ตลาดเกิดใหม่: ยังคงเสี่ยงสูงสุด

ตลาดเกิดใหม่: ยังคงเสี่ยงสูงสุด

สำหรับผู้ติดตามข่าวเศรษฐกิจโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมา น่าจะเป็นคำถามที่ว่าวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997 หรือวิกฤตเตกีล่าของเมกซิโกในปี 1995

กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งหรือไม่ หลังจากที่ทางการของประเทศตลาดเกิดใหม่หลายแห่งต้องขึ้นดอกเบี้ยและเข้าแทรกแซงค่าเงินอย่างหนักหน่วงเพื่อดึงให้ค่าเงินไม่ไหลลง

โดยอาเจนติน่าต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึงกว่า 10% ในสัปดาห์เดียว ขณะที่ค่าเงินเปโซตกลงกว่า 25% เช่นเดียวกับตุรกีที่ขึ้นกว่า 4% ในสัปดาห์ก่อน เพื่อดึงเงินเฟ้อพื้นฐานลงจากอัตราที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 12.6% ขณะที่ที่อื่น ๆ เช่น อินเดีย และอินโดนิเซีย ก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยด้วยเช่นกัน ส่วนบางประเทศ เช่น บราซิลที่ค่าเงินรีลอ่อนลงถึงกว่า 13% จนธนาคารกลางต้องใช้เงินทุนสำรองถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์เพื่อแทรกแซงค่าเงินไม่ให้ตกลงมาก

สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักวิจัย IIF ที่ว่าในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา เงินทุนเคลื่อนย้ายของประเทศตลาดเกิดใหม่ไหลออกทั้งสิ้นเกือบ 3.3 แสนล้านดอลลาร์ โดยไหลออกสูงสุดในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ถึงกว่า 1.23 หมื่นล้านดอลลาร์

คำถามคือ ค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่อ่อนค่าลง กระแสเงินทุนที่ไหลออกจนทางการต้องดึงดอกเบี้ยขึ้นและเข้าแทรกแซงค่าเงิน ประเด็นเหล่านี้เกิดจากสาเหตุอะไร จะรุนแรงขึ้นหรือไม่ และจะนำไปสู่วิกฤตการเงินครั้งใหม่หรือไม่อย่างไร

ในช่วงกลางปีที่แล้ว บทความนี้เคยกล่าวว่าความเสี่ยงสูงสุดของเศรษฐกิจโลกได้แก่ การที่ธนาคารกลางชั้นนำทั่วโลกประกาศพร้อมชะลอหรือยุติการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยหลังจากนั้นประมาณ 1 ปี อาจเกิดความผันผวนในตลาดการเงินทำให้ประเทศตลาดเกิดใหม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้ค่าเงินของตนมีเสถียรภาพ ทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น และอาจนำไปสู่วิกฤตในประเทศตลาดเกิดใหม่ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า นี่ก็ผ่านไปแล้ว 1 ปี คำกล่าวดังกล่าวเป็นจริงมากขึ้น โดยเป็นผลจาก 3 สาเหตุหลัก

สาเหตุแรก การขยายตัวเศรษฐกิจโลกที่เริ่มแผ่วลง (ยกเว้นในสหรัฐ) ทำให้การค้าโลกเริ่มชะลอลง โดยเศรษฐกิจโลกที่เคยฟื้นตัวอย่างพร้อมเพรียงกัน (Global Synchronized growth) ในช่วงปลายปีที่แล้วต่อเนื่องปีนี้เริ่มชะลอลง ส่งผลกระทบต่อประเทศตลาดเกิดใหม่ที่พึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก โดยหากพิจารณาจากดัชนี CPB World trade volume ของเนเธอร์แลนด์ จะพบว่าดัชนีเริ่มชะลอลงชัดเจน สอดคล้องกับตัวเลขการส่งออกของประเทศตลาดเกิดใหม่ต่าง ๆ เช่น ไต้หวัน จีน และเกาหลีใต้ ที่เริ่มเห็นสัญญาณชะลอลงชัดเจน

ที่น่าสังเกตุ คือ การชะลอลงนั้นเกิดขึ้นก่อนที่รัฐบาลสหรัฐจะประกาศขึ้นภาษีนำเข้าอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นภาษีเหล็กและอลูมิเนียม ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตสินค้าอื่น ๆ รวมถึงการเก็บภาษี 25% ในสินค้านำเข้าจำพวกอิเล็กทรอนิกส์จากจีน ซึ่งจะมีผลลบต่อการค้าโลกสูง เนื่องจากสินค้าเหล่านี้จะต้องนำเข้าชิ้นส่วนจากประเทศอื่น ๆ มาประกอบก่อนส่งออก ซึ่งหากมีการบังคับใช้จริง น่าจะทำให้การค้าโลกยิ่งลดลงมากกว่าในปัจจุบัน

สาเหตุที่สอง นโยบายการเงินของประเทศชั้นนำที่ตึงตัวขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่ขึ้นดอกเบี้ยและลดทอนการปริมาณการถือพันธบัตรรัฐบาลลง ซึ่งในทางปฏิบัติคือการดึงเงินออกจากระบบ ซึ่งเมื่อรวมกับการที่รัฐบาลสหรัฐกำลังจะขาดดุลการคลังมากขึ้นจากประมาณ 6.6 แสนล้านดอลาร์ในปี 2017 เป็น 8.2 แสนล้านและ 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2018-2019 ทำให้รัฐบาลต้องออกพันธบัตรมาชดเชยการขาดดุลมากขึ้น มาตรการทั้ง 2 นี้จะทำให้เงินดอลลาร์หายออกไปจากระบบเศรษฐกิจโลกถึงประมาณเกือบ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีในปีนี้และปีหน้า

ภาพดังกล่าวทำให้นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกเป็นกังวลมาก โดย Urjit Patel ผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดียได้กล่าวว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ โดนสองเด้ง ทั้งจากการลดทอนการถือพันธบัตรของ Fed และการออกพันธบัตรมากขึ้นของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญทำให้สภาพคล่องเงินดอลลาร์ในตลาดโลกขาดแคลน และทำให้กระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ถึงสัปดาห์ละ 5 พันล้านดอลลาร์เป็นอย่างน้อย

ผลกระทบอีกด้านหนึ่งของดอกเบี้ยโลกที่ตึงตัวขึ้น คือ ต้นทุนทางการเงินทั่วโลกที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีหนี้เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ช่วงวิกฤตการเงินโลก มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น

สาเหตุสุดท้าย ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ยังเปราะบาง โดยแม้ว่าจะดีขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับวิกฤตเตกีล่าและต้มยำกุ้งแล้วก็ตาม โดยเฉพาะประเทศที่ (1) ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดพร้อม ๆ กับขาดดุลการคลัง (2) มีปริมาณหนี้สูง โดยเฉพาะหนี้ต่างประเทศ (3) สภาวะทางการเมืองเปราะบาง และ (4) มีเงินเฟ้อสูง

ทั้งนี้ Mohamed El-Erian ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของบริษัท Allianz กล่าวว่าภาวะดังกล่าวจะทำให้ประเทศตลาดเกิดใหม่เหล่านั้นค่อนข้างอ่อนไหวต่อ (1) ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น (2) ดอกเบี้ยโลกที่เป็นขาขึ้น และ (3) เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น สวนทางกับเงินสกุลท้องถิ่นที่อ่อนค่าลง

ส่วนตัวผู้เขียนเองนั้น มองว่า ภาพดังกล่าวจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จากสาเหตุ 3 ประการ คือ หนึ่ง Fed จะต้องลดทอนการถือพันธบัตร รวมถึงขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ขณะที่ธนาคารกลางอื่น ๆ เช่น ยุโรป ก็จำเป็นต้องหยุดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินลงในไม่ช้า เช่นเดียวกับที่รัฐบาลสหรัฐต้องขาดดุลการคลังมากขึ้น ซึ่งการ“โดนสองเด้ง” จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้น

สอง ความเสี่ยงสงครามการค้าที่มีมากขึ้น (ผลจากการตอบโต้ทางการค้าของประเทศที่ถูกสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้า) ทำให้ผลกระทบจะขยายผลเป็นหลายเท่าจากที่สหรัฐได้ประกาศ นอกจากนั้น ความเสี่ยงสงครามการค้าที่มากขึ้น จะกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการค้าการลงทุนของประเทศตลาดเกิดใหม่โดยรวม และ สาม เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ยังมีความเสี่ยงเชิงโครงสร้าง ทั้งหนี้ที่สูง การพึ่งพิงน้ำมันในระดับสูง และราคาสินค้าเกษตรซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญยังตกต่ำ ทำให้เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่เสี่ยงมากขึ้น และยากที่จะหลีกเลี่ยงวิกฤตในอนาคต

ความเสี่ยงเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ชัดเจนขึ้นแล้ว นักลงทุนและนักธุรกิจ พร้อมรับมือแล้วหรือยัง

*บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่*