รู้จัก “วิทนีย์ จอห์นสัน” ผู้หญิงพลิกโลก

รู้จัก “วิทนีย์ จอห์นสัน” ผู้หญิงพลิกโลก

เธอคนนี้คือผู้เชี่ยวชาญในเรื่อง Personal Disruption จากประสบการณ์ตรงที่ได้พัฒนาตนเองจากเลขานุการมาเป็นนักวิเคราะห์การเงินการลงทุนขั้นเทพ

จะขอชวนคุยกันเรื่องการเป็นผู้นำในยุคสมัย Disruption Economy (เศรษฐกิจที่ถูกพลิกผันที่หรือทำให้ป่วนด้วยเทคโนโลยีหรือแนวความคิดใหม่ๆจนต้องหยุดชะงักแล้วปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองให้เข้ากับการพลิกผันนั้น) กันอีกครั้ง

ตั้งใจว่าต้องคุยเรื่อง Disruption กันบ่อยๆ เพราะอย่างที่รู้ๆ กันอยู่ว่าการพูดเรื่องการพลิกผันเป็นเรื่องง่าย แต่การพลิกผันให้สำเร็จจริงๆเป็นเรื่องยาก เนื่องด้วยมีปัจจัยหลายอย่างและมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวข้องหลายฝ่ายด้วยกัน ดังนั้นหากผู้นำต้องการยกเครื่องพลิกผันทีมงานและองค์กรเพื่อรับมือหรือนำหน้าคู่แข่งคนอื่นๆที่สามารถไปได้ลิ่ว ในยุคเศรษฐกิจพลิกผัน ผู้นำต้องมีการเตรียมการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างด้วยกันเพื่อสร้างองค์ประกอบทั้งหลายให้พร้อมสนับสนุนการพลิกผันก่อนเดินหน้าโลดลิ่วในยุคนี้ได้อย่างยั่งยืนโดยไม่มีอาการสะดุดต้องถอยหลังตกม้าตายไปก่อน

เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกไปแล้วสำหรับ "เคลย์ตัน คริสเตนเสน"  ศาสตราจารย์คณะบริหารธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดผู้รังสรรค์ทฤษฎีว่าด้วย Disruptive Innovation (นวัตกรรมพลิกผันที่เกิดจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่พลิกผันโลกยุคเก่า) ตั้งแต่ปีค.ศ. 1997 จากนั้นมาก็มีคนหัวสมัยใหม่ทุกรุ่นทุกวัยทั่วโลกที่ได้อ่านหนังสือของคริสเตนเสนแล้วพยายามไปสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพของตนเองกันอย่างคึกคัก

หลายคนสำเร็จด้วยดีและหลายคนล้มเหลว หนึ่งในคนที่ประสบความสำเร็จก็คือ สาวสวยนาม "วิทนีย์ จอห์นสัน" ที่ไต่เต้าจากการเป็นเลขานุการของผู้บริหารในสถาบันการเงินที่วอลล์สตรีทมาเป็นเป็นนักวิเคราะห์การเงินระดับสูงในวอลล์สตรีทเสียเอง  

เธอได้ศึกษาหลักคิดของคริสเตนเสนแล้วนำไปใช้ในการวิเคราะห์เพื่อลงทุนซื้อขายหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์และลงทุนในบริษัทที่เพิ่งเริ่มกิจการอย่างประสบความสำเร็จ จากนั้นได้มาร่วมก่อตั้งกองทุนนวัตกรรมพลิกผัน (Disruptive Innovation Fund) กับคริสเตนเสนที่คณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

จอห์นสันเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนวัตกรรมพลิกผันและการพลิกผันตนเอง (Personal Disruption) จากประสบการณ์ที่ได้พัฒนาตนเองจากเลขานุการมาเป็นนักวิเคราะห์การลงทุน นักวิเคราะห์การธนาคาร และกลายเป็นนักวิเคราะห์การเงินขั้นเทพจนมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเชิญให้มาโค้ชนักบริหารระดับสูงในหลักสูตรพัฒนานักบริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย

โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจอห์นสันได้แต่งหนังสือขายดีหลายเล่ม เช่น “Disrupt Yourself:  Putting the Power of Disruptive Innovation to Work” (พลิกผันตนเอง – นำพลังแห่งนวัตกรรมพลิกผันมาใช้ให้เกิดผล พิมพ์ปี 2015) “Dare, Dream, Do:  Remarkable Things Happen When You Dare to Dream”(กล้า ฝัน ลงมือทำ – สิ่งโดดเด่นเกิดขึ้นได้เมื่อคุณกล้าฝัน พิมพ์ปี2012) และที่เพิ่งออกวางแผงในเร็วๆนี้ คือ “Build an A-Team:  Play to Their Strengths and Lead Them Up the Learning Curve” (สร้างทีมเกรดเอ – เล่นให้สุดฤทธิ์ นำให้สุดโค้งการเรียนรู้)

หนังสือเหล่านี้สร้างแรงบันดาลใจและแสดงหนทางให้กับคนที่อยากริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน โดยเฉพาะนักสตาร์ทอัพทั้งหลายให้มีความกล้าที่จะเดินออกจากกรอบความคิดเดิมๆสิ่งแวดล้อมเดิมๆเพื่อฝันในสิ่งที่ตนอยากทำ และมีหลักการที่เป็นระบบในการลงมือทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์

แรงบันดาลใจในการเริ่มเขียนหนังสือของเธอมาจากการที่ได้เห็นผู้หญิงเพื่อนร่วมอาชีพในแวดวงธนาคารและการเงินไปไม่ถึงดวงดาว สาเหตุที่ไปไม่ถึงใช่ว่าพวกเธอเหล่านั้นขาดความสามารถ แต่อุปสรรคที่สำคัญคือพวกเธอไม่กล้าแม้แต่จะฝัน  สำนักจัดอันดับนักคิดของโลกเช่น Thinkers50 จัดให้จอห์นสันเป็นหนึ่งใน 50 นักคิดภาคธุรกิจที่สร้างผลกระทบมากที่สุดของโลก แม้ว่าจะเก่งและดังระดับนี้แล้วจอห์นสันก็ยังไม่หยุด เธอยังสนุกที่จะแบ่งปันประสบการณ์ความรู้ของเธอให้ผู้อื่นได้สร้างฝันให้เป็นจริงเช่นเธอต่อไปเรื่อยๆ

ทึ่งกับความสำเร็จของผู้หญิงคนนี้มาพอสมควรแล้ว มาศึกษาประสบการณ์ที่เธอแบ่งปันในหนังสือกันบ้างนะคะ เธอบอกว่าบุคคลที่จะได้รับประโยชน์จากการอ่านหนังสือของเธอและนำบทเรียนนั้นไปลงมือปฏิบัติก็คือ

  • คนที่มีศักยภาพในตนเองสูงและปรารถนาจะพัฒนาเส้นทางอาชีพของตน
  • ผู้จัดการที่กำลังต้องการปลูกฝังวิธีคิดแบบพลิกผันให้กับทีมงาน
  • ผู้นำที่กำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงธุรกิจที่ทำให้อนาคตดูไม่แน่นอน

แม้ว่ากลุ่มคนที่เธอมองว่าเป็นเป้าหมายมีเพียงสามกลุ่ม แต่ดิฉันเชื่อว่าเธอไม่หวงห้ามแน่นอนที่คนทั่วๆไปอยากจะอ่านหนังสือของเธอด้วย ดิฉันเชียร์เต็มที่ให้ท่านอ่านหนังสือของเธอค่ะ เพราะว่าเราอยู่ในยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าท่านจะทำอาชีพอะไรย่อมหนีการเปลี่ยนแปลงไปไม่พ้น ทั้งนี้จอห์นสันเชื่อว่าก่อนที่บุคคลใดคิดจะไปเปลี่ยนแปลงพลิกผันคนอื่นหรือองค์กร บุคคลนั้นควรเริ่มจากการพลิกผันหรือ disrupt ตนเองก่อน  จอห์นสันอธิบายถึงเหตุผลสำคัญที่คนเราต้องพลิกผันตนเองอยู่ 5 ประการคือ

  • ให้ตนเองเป็นผู้พลิกผันตนเองย่อมรู้สึกดีกว่าให้คนอื่นมาพลิกผันเรา ตัวเองย่อมรู้จักตนเองดีกว่าคนอื่น รู้ตื้นลึกหนาบางและความอึดของตนเองว่าเราอึดอดทนขนาดไหน สามารถยืดขึง (stretch) ตัวเองให้ทำได้แบบสุดๆขนาดไหน การที่เราเป็นคนรับผิดชอบตนเอง ตั้งเป้าให้ตนเอง และเปลี่ยนตนเองเป็นการเพิ่มความนับถือในตนเองเป็นอย่างดี
  • นักจิตวิทยามักกล่าวว่าตัวตนบุคลิกของเรามักเป็นส่วนผสมของคนที่เรานิยมชมชอบหรือใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ด้วย ดังนั้นเมื่อเราเริ่มต้นเปลี่ยนตนเองและรู้สึกดีๆกับตนเองที่กำลังพลิกผันหรือได้พลิกผันแล้วไปในทิศทางบวก เราย่อมแผ่พลังหรือคลื่นดีๆแห่งความสุขไปยังคนใกล้ชิดของเราให้เขารู้สึกดีและมีความสุขไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น คนที่ตัดสินใจเลิกเหล้าหรือบุหรี่และรู้สึกดีกับตัวเอง ครอบครัวก็มีความสุขไปด้วยและมีกำลังใจที่จะพลิกผันตนเอง ตามบ้าง เช่น เลิกสูบบุหรี่ เลิกเหล้าตาม
  • จงจำไว้เสมอว่า องค์กรประกอบด้วยคน เมื่อท่านต้องการพลิกผันองค์กร ท่านต้องพลิกผันเปลี่ยนคนให้ได้ก่อน ทุกคนล้วนมีอัตตาและคิดเข้าข้างตนเองทั้งนั้ หากเราสามารถลดอัตตาและยอมเปลี่ยนตัวเองให้คนอื่นได้ประจักษ์เป็นตัวอย่างที่ดี การที่จะพยายามเปลี่ยนคนอื่นจะเกิดได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่ให้คนอื่นเปลี่ยน แต่ตนเองปฏิเสธที่จะเปลี่ยนอย่างที่ผู้นำหลายคนชอบทำ
  • การพลิกผันเป็นหนทางนำสู่การสร้างนวัตกรรม อยากมีนวัตกรรมก็ต้องเปลี่ยนแปลงพลิกผันสิ่งที่ตัวเองเคยคิดเคยทำ หัดตั้งคำถามว่าสิ่งที่ตัวเองหรือองค์กรทำอยู่จะมีวิธีทำให้ดีกว่าที่เป็นอยู่นี้ได้ไหม
  • นวัตกรรมจะเป็นตัวขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจ เมื่อท่านสามารถพลิกผันแนวคิดแนวปฏิบัติของท่านจนเกิดเป็นนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าแล้ว นวัตกกรมนี้จะไม่ได้มีผลเพียงแค่การพัฒนาตัวท่านหรือองค์กรของท่านเท่านั้น แต่จะสร้างผลกระทบในวงกว้าง มิฉะนั้นเราคงไม่ได้อยู่ในยุคเศรษฐกิจพลิกผันอย่างทุกวันนี้หากเราไม่มีคนอย่างบิลล์ เกตส์, สตีฟ จ๊อบส์, แจ๊ค หม่า กันหรอกค่ะ