ทหารม้ามองโกลไร้เทียมทาน! แต่ . . .(2)

ทหารม้ามองโกลไร้เทียมทาน! แต่ . . .(2)

จูเหวียนจางเริ่มปรึกษากับขุนพลต่าง ๆ ถึงวิธีการจัดการกับเป่ยเหวียน แม้จะมีผู้คัดค้านว่าเป่ยเหวียนยังมีกำลังที่เข้มแข็ง

และที่สำคัญคือ หวางเป๋าเป่ายังไม่ตาย แต่ในฐานะที่เป็นจักรพรรดิแห่งอาณาจักรที่ใหญ่โต พระองค์ไม่อาจที่จะแสดงความอ่อนแอและปฏิเสธการกำจัดพวกมองโกลได้ พระองค์คิดยุทธการที่จะใช้อย่างงดงามโดยใช้กำลังทั้งสิ้น 150,000 คน มีสวีต๋าเป็นแม่ทัพ หลี่เหวินจงเป็นรองแม่ทัพฝ่ายขวา เผิงเซิ่งเป็นรองแม่ทัพฝ่ายซ้าย สวีต๋านำทัพออกทางเห้อเหมินกวนและป่าวประกาศว่าจะขับไล่จักรพรรดิเหวียนและหวางเป๋าเป่าออกไป แต่เป้าหมายที่แท้จริง คือ การหลอกล่อทหารมองโกลให้ออกมาสกัดกั้นในทุ่งราบและจัดการทำลายเสีย ยุทธศาสตร์นี้มีนัยยะ 2 ประการคือ 1) ความเชื่อมั่นในความร้ายกาจของทหารม้าหมิงที่พัฒนามาถึงจุดสุดยอดเหนือกว่าทหารม้ามองโกล และ 2) แนวคิดทางยุทธศาสตร์ของจูเหวียนจางเองที่มาถึงจุดสุดยอด ด้วยการทำลายศัตรูที่มีพลังชีวิตเป็นจุดมุ่งหมาย 

ทัพของสวีต๋าออกจวีหยงกวน ส่วนทัพขวาหลี่เหวินจงคอยตีทัพมองโกลที่ปะทะกับสวีต๋า ด้านหลังเพื่อตัดทางหนี กองหนุน และ เสบียง ทัพซ้ายเผิงเซิ่งไม่มีเป้าหมายชัดเจน แต่เป็นเพียงทัพลวง เดินออกทางกันซู่ถือโอกาสตีชิงเอาทรัพย์สินแต่ก็อาจจะขนาบรุมตีมองโกลที่ปะทะกับทัพกลางพร้อม ๆ กับทัพขวา 

สวีต๋าออกเห้อเหมินกวน โดยมีหลานอวี่เป็นทัพหน้าที่สวีต๋าเลือกไว้ตามอิสระที่จูเหวียนจางให้ไว้ (หลานอวี่นี่แหละจะเป็นแม่ทัพใหญ่ที่กวาดล้างมองโกลให้สิ้นซากในอีก 15 ปีให้หลัง) เริ่มปะทะกับทัพของหวางเป๋าเป่าที่เหยหม่าชวน (เมืองเค่อหลู่หลุนเหอของมองโกลเลียปัจจุบัน) และ ถู่ลาเหอ (ด้านตะวันตกของเมืองอูลันบาตอปัจจุบัน) ตามลำดับและได้ชัยชนะจนมาถูกซุ่มโจมตีที่หลิงไป่ (ทางเหนือของมองโกเลียในปัจจุบัน) แต่สวีต๋านิ่งและสงบสั่งให้เหลานอวี่ตีฝ่าวงล้อมออกมาตั้งป้อมยันการบุกของศัตรูไว้ได้นับ 10 ครั้ง หวางเป๋าเป่าได้แต่ปลงตกในชะตาของตนเอง 

ทางด้านทัพขวาหลี่เหวินจงก็ได้ใจในชัยชนะที่โข่วเวิน (ทางใต้ของฉากันนั่วเอ่อของมองโกเลียในปัจจุบัน) และตกอยู่ในวงล้อมซุ่มโจมตีเช่นเดียวกัน แต่การใช้ทหารม้าของหลี่เหวินจงนั้นเร็วกว่ามองโกลเสียอีก สามารถสังหารข้าศึกกว่าหมื่นคนภายใต้สภาวะที่เป็นรองอย่างยิ่ง ข้าศึกล่าถอย แต่หลี่เหวินจงได้ไล่ติดตามอย่างไม่ลดละ ฝ่ายข้าศึกจึงหยุดตั้งป้อมเพื่อประจัญบาน แต่หลี่เหวินจงกลับหยุดและประจันหน้าโดยไม่รบ เมื่อตระหนักว่าเสบียงตนเองไม่เพียงพอจึงเดินทัพจากไปอย่างสบายใจ ฝ่ายมองโกลไม่กล้าตามด้วยเกรงว่าจะมีกลอุบาย 

แต่สถานการณ์สงครามอาจเปลี่ยนแปลงได้สารพัดจากสิ่งที่คาดหมายไว้ ทัพซ้ายที่ไม่ได้คาดหวังไว้กลับสร้างผลงานมหาศาล ทัพซ้ายของเผิงเซิ่งได้ชัยชนะตามลำดับก่อนหลังถึง 7 ครั้ง คือ ที่ ซีเหลียง หย่งชาง หลินซาน กัวโจว (ทั้งหมดในมณฑลกันซู่ปัจจุบัน) และ ที่ เหย่ฉีนายลู่ของมองโกเลียในปัจจุบัน จนกระทั่งไม่มีทัพมองโกลให้รบแล้ว จึงยกทัพกลับ 

ในการรบครั้งนี้ จูเหวียนจางไม่อาจบรรลุเป้าหมายของการกวาดล้างพวกมองโกลให้สิ้นซากได้ แต่พวกมองโกลเองก็ตระหนักแล้วว่าพวกหมิงเก่งกล้าสามารถเพียงใด 

จูเหวียนจางไม่ได้วางใจต่อความอ่อนแอของเป่ยเหวียน และ ระลึกเสมอว่าทหารม้ามองโกลเป็นภัยคุคามอย่างยิ่งต่อราชวงศ์หมิง ในปีหงอู่ที่ 13 และ 14 (ค.ศ. 1380-1) นั้น แม้ว่าจูเหวียนจางทรงจัดให้เดินทัพไกลไปสยบมองโกลให้ถึงถิ่นในครั้งก่อนและได้ชัยชนะ แต่ก็ไม่ได้สร้างความย่อยยับถึงฆาตแก่มองโกล ซึ่งยังคงตามรังควานชายแดนตลอดเวลา จูเหวียนจางตระหนักและอยากจะกวาดล้างมองโกลให้สิ้นซากจริง ๆ แต่ก็จนปัญญาด้วยขุนพลต่าง ๆ ไม่ล้มหายตากจากเอง ก็ถูกสั่งลงโทษ เนรเทศหรือตัดหัวเพราะตนเอง ในบรรดาขุนพลที่เก่งกาจรุ่นที่ชนะมองโกลมาตลอด มีเพียงหลานอวี่คนเดียวที่ยังเหลืออยู่ 

ดังนั้นในปีหงอู่ที่ 20 (ค.ศ. 1381) จูเหวียนจางจึงทรงมีบัญชาให้มียุทธการสยบทะเลทราย (ซึ่งหมิงหมายถึงเป่ยเหวียน) หลานอวี่ขออาสาออกรบแต่ได้เป็นเพียงรองแม่ทัพซ้ายโดยมีเผิงเซิ่งเป็นแม่ทัพใหญ่ ในฐานะของนักรบ การเป็นแม่ทัพใหญ่ถือเป็นความฝันอันสูงสุดอีกทั้งยังสามารถลบล้างปมในใจจากครั้งหงอู่ปีที่ 5 ที่แม้จะไม่ได้รบแพ้หวางเป๋าเป่า แต่ก็ต้องยกทัพกลับและสูญเสียทหารไปมากมาย เป้าหมายสูงสุดของนักรบก็คือ การรบชนะฝ่ายที่เคยเอาชนะตนเองมา 

เป้าหมายแรกที่จูเหวียนจางตั้งไว้ในยุทธการครั้งนี้ก็คือการยึดครองพื้นที่กว้างใหญ่บริเวณด้านเหนือของแม่น้ำอุสซุรี พระองค์ทรงวางยุทธศาสตร์หลักไว้ว่าให้กองทัพตั้งหลักที่ทงโจว (อำเภอทงของปักกิ่งปัจจุบัน) แล้วส่งกำลังส่วนน้อยไปบุกยึดชิ่งโจวเสียก่อน (ธงซ้ายแห่งปาหลินของมองโกเลียในปัจจุบัน) หลานอวี่ได้รับภารกิจนี้เดินทัพในเวลากลางคืนด้วยความเร็วโดยไม่หยุดพักท่ามกลางหิมะที่ตกอย่างหนักและเข้าบุกชิ่งโจวโดยที่ศัตรูไม่ทันรู้ตัวแม้แต่ประตูเมืองก็เปิดไว้ จึงได้เชลยเป็นจำนวนมาก เป้าหมายถัดไปคือ บริเวณเหลียวตงที่น่าฮาชู่ขุนพลของมองโกลมีกำลัง 2 แสนคนตรึงไว้อยู่ แต่ว่า จูเหวียนจางได้ส่งมองโกลที่ยอมแพ้มาตั้งรกรากในเขตของราชวงศ์หมิง ไปหว่านล้อมด้วยเงินทองให้ยอมสวามิภักดิ์และย้ายพลพรรคมาตั้งหลักแหล่งภายในดินแดนของราชวงศ์หมิง นี่คือวิธีการที่จะทำให้พื้นที่ในเป่ยเหวียนมีผู้คนเบาบางไม่ให้เป็นภัยคุกคามต่อหมิงอีกต่อไป รวมทั้งหมดแล้วได้เชลยถึงกว่า 2 แสนคน

อย่างไรก็ตาม ภัยคุกคามจากทุ่งหญ้าในมองโกเลียยังไม่หมดสิ้น ครั้นปีหงอู่ที่ 21 (ค.ศ. 1387) จูเหวียนจางทรงโปรดแต่งทัพออกไปกวาดล้างทุ่งหญ้ามองโกลครั้งใหญ่อีก คราวนี้หลานอวี่ได้เป็นแม่ทัพใหญ่เสียที เนื่องจากเผิงเซิ่งถูกจับด้วยทำให้จูเหวียนจางทรงกริ้ว หลานอวี่ได้กำลังหนึ่งแสนห้าหมื่นคน และมีเส้นทางเดินทัพเพียงเส้นทางเดียว เป้าหมายก็คือ ปู่หวีเอ๋อไห่ (ทะเลสาบไบคาล) อันเป็นแหล่งกบดานของทูกุสเตมูเอ่อ ที่เคยเป็นเชลยเมื่อปีหงอู่ที่ 3 (ค.ศ. 1370) และถูกปล่อยตัวไปหลังจากนั้น แต่กลับไปซ่องสุมผู้คน ตั้งตัวเป็นใหญ่และรุกรานชายแดนมาเป็นสิบปี จูเหวียนจางสั่งคนไปเกลี้ยกล่อมหลายครั้งหลายหนก็ไม่เป็นผล

หลานอวี่ให้โอวาทปลุกใจทหารหาญภายใต้บังคับบัญชาจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ข้ามภูเขา ข้ามแม่น้ำ ข้ามทะเลทรายอันเวิ้งว้างไร้ผู้คน มีแต่แสงแดดที่แสบตา และ พายุทรายเต็มท้องฟ้า โดยที่ไม่มีหลักประกันของการส่งกำลังบำรุง แต่ละคนจะต้องแบกเสบียงที่หนักยิ่งเอง หลายคนทยอยล้มจากไป ท่ามกลางภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมเช่นนี้ไม่อาจทราบว่าศัตรูอยู่ที่ใดจนกระทั่งมาถึงไป่เอี๋ยนจิ่งที่ห่างจากปู่หวีเอ๋อไห่ประมาณ 40 ลี้ ขุนพลต่างเริ่มไม่แน่ใจว่าจะไปต่อดีหรือไม่ แต่ในที่สุดหลานอวี่ก็สั่งการให้เดินทัพต่อไปด้วยความมั่นใจ การเดินทางเป็นไปด้วยระมัดระวังไม่ให้ทิ้งร่องรอย แม้กระทั่งการหุงข้าวก็ให้ทำในอุโมงค์ไม่ให้มีควัน

ส่วนทูกุสเตมูเอ่อก็ได้ทราบข่าวกองทัพหมิงเช่นเดียวกัน แต่ซุ่มไว้เพื่อรอให้กองทัพหมิงหมดเสบียงเสียก่อนจึงค่อยจัดการ แต่ก็หาไม่พบร่องรอยของกองทัพหมิงเช่นเดียวกัน นานเข้าก็หมดความระมัดระวังตัวได้แต่ดื่มสุราสนุกสนานไปวัน ๆ วันหนึ่งเกิดพายุทะเลทรายและกำลังทัพหน้าของหลานอวี่ตีเข้ามาที่ค่ายของมองโกล ท่ามกลางพายุทราย ทหารม้าของราชวงศ์หมิงดูหน้าตาดุร้ายดาหน้าตีเข้ามา ตวัดดาบฆ่าฟันไม่ยั้ง รวมกันมาแล้วกระจายออกไป เมื่อแม่ทัพฝ่ายมองโกลถูกฆ่า ทหารมองโกลก็ไม่เป็นขบวน ส่วนทูกุสเตมูเอ่อหนีไปหวังไปตั้งตัวที่อื่น แต่อนิจจาถูกคู่แค้นที่บรรพบุรุษตนไปแย่งตำแหน่งมาฆ่าตายที่กู่ลาเหอนั่นเอง

ยุทธการที่ปู่หวีเอ๋อไห่สามารถกำจัดกองกำลังติดอาวุธของมองโกลอย่างถอนรากถอนโคน จับพระโอรสองค์รอง ตี้เป่าหนูของจักรพรรดิเหวียนและราชวงศ์อื่น ๆ อีกกว่า 100 คน พระญาติกว่า 3,000 คน ทหาร 7 หมื่นคน วัวแพะกว่าแสนตัว ที่สำคัญได้พระลัญจกรของจักรพรรดิเหวียนอายุกว่าร้อยปี

จูเหวียนจาง ประสบความสำเร็จจากความพยายามถึง 20 ปี ช่างเป็น 20 ปีที่ยาวนานและดูเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด ส่วนหลานอวี่ก็ประสบความสำเร็จในการบรรลุถึงความเป็นแม่ทัพใหญ่และชัยชนะอย่างเด็ดขาดที่ขุนพลรุ่นพี่ใฝ่ฝันแต่ไม่ประสบความสำเร็จอันเป็นความใฝ่ฝันสูงสุดของนักรบ เป่ยเหวียนก็ปิดฉากลง

กรณีราชวงศ์หมิงดังกล่าวข้างต้นคงแสดงให้เห็นแล้วว่า ทหารม้ามองโกลไม่ใช่ไร้เทียมทานบนปฐพีนี้ ราชวงศ์หมิงที่เป็นชาวฮั่นก็สามารถพัฒนาทหารม้าจนเหนือกว่ามองโกลด้วยการเคลื่อนที่เร็วกว่า โจมตีโดยข้าศึกไม่รู้ตัว การบุกทะลุทะลวงหลายทิศทางให้ข้าศึกปั่นป่วนและถูกทำลายให้ย่อยยับ และ ความสามารถในการรบประจัญบานที่ต้องใช้ทักษะสูงเพื่อให้เหนือกว่า อย่างไรก็ตาม การวางยุทธศาสตร์ในการรบก็ยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการได้มาซึ่งชัยชนะ ซึ่งในเรื่องนี้ทหารม้ามองโกลดูจะไม่ได้เหนือกว่า

ล่วงถึง ค.ศ. 1618 นูเอ่อฮาเช่อ ชาวหนวี่เจินเริ่มเข้มแข็งเพียงพอที่จะประจันหน้ากับราชวงศ์ หมิง ด้วยการสานสัมพันธ์กับพวกมองโกล ทหารม้าแห่งหนวี่เจินเริ่มเป็นภัยคุกคามกับชาวฮั่นแห่งที่ราบภาคกลางอีกครั้งหนึ่ง