ยุโรปกับการประชุมสุดยอดผู้นำ G7

ยุโรปกับการประชุมสุดยอดผู้นำ G7

การประชุมสุดยอดผู้นำจี7 (G7) ของประเทศผู้นำโลก ที่จัดขึ้นเมื่อสุดสัปดาห์ 8-9 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่ La Malbaie ประเทศแคนาดา มีผู้นำโลก

จาก เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น แคนาดา สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ พร้อมด้วย สหภาพยุโรป เข้าร่วม (สหภาพยุโรปร่วมประชุม แต่ไม่มีบทบาทเป็นประธานหรือเจ้าภาพจัดการประชุม) แม้นายกรัฐมนตรีแคนาดา Justin Trudeau จะทุ่มเทอย่างสุดความสามารถที่จะทำให้การประชุมจี 7 ครั้งนี้ประสบความสำเร็จ พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ทำอย่างไรไม่ให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ Donald Trump ทำให้การประชุมพังลงก่อนปิดการประชุม แต่ Trudeau ทำสำเร็จได้เพียงไม่นาน

ผลการประชุมจี 7 สะท้อนสถานการณ์การเมืองโลก ความสัมพันธ์ และความร่วมมือของประเทศมหาอำนาจของโลก ที่ไม่ลงรอยกัน “กลุ่มพันธมิตรตะวันตก” นำโดยยุโรปที่เคยมีสหรัฐฯ เป็นพันธมิตร (เน้นว่า เคย) จนทำให้เกิดองค์กรระหว่างประเทศอย่างเนโต้ (NATO) ยูเอ็น (UN) และความตกลงการค้าเสรีหลายฉบับ และรวมทั้งการประชุม จี7 (G7) เองมีเคยพลังในการขับเคลื่อนประเด็นการเมืองโลกมากกว่านี้ แต่ครั้งนี้ผลการประชุมเป็นที่น่าผิดหวัง

ยุโรปกับการประชุมสุดยอดผู้นำ G7

ประธานาธิบดี Trump ของสหรัฐฯ นับได้ว่าเป็นตัวแสบในการประชุมจี 7

เมื่อ Trump ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้ท่าที่สหรัฐฯ ต่อประเทศผู้นำในเวทีจี 7เปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ จากพันธมิตรกลับกลายเป็นศัตรู

ประธานาธิบดี Trump นอกจากจะมาสาย และกลับก่อนแล้ว ยังแสดงท่าทีขัดแย้งเรื่องความร่วมมือด้านการค้าเสรี การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ ความตกลงด้านนิวเคลีย ซึ่งเป็นเรื่องหลักๆ ของการประชุม เขากล่าวหาว่าประเทศอื่นๆ นั้นฉกชิงผลประโยชน์จากสหรัฐฯ ผ่านความตกลงทางการค้าที่ผู้นำสหรัฐฯ คนก่อนๆ ลงนามไว้ ด้วยการดำเนินการค้าอย่าง “ไม่เป็นธรรม” มาโดยตลอด เขาปิดท้ายด้วยแสดงความจำนงค์ที่จะเชิญรัสเซียกลับเข้ากลุ่มนี้ให้กลายเป็น G8 (หลังจากที่รัสเซียเคยออกไป)

หลังการประชุม เขาได้ลงข้อความใน tweeter ว่า เขาสั่งเจ้าหน้าที่ไม่ให้ยอมรับข้อตกลงการประชุม หรือ Final Communiqué ที่การประชุม G7 ตกลงกันและได้ประกาศไปแล้ว และกล่าวหานายกรัฐมนตรี Trudeau ของแคนาดาซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุมว่าออกมาให้ข่าวผิด

ยุโรปกับการประชุมสุดยอดผู้นำ G7

ในขณะเดียวกัน ผู้นำจี 7 อื่นๆ ต่างออกมายืนยันการสนับสนุนข้อตกลงการประชุมที่ได้ลงนามไปแล้ว อาทิ สหภาพยุโรปออกมายืนยันการสนับสนุนความร่วมมือเพื่อไปสู่ระบบการค้าระหว่างประเทศที่เคารพกฎเกณฑ์ และต่อสู้การกีดกันทางการค้า แม้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะออกมาแสดงท่าทีดังกล่าวก็ตาม

หากจะวิเคราะห์ดู ยุโรปไม่มีพลังร่วมกันและไม่สามารถแสดงบทบาทผู้นำโลก ไปเจรจาต่อรองอะไรกับสหรัฐฯ ได้ โดยพลังขับเคลื่อนจากเยอรมนี โดยนายกรัฐมนตรีหญิง Angela Merkel ยังไม่เพียงพอ เธอถึงกับกล่าวในสื่อเยอรมันหลังการประชุมจี 7 ว่ามันช่าง น่าหดหู่

อีกทั้ง ปัญหาการเมืองภายในยุโรปก็ยังสะสางไม่เสร็จ ไม่ว่าจะเป็น Brexit (การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร) หรือกระแสประชานิยมและรัฐบาลประชานิยมที่ได้รับการเลือกตั้งมาใหม่ในอิตาลี ยิ่งบั่นทอนบทบาทผู้นำโลกของยุโรป

หลังจากนั้นก็ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็บินไปเข้าร่วมการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือ จนทำให้เราต้องสงสัยว่า แล้วบทบาทของยุโรปในเรื่องนี้หายไปไหน และที่ยุโรปพูดว่าเป็นผู้นำโลกนั้น จะเป็นได้จริงหรือ และในด้านใดบ้าง

ยุโรปต้องเร่งบทบาทผู้นำโลก

สำหรับยุโรป การต้องมาขับเขี้ยวกับสหรัฐฯ ซึ่งเคยเป็นมิตรสหายเก่า อาจมองได้เป็นทั้งวิกฤติและโอกาส

ในขณะที่ยุโรปต้องยอมรับว่าความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ Trump คงไม่ได้ราบรื่นและง่ายอย่างที่คิด เพราะสหรัฐฯ จะคอยขัดคอยุโรปในหลายๆ เรื่อง แต่กลุ่มพันธมิตร G6 ยังมีความหวังและต้องเร่งเดินหน้าการสร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรอื่นๆ ในโลก อย่างเช่น แอฟริกา เอเชีย และลาตินอเมริกา แบบจริงใจและฉับไว

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซ็ม หรือ Asia-Europe Meeting (ASEM) ครั้งต่อไป ที่สหภาพยุโรปจะเป็นเจ้าภาพในเดือน ต.ค. ศกนี้ ณ กรุงบรัสเซลส์ ดูจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพราะเป็นการประชุมผู้นำที่มีผู้นำหลักของโลกเข้าร่วม แบบไม่มีสหรัฐฯ แต่มีรัสเซีย หวังว่าเวทีนี้จะเป็นโอกาสให้ยุโรปได้สร้างบทบาทของตนในเวทีโลกได้มากขึ้น ยุโรปคงไม่มีทางเลือกอื่นๆ นอกจากเดินหน้าต่อไปให้ถึงที่สุด

โดย... ดร.อาจารี ถาวรมาศ

ผู้บริหารบริษัท Access-Europe 

ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และนโยบายเกี่ยวกับสหภาพยุโรป

สำหรับภาครัฐและเอกชนไทยที่สนใจเปิดตลาดยุโรป www.access-europe.eu

หรือติดตามได้ที่ www.facebook.com/AccessEuropeCoLtd