม่เห็นแจก) เขาขายราคาแผ่นละ 15 เหรียญค่ะ แพงมากทีเดียว ลูกบอลแบบที่ใช้ในการแข่งจริงๆ ก็มีขายในราคา 130-150 เหรียญ เสื้อเชียร์ขายในราคาตัวละ 90 ถึง 100 เหรียญ มีสติกเกอร์ ผ้าพันคอ และมีตุ๊กตาลูกดกของฝากที่คนนิยมซื้อฝากจากรัสเซีย ราคา 90 เหรียญ แพงจริงๆ เพียงเพราะมีสัญญลักษณ์ฟุตบอลโลกติดอยู่เท่านั้น

บัตรเข้าชมฟุตบอลโลกที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับของ ปี 2026 ที่ทวีปอเมริกาเหนือจะเป็นเจ้าภาพแล้ว ถือว่าราคาเด็กๆเลยค่ะ เพราะในปี 2026 ราคาบัตรรอบกลุ่มจะขายกันตั้งแต่ 21 ถึง 993 เหรียญ (เฉลี่ยที่ 305 เหรียญ) รอบ 32 ทีม ราคาเฉลี่ย 309 เหรียญ รอบ 16 ทีม ราคาเฉลี่ย 324 เหรียญ รอบก่อนรองชนะเลิศ ราคาเฉลี่ย 468 เหรียญ รอบรองชนะเลิศ ราคาเฉลี่ย 913 เหรียญ รอบชิงที่สาม ราคาเฉลี่ย 609 เหรียญ และรอบชิงชนะเลิศ ราคาเฉลี่ย 1,408 เหรียญ หรือประมาณ 45,000 บาท โดยมีช่วงราคาขายต่ำสุดที่ 128 เหรียญ (ประมาณ 4,100 บาท) ไปจนถึงสูงสุดที่ 4,309 เหรียญ (ประมาณ 137,900 บาท)

การแข่งขันในทวีปอเมริกาเหนือ จะแข่งในสหรัฐอเมริกา 44แมทช์ และแข่งในแคนาดา และเม็กซิโก ประเทศละ 10 แมทช์ หลายคนมองว่าไม่น่าเชื่อว่าประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งผู้คนไม่ได้คลั่งไคล้ฟุตบอลแบบนี้ ที่เขาเรียกว่า ซ็อคเคอร์ (Soccor) จะหาญกล้าจัดแมทช์ส่วนใหญ่ในประเทศ

ทั้งนี้ทั้งนั้น เป็นเรื่องของธุรกิจล้วนๆ ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดที่ราคาสูง แฟนกีฬาที่ติดตามกันทั่วโลก และโอกาสในการจำหน่ายสินค้าที่ระลึกกับการดึงนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาใช้จ่ายในประเทศ ย่อมทำให้สหรัฐอเมริกากล้าลงทุน

ดิฉันก็หวังอย่างเดียวว่า การทำวีซ่าเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อไปชมฟุตบอลโลก ปี 2026 จะสามารถทำได้ไม่ยากมากนัก มิฉะนั้นแฟนบอลที่ซื้อบัตรเข้าชม อาจจะไม่สามารถไปชมได้ เพราะไม่ผ่านการอนุมัติวีซ่าค่ะ ซึ่งคงทำให้ต้องขายบัตรต่อในตลาดรองกันวุ่นวาย

จากสถิติของฟีฟ่า ทีมที่ได้คะแนนรวมสูงสุดตั้งแต่แข่งขันมา อันดับหนึ่ง คือ บราซิล ได้ 227 คะแนน อันดับสอง เยอรมนี ได้ 218 คะแนน อันดับสาม อิตาลี 156 คะแนน อันดับสี่ อาร์เจนตินา 140 คะแนน และอันดับห้า คือ สเปน 99 คะแนนค่ะ

สำหรับทีมที่ยิงประตูได้มากที่สุด คือ นัดที่ฮังการี แข่งกับ เอลซัลวาดอร์ เมื่อ 15 มิถุนายน 1982 โดยฮังการียิงได้ 10 ประตู และเอลซัลวาดอร์ ยิงได้ 1 ประตู

พิธีเปิดการแข่งขันที่ผ่านไปเมื่อคืนวันที่ 14 มิถุนายน ค่อนข้างเรียบง่ายและกระชับ แต่ก็สนุกสนาน นัดเปิดสนามก็ยิงกันไปถึง 5ลูก ถือว่าค่อนข้างมากสำหรับฟุตบอลในสมัยนี้

ขอให้ท่านผู้อ่านสนุกสนานกับเกมส์การแข่งขัน และขอย้ำเตือนว่า การพนันไม่ใช่การลงทุน การพนันนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังนำชีวิตการเงินไปสู่ความหายนะ เพราะฉะนั้น หวังว่าท่านผู้อ่านจะไม่ละลายเงินออมของท่านทิ้งนะคะ ดูกีฬาให้สนุก แต่ไม่ควรพนันค่ะ

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ