Uber ในอเมริกาเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือสัญญาจ้างทำของ

Uber ในอเมริกาเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือสัญญาจ้างทำของ

ในอดีตผู้คนสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างการจ้างแรงงานและการจ้างทำของ ได้เป็นอย่างดี

กล่าวคือ กรณีจ้างแรงงาน ลูกจ้างไปทำงานที่ออฟฟิศหรือโรงงานให้กับนายจ้างจำนวน 8 ชั่วโมง โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือนและนายจ้างจะหักภาษีจากเงินเดือนของลูกจ้าง ส่วนการจ้างทำของ คือสัญญาที่ผู้รับจ้างตกลงทำการงานสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้กับผู้ว่าจ้าง โดยผู้ว่าจ้างตกลงให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จของงานนั้น ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

อย่างไรก็ดี ความซับซ้อนของสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นอุปสรรคที่จะชี้วัดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างนั้น เป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือสัญญาจ้างทำของ โดยเฉพาะในช่วง1980 ที่มีการถดถอยทางเศรษฐกิจพร้อมกับการขยายตัวของแรงงานทางเลือก ทำให้นายจ้างต้องลดจำนวนพนักงานและหันมาจ้างพนักงานอิสระแบบสัญญาจ้างทำของแทน เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลกำไรให้กับบริษัทจนทำให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ซึ่งแตกต่างจากลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงานที่มีสิทธิได้รับความคุ้มครองและผลประโยชน์ที่มากกว่า อาทิเช่น สิทธิในค่าแรงขั้นต่ำ ค่าล่วงเวลา เงินชดเชยการว่างงาน เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดการฟ้องคดีเกี่ยวกับการตีความสัญญาและมีจำนวนคดีเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ผู้เขียนจึงยกแนวคำพิพากษาของประเทศสหรัฐมาพิจารณา เพื่อวิเคราะห์ ทิศทางการตีความสัญญาทั้ง 2 ในประเด็นที่เกี่ยวกับการให้บริการเรียกรถยนต์สาธารณะผ่านช่องทางออนไลน์หรือในประเทศไทยรู้จักกันในชื่อ Grab

ทั้งนี้การจำแนกผู้ขับขี่ที่ให้บริการเรียกรถออนไลน์ เช่น Uber หรือ Lyft ว่าเป็นสัญญาประเภทใด เป็นหัวข้อที่ร้อนแรงที่สุดในสหรัฐ แต่อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่มีแนวคำพิพากษาที่ชัดเจน ซึ่งหากพิจารณาโดยทั่วไปแล้ว Uber ดูเหมือนจะมีความสัมพันธ์แบบสัญญาจ้างทำของกับผู้ขับขี่ เพราะผู้ขับ Uber ได้ใช้รถของตนเองในการให้บริการรวมถึงจ่ายค่าประกันภัย ค่าเชื้อเพลิงและค่าซ่อมบำรุงโดยผู้ขับขี่เอง โดยจะขับเวลาใด สถานที่ใดและระยะเวลานานเท่าใดก็ได้ อีกทั้งผู้ขับขี่ไม่ได้รับอุปกรณ์ใด ๆ จาก Uber เพียงแต่ใช้โทรศัพท์มือถือของตัวเองเพื่อเข้าถึงลูกค้า นอกจากนี้ผู้ขับขี่ Uber สามารถขับรถให้กับบริษัทอื่น ๆ ที่เป็นคู่แข่งของ Uber ได้อย่างเช่น Lyft ราวกับว่าคนขับรถ Uber มีเสรีภาพในการดำเนินการด้วยตัวเอง ดังนั้นจึงไม่อาจถือว่าเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน

ในอดีตศาลสูงของรัฐบาลกลางสหรัฐได้ตีความสัญญาจ้างทำของไว้ในคดี Metcalf & Eddie โดยใช้หลัก common law เป็นแนวทางในการพิจารณา กล่าวคือ ศาลจะพิจารณาว่า (1) ผู้ปฏิบัติงานสามารถใช้วิจารณญาณและดุลพินิจได้หรือไม่ และ (2) ผู้ปฏิบัติงานต้องใช้ทักษะทางวิชาชีพที่ดีที่สุดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการหรือไม่ ดังนั้นศาลจึงสรุปว่า ถ้าผู้ปฏิบัติงานมีอิสระในการทำงานและนายจ้างไม่มีสิทธิในการควบคุมการทำงานของลูกจ้างแล้ว ผู้ปฏิบัติงานนั้นมีความสัมพันธ์แบบสัญญาจ้างทำของ และในปี ค.ศ.2015 ศาลสูง ในแคลิฟอร์เนียในคดี Borello ได้พิจารณาตัดสินคดี Uber โดยกล่าวเพิ่มเติมจากคดีข้างต้นว่า สิทธิในการควบคุมนี้ไม่จำเป็นต้องครอบคลุมทุกรายละเอียดของเนื้องาน เพียงแต่พิจารณาว่า นายจ้างยังคงมีสิทธิควบคุมประสิทธิภาพของพนักงานหรือไม่ และศาลยังเน้นย้ำว่า สิทธิในการไล่ออกโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรเป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักในการสนับสนุนความสัมพันธ์ของการจ้างงาน นอกจากนี้ศาลยังใช้ปัจจัยดังกล่าวนี้ช่วยตัดสินความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างว่าเป็นสัญญาแบบใดอีกด้วย กล่าวคือ (1) งานดังกล่าวเกี่ยวข้องกับอาชีพโดยเฉพาะหรือธุรกิจ (2) งานโดยปกติจะทำภายใต้การกำกับดูแลหรือโดยผู้เชี่ยวชาญที่ไม่มีการควบคุม (3) ทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ (4) นายจ้างหรือผู้ปฏิบัติงานเป็นผู้จัดหาเครื่องมือและสถานที่ทำงาน (5) ระยะเวลาที่จะให้บริการ (6) วิธีการชำระเงินว่าจ่ายตามเวลาหรือตามชิ้นงาน (7) งานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบธุรกิจปกติของนายจ้างหรือไม่ และ (8) คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายเชื่อหรือไม่ว่าตนกำลังสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างแบบสัญญาจ้างแรงงาน

ในที่สุด ศาลสูงในแคลิฟอร์เนียและนิวยอร์กมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ผู้ขับขี่ Uber มีสถานะเป็นลูกจ้างแบบสัญญาจ้างแรงงาน เพราะบริษัท Uber มีอำนาจควบคุมผู้ขับขี่ กล่าวคือ (1) ค่าโดยสารถูกกำหนดผ่าน Uber App (2) ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามหลักปฏิบัติของ Uber (3) ผู้ขับขี่ต้องมีคะแนนไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยต่ำสุดที่ Uber ตั้งไว้ (4) ผู้ขับขี่จะต้องรับผู้โดยสารที่ Uber กำหนดให้และต้องขับขี่ในเส้นทางที่ Uber กำหนดให้บน App (5) Uber ตั้งกฎเกณฑ์สำหรับผู้ขับขี่ เช่น การพูดคุยกับผู้โดยสารหรือการห้ามติดต่อกับผู้โดยสารหลังจากการขับขี่ (6) เมื่อผู้ขับขี่ปฏิบัติต่างไปจากกฎเกณฑ์แล้ว Uber จะส่งข้อความ เพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และ Uber มีสิทธิไล่ออกผู้ขับขี่ที่ละเมิดกฎเกณฑ์ของ Uber บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของความสัมพันธ์แบบสัญญาจ้างงาน แต่ในเดือน ม.ค. 2017 ศาลอุทธรณ์ของไมอามี่ มีความเห็นต่างว่า ผู้ขับขี่ Uber ไม่ได้เป็นลูกจ้างแบบสัญญาจ้างแรงงาน เนื่องจากผู้ขับขี่ Uber ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลเรื่องการปฏิบัติการ และไม่จำต้องแต่งกายเหมือนกับการทำงานของพนักงานแบบสัญญาจ้างแรงงานทั่วไป อย่างไรก็ตาม ล่าสุดในปี 2018 ศาลสูงแห่งแคลิฟอร์เนียในคดี Dynamex Operations W., Inc. v. Super. ได้ปฏิเสธเกณฑ์การพิจารณาคดีแบบ Borello แต่ใช้เกณฑ์การพิจาณาสามขั้นตอนที่เรียกว่า ABC ซึ่งมีความเข้มงวดมากขึ้นแทน

ดังนั้นผู้เขียนจึงเห็นว่า การตีความการให้บริการเรียกรถยนต์สาธารณะผ่านช่องทางออนไลน์ว่าเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือสัญญาจ้างทำของจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ และส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงควรให้ความสำคัญและไม่เพิกเฉย มิเช่นนั้นลูกจ้างอาจไม่ได้รับความเป็นธรรมในสัญญาจ้างงานจากนายจ้างซึ่งใช้สัญญาจ้างทำของเป็นเครื่องมือในการเอาเปรียบลูกจ้าง

 โดย... 

ดร.ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์