สิทธิของคนดิจิทัล

สิทธิของคนดิจิทัล

มื่อ 5จี มีใช้กันทั่วไป ข้าวของรอบตัวต่ออินเทอร์เน็ตได้หมด ไปไหนมาไหน รู้ได้เห็นได้ผ่านอินเทอร์เน็ตทั้งหมด แถมมีปัญญาประดิษฐ์มาช่วยแยกแยะอีก

ว่าใครชอบไปไหน ชอบทำอะไร ไปกับใครบ่อยแค่ไหน ใครก็ตามที่ครอบครองการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ ก็เป็นเหมือนคนหูทิพย์ตาทิพย์ รู้ไปหมดทุกอย่าง ฝรั่งที่ยุโรปที่ชอบคิดเรื่อง 5จี บิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ์ มองเห็นความจำเป็นในเรื่องการคุ้มครองสิทธิในการเก็บและใช้ข้อมูลเกี่ยวกับคน เลยออกกติกากลางของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของคนในด้านข้อมูลดิจิทัล ซึ่งมักเรียกกันย่อ ๆว่า GDPR ซึ่งย่อมาจาก General Data Protection Regulation กติกานี้กล่าวไว้มากมายหลายเรื่อง แต่เรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิของคนดิจิทัลมีอยู่ด้วยกัน 8 สิทธิ

เริ่มด้วยสิทธิแรกคือสิทธิในการได้รับการบอกกล่าวเพื่อขออนุญาติ ใครก็ตามจะเก็บข้อมูลเกี่ยวกับตัวเรา มีหน้าที่ต้องบอกล่วงหน้าให้เรารู้ก่อนว่า จะเก็บข้อมูลอะไรเกี่ยวกับตัวเราบ้าง เก็บผ่านช่องทางใดบ้าง และต้องขออนุญาติเราก่อนด้วย สิทธิที่ ที่ตามมาคือสิทธิในการเรียกดูข้อมูลของเรา เมื่อยอมให้เก็บข้อมูลไปแล้ว เขาต้องได้ทราบว่าข้อมูลอะไรเกี่ยวกับตัวเราที่เก็บไปนั้นเป็นอย่างไรบ้าง พอเห็นแล้วคิดว่าที่เก็บไว้ไม่ตรงกับที่เราอยากจะบอก ข้อมูลที่เราพบจากที่เขาเก็บไว้ ไม่ใช่อย่างที่เราเห็นว่าสมควรจะเป็น เรามีสิทธิที่ 3 คือ สิทธิในการแก้ไขให้ตรงกับที่เราเห็นสมควร

ถ้าเริ่มไม่สบายใจกับข้อมูลที่ยอมให้เขารวบรวมไปแล้ว ชักไม่อยากให้เก็บในบางเรื่อง ตอนแรกตื่นเต้นกับการที่จะได้ใช้แอป ถามอะไรมายอมให้ทำหมดเลย ขาดสติทางดิจิทัล พอได้สติมาเมื่อดูท่าว่าจะรู้เรื่องเกี่ยวกับตัวเรามากไปหน่อย สิทธิที่ 4 คือสิทธิในการเพิกถอนการอนุญาติ เคยให้เก็บ 10 รายงาน จะถอนคำอนุญาติให้เหลือแค่รายการเดียวก็ทำได้ตามต้องการ หรือบางทีดูผลลัพธ์ที่ได้จากการนำข้อมูลของเราไปประมวลผลด้วยวิธีต่างๆนานา ดูท่าว่าจะก้าวล่วงเรื่องส่วนตัวของเรามากไปหน่อย เรายอมให้เก็บข้อมูลว่าเราใช้แอปในตอนที่เราอยู่ที่ไหนบ้าง พอเก็บข้อมูลสถานที่ไปแล้ว นำไปประมวลผลว่าเราชอบไปที่ไหนบ้าง เอามาจัดอันดับเลยว่าที่ไหนเป็นอันดับ 1... 2.. 3.  

เรามีสิทธิที่ 5 คือสิทธิในการคัดค้านการนำข้อมูลของเราไปประมวลผลในเรื่องใดบ้าง ซึ่งเตรียมไว้รับมือความเก่งที่เพิ่มขึ้น ของซอฟท์แวร์ด้านปัญญาประดิษฐ์ เก่งประมวลข้อมูลก็เก่งไป แต่ต้องเก่งเฉพาะเรื่องที่อนุญาติให้เก่งเท่านั้น และตามมาด้วยสิทธิที่ 6 คือสิทธิในการปฏิเสธการประมวลผลโดยอัตโนมัติ เช่นเรายอมให้นำข้อมูลที่เก็บไว้ไปประมวลผลได้ แต่เราไม่ยอมให้ใช้ซอฟท์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ในการประมวลผล อาจจะเนื่องจากเราเกรงว่าจะวิเคราะห์เลยเถิด จนเกินสมควร เพราะทุกวันนี้ คนสั่งการประมวลผลด้วยซอฟท์แวร์ปัญญาประดิษฐ์บางแบบ ก็ไม่รู้ว่าซอฟท์แวร์ทำงานด้วยวิธีการใด รู้แต่ว่าให้คำตอบที่ต้องการได้ ไม่ทราบว่ากับข้าวนั้นทำมาได้อย่างไร รู้แต่ว่าได้กับข้าวมากินเท่านั้น หรือในทางตรงข้าม เราอาจคิดว่าตัวเราพิเศษแตกต่างไปจากคนอื่น แล้วซอฟท์แวร์อาจไม่ฉลาดพอที่จะเห็นความแตกต่างนั้นได้ เราจึงมีสิทธิในการปฏิเสธที่จะใช้บริการที่มาจากซอฟท์แวร์นั้นได้ด้วย

สิทธิที่ 7 คือสิทธิในการลบล้างข้อมูล และผลลัพธ์จากการประมวลผลที่ผ่านมาทั้งหมด หมายถึงว่าวันใดที่เรารู้สึกว่าไม่สบายใจกับการให้เขามีข้อมูลเกี่ยวกับตัวเราอีกต่อไป เรามีสิทธิที่จะลบทิ้งข้อมูลทั้งหมดนั้นได้ ด้วยตัวเราเอง โดยไม่ต้องไปร้องขอให้ใครมาทำให้ สิทธิที่แปด คือสิทธิในการย้ายข้อมูลของเราไปที่อื่น จะไปแบบไปที่อื่นทั้งหมด หรือบางส่วนได้ทั้งนั้น และเราย้ายได้ด้วยตัวเราเอง ไม่ต้องให้ใครกระทำให้ จะย้าย หรือจะสำเนากระทำได้ด้วยตัวเราเองโดยตรง

ในบ้านเมืองที่ผู้คนมีสิทธิดิจิทัล ผู้นำต้องแสดงให้เห็นประจักษ์ว่าได้ดูแลสิทธิของผู้คน ไม่ให้มีใครมาคอยตามดูข้อมูลเราไปตลอดเวลา ทั้งวันทั้งคืน