ผู้นำแบบดิจิทัล

ผู้นำแบบดิจิทัล

แม้แต่ผู้บริหารที่พกสมารท์โฟน แต่ไม่ได้ใช้อะไรมากไปกว่าโทรศัพท์ และไลน์ ยังบอกว่าข้าพเจ้าจะนำพาองค์กรไปสู่ยุคดิจิทัล สี่จุดศูนย์

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า วันนี้เราอยู่กับผู้นำดิจิทัล จริงหรือไม่ ถ้าอยากรู้ว่าต้นไม้ต้นหนึ่งเป็นต้นมะม่วง หรือต้นมะเฟือง หนทางตัดสินใจที่ง่ายที่สุด คือดูผลที่เกิดขึ้นจากต้นไม้นั้น เห็นผลเป็นมะม่วงก็รู้ทันทีว่าเป็นต้นมะม่วง ไม่ใช่มะเฟือง ถ้าไม่มีผลให้ดู แล้วดูแค่ลำต้นกับใบ บางคนอาจเดาผิดได้ จะดูผู้นำดิจิทัล ให้ดูผลที่เกิดขึ้นกับองค์กรนั้น ภายใต้การบริหารของผู้บริหารคนนั้น

วารสารของ Sloan School of Management ที่ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 2018 รายงานการวิจัยที่รวบรวมมาจากธุรกิจ และอุตสาหกรรม 28 สาขา ที่ดำเนินงานอยู่ใน 123 ประเทศ บอกว่าองค์กรที่เป็นดิจิทัลจริง จะมีลักษณะที่เด่นชัดในหลายเรื่อง เรื่องแรกที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ มีการกระจายอำนาจการตัดสินใจลงไปในระดับผู้ทำงาน แทนที่จะกระจุกอยู่ที่ผู้บริหาร เพราะถ้าองค์กรมีดิจิทัลมาก ก็ไม่จำเป็นต้องรายงานข้อมูลขึ้นไปตามลำดับขั้น เพื่อไปจบลงที่การตัดสินใจ ของผู้บริหาร ดิจิทัลที่เพียงพอทำให้คนทำงานทุกคน มีข้อมูลและสารสนเทศ ที่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง หรืออย่างน้อยที่สุด ก็เป็นการตัดสินใจโดยมีความเสี่ยงน้อยที่สุด เมื่อกระจายการตัดสินใจลงไปในระดับล่างมากขึ้น องค์กรจึงส่งเสริมให้มีการทดลองปรับเปลี่ยนการทำงานอย่างสม่ำเสมอ เพราะรู้ว่าปรับการทำงานไปเป็นแบบใหม่แล้ว จะทราบว่าผลงานดีขึ้น หรือแย่ลงได้ในทันที จากการมีดิจิทัลที่เพียงพอที่จะรายงานผลลัพธ์ได้อย่างทันท่วงที 

ผู้บริหารดิจิทัล จึงเป็นคนที่พยายามกระจายอำนาจ ไม่กระจุกรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ตนเอง แต่เพียงผู้เดียว ผู้บริหารดิจิทัล ส่งเสริมการทดลอง ลองผิดบ้างถูกบ้าง ไม่โกรธเคืองลงโทษใด ๆ ในทางตรงข้าม จะไล่เคี่ยวเข็ญคนที่ทำงานสบาย ๆ แบบเดิมๆ ให้รู้ร้อนรู้หนาวกับการไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่รอบตัวเปลี่ยนไปคนละเรื่องกับวันวานไปแล้ว การทดลองและได้เรียนรู้ เป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนที่ทำงานกับผู้บริหารดิจิทัล การไล่ล่าหาแพะรับบาปจากการเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องที่ผู้บริหารดิจิทัล ไม่ใส่ใจให้ความสำคัญใดๆ ไม่มีแพะ ในองค์กรที่มีผู้บริหารดิจิทัล

เมื่อกล้าได้กล้าเสีย จึงพบเสมอว่าองค์กรที่มีดิจิทัลเพียงพอ ปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว และปรับเปลี่ยนอยู่เป็นประจำ เพราะบรรดาเครื่องมือดิจิทัลทั้งหลาย ล้วนแต่ช่วยสนับสนุนให้ทำงานใหม่ได้เร็วขึ้น และยังลดโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดลงไปอีกด้วย ผู้บริหารดิจิทัล จึงเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ไม่พยายามยึดมั่นถือมั่น อยู่กับความสำเร็จของวันวาน วันวานดีอยู่แล้ว แต่วันนี้ก็ยังต้องเปลี่ยน แต่ที่น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกคือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งปวง ล้วนมีคำอธิบายที่ชัดเจนว่าทำไมต้องมีการปรับเปลี่ยน ผู้บริหารดิจิทัล นำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างโปร่งใส ไม่เปลี่ยนแบบงุบงิบ เพราะรู้อยู่กับตนเองว่า ในยุคบิ๊กดาต้า ไม่มีผู้บริหารคนใด บริหารอยู่ในเมืองลำแล ที่คนอื่นไม่สามารถรับรู้รับทราบสิ่งที่ผู้บริหารคนนั้นได้กระทำไว้ ยุคบิ๊กดาต้าไม่มีที่ซุ่มซ่อนการกระทำที่ผ่านมาของผู้บริหารได้เลย ผู้บริหารดิจิทัล จึงยึดความโปร่งใสเป็นสรณะ จะเปลี่ยนแปลงอะไร ก็บอกได้ อธิบายได้อย่างสง่างาม ไม่มีการเล่นคารม หรือใช้ตรรกะที่ปุถุชนไม่อาจรับได้ เช่นสปิริตอยู่ที่นักกีฬา ไม่ใช่อยู่ที่ใจ

องค์กรจะเปลี่ยนได้เร็วมากน้อยแค่ไหน ขึ้นกับว่ามีคนช่วยกันคิดเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด จะเปลี่ยนอะไร นั่งคิดอยู่คนเดียว หรือพวกเดียว คิดกี่ครั้ง ของใหม่ก็คือของเก่าที่เอามาแต่งตัวใหม่ คิดเปลี่ยนใหม่ได้จากความคิดที่แตกต่าง และหลากหลาย ผู้บริหารดิจิทัล จึงชวนให้คนทำงานคิดแตกต่างกัน แต่ไม่ใช่แตกต่างให้ทะเลาะกัน เป็นความแตกต่างเพื่อให้เห็นโอกาสใหม่ ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการยกระดับองค์กรให้ประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น

ผู้บริหารที่ผูกขาดความคิด ใครคิดต่างเห็นต่างกลายเป็นศัตรูไปหมด ไม่ใช่คนที่ทำให้เปลี่ยนแปลงเป็นสี่จุดศูนย์ได้อย่างแน่นอน