“เช็ค” ก่อน “แชร์” หยุดข่าวปด..กดแชร์อย่างรับผิดชอบ

“เช็ค” ก่อน “แชร์” หยุดข่าวปด..กดแชร์อย่างรับผิดชอบ

รัฐบาลเตรียมขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม! รณรงค์งดเติมน้ำมันปั๊ม ปตท. เพราะ ปตท. อยู่เบื้องหลังน้ำมันแพง! นายกไล่เติมน้ำเปล่าแทนดีเซล! ฯลฯ

ปัจจุบันการแพร่ระบาดของ “ข่าวลวง” แบบข้างบนที่ว่ามานี้กำลังเป็นปัญหาทั้งในบ้านเรา และเป็นปัญหาระดับโลก โดยเฉพาะข่าวลวงที่แพร่สะพัดทางโซเชียลมีเดีย อย่างเฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ ฯลฯนั่นก็เพราะโลกโซเชียลเป็นโลกแห่ง “อิสระ” และบางครั้งการมีอิสระเสรีนี่เองทำให้ข้อมูลลวงแพร่กระกระจายเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว

โดยสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT ได้วิจัยไว้ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า ข่าวลวงมีแนวโน้มที่จะถูกแชร์หรือส่งต่อมากกว่าข่าวจริงถึง 70% และการส่งต่อข่าวจริงให้ไปถึงคน 1,500 คน จะใช้เวลามากกว่าการส่งต่อข่าวลวงถึง 6 เท่า

ดังนั้น หากคุณผู้อ่านได้รับข้อมูลข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียช่องทางใดมาก็ตาม ไม่ว่าจะทางไลน์หรือเฟซบุ๊กลองมาดูกันค่ะว่าเราจะมีวิธี “ตรวจสอบความจริง” ได้อย่างไรบ้าง โดยเมื่อไม่นานนี้ International Federation of Library Associations and Institutions (IFLA)หรือสมาคมห้องสมุดนานาชาติ ได้เผยแพร่แนวทางในการตรวจสอบข่าวลวง โดยได้ให้คำแนะนำไว้ดังนี้ค่ะ

1.ถ้าใช้เฟซบุ๊กและไลน์เป็น ก็ควรเสิร์ช กูเกิลเป็นด้วยถ้ากลุ่มไลน์ครอบครัว เพื่อนฝูง ส่งต่อข่าวลือต่างๆ มาให้คุณมากมายโดยที่คุณอาจสงสัยว่ามันจริงหรือไม่ ไม่ยากค่ะ ก่อนจะกดปุ่มส่งต่อข้อความหรือข่าวนั้นไปให้คนอื่น ลองเสิร์ชอินเทอร์เน็ตดูสักนิดเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง คุณจะได้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงค่ะเมื่อสงสัยเรื่องใดๆ ก็ตาม ลองใช้ Search engine อย่างกูเกิล ซึ่งเป็นเครื่องมือตรวจสอบความจริงที่ดีที่สุดเพื่อค้นหาแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือแหล่งอื่นๆ ที่รายงานข่าวเรื่องเดียวกันนี้ หากไม่พบข้อมูลดังกล่าวรายงานในแหล่งที่มาอื่น ให้สงสัยไว้ก่อนว่าไม่เป็นความจริง

หรืออีกวิธีหนึ่งคือ คุณอาจนำชื่อของผู้ที่ให้ข้อมูลเรื่องดังกล่าวหรือปรากฏในข่าว ไปค้นดูว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร หรือคนๆ นั้นกำลังเคลื่อนไหวในเรื่องใดอยู่และมีวัตถุประสงค์ใดแอบแฝงหรือไม่ค่ะ

2.ตรวจสอบ แหล่งที่มาของข่าวนั้นเมื่อคุณอ่านข่าวผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ ลองตรวจสอบดูว่าที่มาของข่าวนั้นมาจากที่ใด เช่น มาจากสำนักข่าวที่เชื่อถือได้หรือไม่ หรือหากคุณไม่เคยได้ยินชื่อเวบไซต์หรือชื่อสำนักข่าวที่รายงานข่าวนั้นมาก่อน ก็สันนิษฐานได้เลยว่านี่อาจเป็นอีกข่าวลวงที่ถูกกุขึ้นมาก็เป็นได้

จะให้ดียิ่งไปกว่านั้น คุณควรตรวจสอบไปถึงแหล่งที่มาที่ถูกกล่าวถึงในรายงานนั้นๆ และดูว่าแหล่งที่มาที่ว่านั้นมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน และหน่วยงานนั้นๆ เคยยืนยันหรือปฏิเสธข้อมูลตามที่ปรากฏในข่าวหรือไม่ นอกจากนี้ ลองตรวจสอบ URL นั้นว่าเป็นเวบไซต์ปลอมแปลง โดยมีการเลียนแบบสื่อหรือสำนักข่าวหลักใดหรือไม่

3.ตรวจสอบวันที่ในข่าวหากเป็นข่าวจากแหล่งที่น่าเชื่อถือจะลงวันที่เอาไว้ด้วย คุณจึงสามารถตรวจสอบได้ก่อนที่จะแชร์ออกไป เพราะบางครั้งข่าวเก่าๆ เช่นการต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ หรือปัญหาเศรษฐกิจเก่าๆ ก็เป็นเรื่องที่ไม่อัพเดตและไม่มีความเกี่ยวโยงมาถึงปัจจุบันแล้ว เป็นต้น

4.แน่ใจนะ ว่าไม่ใช่เวบข่าวล้อเลียนหรือเสียดสีบางเวบไซต์อาจลงเรื่องราวหรือข่าวเชิงเสียดสี ประชดประชัน ตลกขบขัน โดยไม่ได้อิงกับความเป็นจริงเลยเช่น เวบไซต์วิกิพีเดีย (wikipedia)เวอร์ชั่นภาษาไทย ปัจจุบันมีผู้ทำเลียนแบบโดยใช้ชื่อเวบไซต์ “ไร้สารานุกรม” (th.uncyclopedia.info) ที่เปิดพื้นที่ให้บรรดาขาเกรียนทั้งหลายสามารถเข้ามาเสกสรรปั้นแต่งเรื่องราวสุดฮา สุดเกรียนอย่างไรก็ได้ เช่น มีเรื่องของศาสนาโอตาคุ และหมอผีเขมร (ส่วนเรื่องความจริงคงไม่ต้องพูดถึงค่ะ)

5.ทำใจให้เป็นกลาง เช็คความรู้สึกตัวเองว่ามี อคติหรือไม่เพราะอคติจะมีผลต่อความเชื่อของคุณ หากคุณเริ่มมีความรู้สึกร่วมหรืออินไปกับข่าวนั้น เช่นโกรธ ดีใจ หรือเสียใจ ก็จงกูเกิลหาข้อมูลโดยไม่รอช้าค่ะ เพราะข่าวลวงนั้นมักสร้าง “ดราม่า” ให้เราเกิดความรู้สึกร่วมเสมอ และทำให้ข่าวนั้นแพร่กระจายไปเร็วยิ่งกว่าไวรัส

6.พิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ นอกเหนือจากพาดหัวข่าวไม่ว่าจะเป็นการสะกดคำผิด หรือทำภาพขึ้นมาปลอมๆ หรือไม่ชัด ให้ตั้งข้อสงสัยและตรวจสอบข้อเท็จจริงไว้ก่อน เพราะเวบไซต์ข่าวลวงเหล่านี้มุ่งหาเงินจากโฆษณา ทำให้ไม่สนใจคุณภาพของเนื้อหาแต่อย่างใด

7.ถามผู้รู้ (Ask Expert)อีกวิธีที่ดีในการตรวจสอบข่าวลือคือการสอบถามโดยตรง เช่น ถามไปยังเวบไซต์ตรวจสอบข่าวลวงต่างๆ อย่างในต่างประเทศคือ factcheck.org ส่วนในไทยก็เริ่มมีแล้วอาทิ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์เปิดตัวโครงการ “ชัวร์แล้วแชร์ได้” ทางเวบไซต์sonp.or.th เป็นต้น

วัตถุประสงค์การสร้างข่าวลวงนั้น ในมุมคนกุข่าวนั้นมักมุ่งสนับสนุนผลประโยชน์ของตนเองและ “ดิสเครดิต” ฝ่ายตรงข้าม (แนว Propaganda) อาทิ อิงเรื่องการเมือง เรื่องธุรกิจส่วนในมุมคนขายข่าวนั้นก็เพื่อวางกับดักล่อให้คนเข้ามาในเวบไซต์เยอะๆ เพื่อให้ขายข่าวได้ (แนว Clickbait)

เราจึงควรต้องรู้เท่าทันข่าวลวง ไม่ใช่รอให้ภาครัฐหรือผู้ให้บริการโซเชียลมีเดีย หาวิธีการรับมือและจัดการข่าวลวงอยู่เพียงฝ่ายเดียว แต่ทุกอย่างเริ่มได้ที่ตัวคุณ และคนที่มีอำนาจตัดสินใจที่สุดก็คือคุณ ทั้งการตัดสินใจว่าจะ “เชื่อ” หรือไม่ การตัดสินใจว่าจะ “แชร์” หรือไม่

เพราะการแชร์แม้เพียงครั้งเดียวอาจก่อให้เกิดผลกระทบตามมาได้ ดังนั้นเรามาแชร์อย่าง รับผิดชอบกันเถอะค่ะ