โครงสร้างของระบบเป็นเรื่องสำคัญ...รพ.รัฐต้องไม่ใช่แค่ โรงหมอ

โครงสร้างของระบบเป็นเรื่องสำคัญ...รพ.รัฐต้องไม่ใช่แค่ โรงหมอ

โครงสร้างการบริหารจัดการภาครัฐของเราเก่าแก่โบราณ ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีเปลี่ยนไปจนเป็นหนังคนละม้วน

ระบบเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นอะไรที่กลายเป็น backbone ของโครงสร้างระบบสมัยใหม่ ถ้ารัฐบาลไม่ปฏิรูปโครงสร้าง มันก็เดินคนละทางกับภาคเอกชน แล้วจะไปด้วยกันได้อย่างไร

ระบบสาธารณสุขภาครัฐไทยเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ยังไม่มีที่ท่าจะปรับเปลี่ยนโครงสร้าง จึงไม่น่าแปลกใจที่เกิด 2 นคราสาธารณสุขไทยเป็น ระบบของภาครัฐ กับระบบของภาคเอกชน

นั่งดูรายงานประจำปีของ 2 สมาคมประกันภัย เห็นตัวเลขที่ขยายตัวมหาศาลในด้านการให้บริการประชาชนที่เลือกใช้บริการกับระบบสุขภาพกับภาคเอกชน ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในปี 2559 เบี้ยประกันรวม 568,260 ล้านบาท เติบโต 6% เป็นเบี้ยประกันใหม่ 171,248 ล้านบาท เติบโต 1.51% และมีอัตราการคงอยู่ 83% มีคนถือกรมธรรม์ในระบบ ตั้งแต่แบบสามัญ อุตสาหกรรม กลุ่ม ยูนิตลิงค์ ยูนิเวอแซลไลฟ์ และอุบัติเหตุส่วนบุคคล ที่มีผลบังคับในปี 2558 รวมทั้งสิ้น 24,204,587 ล้านกรมธรรม์ อัตราจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยต่อประชากร เท่ากับ 36.82% เฉลี่ยเงินเอาประกันภัยต่อหนึ่งกรมธรรม์ เท่ากับ 687,957 บาท

ในขณะเดียวกัน ตามรายงานประจำปี 2559 ของสมาคมประกันวินาศภัย รับเบี้ยประกันภัย ประเภทอุบัติเหตุ 25,154 ล้านบาท และประเภทสุขภาพ 7,563 ล้านบาท ตอนนี้ รัฐบาลให้สิทธิค่าลดหย่อนสำหรับผู้ทำประกันในหลายรูปแบบ เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ ลดหย่อนสูงสุด 15,000 บาท เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป สูงสุด 100,000 บาท เบี้ยประกันสุขภาพสูงสุด 15,000 บาท เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ไม่เกิน 15% ของเงินได้ สูงสุดถึง 200,000 บาท ค่าลดหย่อนที่ได้จากการซื้อประกันในรูปแบบต่างๆ รวมๆ กันแล้วทำให้สามารถนำมาหักภาษีได้ไม่น้อยทีเดียว ถือเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ประชาชนมาซื้อประกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจำนวนกรมธรรม์ประกันภัย 24.20 ล้าน จะสูงถึง 36.82% ของประชากร แต่จำนวนประชาชนที่ถือกรมธรรม์ประกันภัยจะน้อยกว่าจำนวนกรมธรรม์ เพราะบางคนอาจมีมากกว่าหนึ่งกรมธรรม์ แต่ตัวเลขก็น่าจะไม่น้อยกว่า 20 ล้านคน เมื่อรวมผู้ทำประกันสังคมอีกประมาณ 15 ล้านคน และข้าราชการและครอบครัวที่มีสวัสดิการข้าราชการประมาณ 10 ล้านคน ก็น่าเชื่อว่าประชาชนคนไทยประมาณ 45 ล้านคนหรือ 2/3 ที่มีหลักประกันสุขภาพ หรือประมาณ 60% ของประชากรทั้งประเทศ ที่เหลืออีกประมาณ 20 ล้านคนหรือ 1/3 ที่ใช้บริการประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรื่องวุ่นๆ ที่เกิดขึ้นในระบบสุขภาพไทยภาครัฐขณะนี้ จึงเป็นแค่เรื่องของคนไทย 20 ล้านคน ใช้งบประมาณปีละ 100,000 ล้านบาทเศษๆ แต่ก็สำคัญ เพราะเป็นคนจนของประเทศที่รัฐต้องดูแล

อยากให้ลองพิจารณาดูว่า ถ้าโครงสร้างระบบสุขภาพบ้านเราเปลี่ยนไปขนาดนี้ โครงสร้างองค์กรทางด้านสาธารณสุขไทยควรจะปรับเปลี่ยนอย่างไร ไม่ใช่แค่นั่งๆ นอนๆ รอวันเกษียณ เพราะโรงพยาบาลรัฐต้องไม่ใช่แค่ โรงหมอ

กฎหมายการแพทย์และสาธารณสุขมีเกือบ 50 ฉบับ และกำลังจะเพิ่มอีกเรื่อยๆ ทั้ง กฎหมายแพทย์ปฐมภูมิ กฎหมายสาธารณสุขชุมชน รวมทั้งการขอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเดิมเช่น กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกฎหมายอื่นๆ กฎหมายโดยตัวของมันเอง ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เป็นเพียงการกำหนดกติกาของการทำงาน อย่างไรทำได้ อย่างไรขัดต่อกฎหมาย และกำหนดโทษ กฎหมายกำหนดไว้อย่างนั้น

ตราบใดที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ ตราบนั้นไม่ถือเป็นการกระทำผิด นอกจากบางเรื่องบางรายการที่อาจขัดหูขัดตาและดูเหมือนจะไม่ชอบธรรม ก็ต้องว่ากันไป แต่ถ้าไม่ถึงกับผิดกฎหมาย ก็ต้องเป็นไปตามนั้น

สิ่งที่น่าเปลี่ยนแปลงคือโครงสร้างของการบริหารจัดการโรงพยาบาลรัฐที่ควรมีความเป็นอิสระมากกว่าอยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานใดอย่างสิ้นเชิงอย่างทุกวันนี้ ทุกจังหวัดควรจะมีระบบ โรงพยาบาลจัดการตนเอง ที่ประกอบด้วยโรงพยาบาลจังหวัดเป็นแม่ข่าย และโรงพยาบาลชุมชน กับ รพ.สต. เป็นลูกหลานเครือข่ายเดียวกัน เหมือนดังเช่นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน ที่มีเครือโรงพยาบาลนับสิบๆแห่ง เขาสามารถ pull resources มาแบ่งปัน กระจาย ลดต้นทุน สามารถต่อรองในการจัดซื้อจัดจ้างที่เหมาะสมกับพื้นที่

ระบบบริหารโรงพยาบาลต้องแบ่งกันรับผิดชอบชัดเจนระหว่างฝ่ายแพทย์กับฝ่ายบริหาร เรื่องอะไรที่ไม่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ฝ่ายบริหารต้องทำ ไม่ว่าการเงิน บุคคลากร ครุภัณฑ์ จัดซื้อจัดจ้าง สื่อสารองค์กร องค์กรสัมพันธ์ ประชาสัมพันธ์ สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนสังคม สร้างความตระหนักรู้ รวมทั้งการร่วมมือกับท้องถิ่น สร้างเสริมสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ เหมาะสมกับวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนกัน เพราะโรงพยาบาลในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่โรงหมอ เหมือนในอดีต

ค่าตอบแทนต้องใกล้เคียงกับเอกชนมากขึ้น ไม่ให้คนไหลออกง่ายๆ สิทธิประโยชน์และ incentive ต้องมี ถ้าทำดีต้องได้รับผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่พร่ำแต่เรื่องจิตอาสาที่กินไม่ได้ ถ้าทำไม่ดีก็ปลดออกได้ ลองดูว่าทำไมกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนถึงได้โตเอาๆ แต่โรงพยาบาลรัฐมีแต่เตี้ยเอาๆ

โครงสร้างเปลี่ยน กฎหมายก็ต้องเปลี่ยนตามโครงสร้าง เป็นไปไม่ได้เลยที่กฎหมายจะไม่เปลี่ยนตามโครงสร้าง แต่ถ้าโครงสร้างไม่เปลี่ยน ไม่ว่าจะให้ สปสช. ดูแล หรือโอนกลับมาให้ สำนักงานปลัด ก.สาธารณสุข มันก็จะอีหรอบเดิม วนไปวนมาอย่างนี้