อายุสุขภาพที่ยืนยาว (2)

อายุสุขภาพที่ยืนยาว (2)

ครั้งที่แล้วผมเขียนถึง Health Adjusted Life Expectancy (HALE) หรือความยืนยาวของอายุในเชิงของสุขภาพที่ดี

ซึ่งแตกต่างจาก (ต่ำกว่า) Life Expectancy หรือความอายุยืน โดยสรุปได้ว่ามนุษย์อายุยืนมากขึ้น และ HALE ก็เพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ดีมีช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ แต่สุขภาพไม่สมบูรณ์ยาวนานนับ 10 ปี โดยเฉลี่ยทั่วโลก ทั้งนี้ช่วงเวลาดังกล่าวจะยาวนานกว่า 10 ปี ในประเทศพัฒนาแล้ว (ซึ่งน่าจะรวมถึงกลุ่มผู้มีรายได้สูงในประเทศกำลังพัฒนาด้วย) และสั้นกว่า คือ 7-9 ปี ในประเทศกำลังพัฒนา ประชาชนที่มีอายุ และอายุสุขภาพที่ยืนยาวที่สุด คือ ผู้ชายสวิส อายุยืนมากที่สุดคือ 81.3 ปี และผู้หญิงญี่ปุ่นอายุยืนที่สุดคือ 86.8 ปี แต่ผู้ชายที่สุขภาพดียืนยาวมากที่สุดคือ ผู้ชายสิงคโปร์ที่ 74.7 ปี และผู้หญิงสิงคโปร์ ที่อายุสุขภาพดียืนยาวถึง 77.6 ปี

อายุสุขภาพที่ยืนยาว (2)

กราฟที่ 1 เปรียบเทียบอายุยืนและอายุสุขภาพที่สมบูรณ์สำหรับคนไทย ปี 2016

ส่วนประเทศไทยนั้น (กราฟที่ 1) ผู้ชายไทยจะมีชีวิตในช่วงสุขภาพไม่สมบูรณ์นานถึง 8.5 ปี โดยเฉลี่ย แต่ผู้หญิงจะยาวนานกว่าคือ 9.3 ปี ที่สำคัญคือ คนอายุมากเช่น ผมปัจจุบันอายุ 61 ปีแล้ว ก็ย่อมไม่อยากจะยอมรับว่าจะมีอายุที่สุขภาพดีเหลืออยู่อีกเพียง 3 ปี เท่านั้น (และจะมีชีวิตเหลือเพียง 10 ปี เท่านั้น) แต่สมมุติว่ามองโลกในแง่ดีสุดๆ คือ คิดเปรียบเทียบตัวเองว่าเหมือนผู้ชายสิงคโปร์ที่อายุสุขภาพดียืนยาว ที่สุดในโลกคือ 74.7 ปี ก็แปลว่า เหลืออายุที่ยังมีสุขภาพดีสมบูรณ์เหลืออยู่เพียง 13 ปี เท่านั้น ดังนั้น จึงจะต้องมุ่งมั่นหาทางทำให้ อายุสุขภาพที่ดี ยืนยาวขึ้นไปอีก ทั้งนี้ผมเชื่อว่า ท่านผู้อ่าน ”เศรษฐศาสตร์จานร้อน” ก็น่าจะอยู่ในวัยกลางคน (45+) ขึ้นไป ซึ่งคงจะคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย

เป็นเหตุให้ผมหันมาแสวงหาข้อมูล เพื่อช่วยให้รู้จักร่างกายตัวเองให้ดียิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมารู้แต่เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องใกล้ตัว(คือร่างกายตัวเอง)นั้น ไม่รู้เรื่องเลย ไปตรวจสุขภาพทุกปี แต่อ่านผลการตรวจสุขภาพตัวเองไม่ออก และต้องพึ่งพาหมอ เภสัชกร และพยาบาลตลอดมา การรักษาสุขภาพตัวเอง ก็มักจะฟัง “เขาบอกมาว่า” กินอย่างนั้นดี กินอย่างนี้ไม่ดี โดยไม่เคยรู้อะไร เกี่ยวกับร่างกายตัวเองเลย

การหันมาศึกษา เรื่องสุขภาพอย่างจริงจังไม่ง่าย เพราะผมไม่มีภูมิหลังหรือความชำนาญด้านนี้เลย แต่โชคดีที่สมัยนี้ มีข้อมูลแพร่หลายอยู่มาก หากขยันก็จะหาคำตอบได้เกือบทุกครั้งไป

วิธีหนึ่งคือการประเมินจากสถิติว่า เมื่อได้มีชีวิตอยู่มานานถึง 61 ปีแล้ว น่าจะยังมีชีวิตอยู่ได้อีกนานเท่าไหร่ ซึ่ง สถิติที่มีอยู่ (โดยบริษัทประกันภัย) เราสามารถนำเอามาใช้ได้โดยเข้าไปที่เว็บไซด์ http://www.worldlifeexpectancy.com/your-life-expectancy-by-age

ตัวอย่างเช่น ผู้ชายไทยที่ปัจจุบันอายุ 60 ปี คาดการณ์ได้ว่าจะมีชีวิตอยู่ได้ถึง 79.2 ปี จะเห็นได้ว่า จากสถิตินั้น โดยเฉลี่ยผมจะมีอายุเหลืออีกเพียง 18-22 ปี เท่านั้น และ จะต้องหัก 7-8 ปี ออก เพราะจะเป็นช่วงที่สุขภาพไม่สมบูรณ์ คุณภาพชีวิตก็คงต้องตกต่ำลงไป แปลว่าเหลือช่วงที่จะมีชีวิตอย่างมีคุณภาพเหลือเพียง 11-17 ปี เท่านั้น คำถามคือ เราจะทำอะไรกับตัวเองเพื่อให้อายุยืนมากขึ้นกว่านี้ได้หรือไม่? คำตอบคือเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2018 มีรายงานผลการวิจัยของมหาวิทยาลัย Harvard ที่อาศัยข้อมูลการดำเนินชีวิตของพยาบาล (ผู้หญิง) 78,865 คน และบุคลากรด้านสาธารณสุข (ผู้ชาย) 44,354 คน พบว่าหากต้องการมีอายุยืนยาวมากขึ้นอีก 12-14 ปี จะต้องปฏิบัติตาม 5 ข้อ ดังนี้ อย่างเคร่งครัด

  1. กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ (ไม่มันมาก หรือหวานมากเกินไป)
  2. ออกกำลังกาย 30 นาทีหรือมากกว่านั้น ทุกวัน
  3. อย่าปล่อยให้อ้วน(BMI ต้องอยู่ที่ 18.5 ถึง 24.9) วัด BMI ได้ที่ https://www.nhlbi.nih.gov/health/educational/lose_wt/BMI/bmi-m.ht
  4. ดื่มไวน์ได้ไม่เกิน 1 แก้วต่อวันสำหรับผู้หญิง และไม่เกิน 2 แก้ว ต่อวันสำหรับผู้ชาย
  5. ห้ามสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด

อายุสุขภาพที่ยืนยาว (2)

กราฟที่ 2 การยืดอายุโดยปฏิบัติตาม 5 ข้อ(ผลการวิจัย มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด) 

ทำตามกฎเหล็ก 5 ข้อ ดังกล่าวแล้ว มีผลอย่างไรนั้น สรุปได้จากกราฟที่ 2

จะเห็นได้ว่าการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องนั้น จะช่วยยืดอายุไปได้อีกนับ 10 ปี ซึ่งน่าจะเป็นการยืดอายุอย่างมีคุณภาพเพราะ การวิจัยสรุปว่าการปฏิบัติตามกฎ 5 ข้อข้างต้น ลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็งได้ 65% และจากกการเป็นโรคหัวใจได้สูงถึง 82% (ซึ่งน่าจะช่วยปกป้องร่างกายจากโรคเส้นเลือดตีบตันในสมองด้วย)

สิ่งที่น่าจะยากลำบากที่สุดในกฎ 5 ข้อ ข้างต้น น่าจะเป็นการลดน้ำหนักให้ BMI อยู่ที่ 18.5 ถึง 24.9 นอกจากนั้นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งอีกประการหนึ่ง คือ การนอนหลับให้ครบ 7-8 ชั่วโมง ทุกคืน โดยจะต้องนอนหลับลึก และนอนหลับฝัน(REM) ประมาณอย่าง1 ชั่วโมง กับ 45 นาที ซึ่งจะลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคสมองเสื่อมครับ