ดิจิทัล ไม่รับไม่ปรับไม่เปลี่ยน ไม่รอด

ดิจิทัล ไม่รับไม่ปรับไม่เปลี่ยน ไม่รอด

กลุ่มทุนรุ่นเก่า อาจจะถูกล้างบางให้ล้มหายตายจากไปได้ง่ายๆ ถ้าไม่เปลี่ยนผ่านระบบงานและรูปแบบธุรกิจใหม่ให้สอดรับกับยุคดิจิทัล

เชื่อว่าคงได้เห็นข่าวทั้งออนไลน์และออฟไลน์ที่ต่างนำเสนอข้อมูล ข่าวสารอย่างนี้ ซึ่งเป็นผลจากการขับเคลื่อนมาของกลุ่มทุนยุคใหม่จากต่างชาติ ที่ไม่ใช่ใหญ่แต่เงินทุน แต่ยังมากด้วยความสามารถที่ทันสมัยมากๆ 

ทุกภาคการผลิตหนีไม่พ้นคลื่นยักษ์อันนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยที่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับ 2.0 (การผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น) หรือ 2.5 (การผลิตกึ่งอัตโนมัติ ใช้เครื่องจักรเข้ามาบางส่วน แต่ยังคงพึ่งพิงแรงงานจำนวนมาก) ซึ่งสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขในปัจจุบันของประเทศไทย ไม่เอื้ออำนวยให้กับการผลิตในระดับนี้แล้ว ดังนั้นทางออกของโรงงานส่วนใหญ่ในบ้านเราตอนนี้ ก็คงมีแค่สองทาง หนึ่งคือถ้ายังจะต้องการรักษาสภาพการผลิตเหมือนเดิมโดยสร้างผลกำไรจากแรงงานราคาถูก กับการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนที่เน้นปริมาณมากแต่มาร์จิ้นน้อย ก็คงต้องย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน

ทางที่สองก็คือยกระดับการผลิตจาก 2.0 หรือ 2.5 ไปสู่ 3.0 ด้วยระบบการผลิตที่ใช้เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติมากขึ้น โดยทำงานควบคู่กับคน แต่แน่นอนจำนวนคนย่อมลดจำนวนลงมากกว่าครึ่งอย่างแน่นอน ซึ่งผมได้มีโอกาสได้ไปศึกษาเปรียบเทียบระบบการผลิตของ 2 โรงงานภายใต้บริษัทเดียวกัน โดยโรงงานเก่าที่เปิดมานานนับ 10 ปี มีคนงานที่ใช้ในการผลิตในหลักพันคน แต่โรงงานใหม่ล่าสุดที่เพิ่มสร้างเสร็จไม่นาน ใช้เครื่องจักรอัตโนมัติในการผลิตเป็นหลัก มีคนงานที่ใช้ในการผลิตไม่ถึง 200 คน การผลิตในแต่ละขึ้นตอนกระบวนการนอกจากจะเป็นระบบปิดทำงานด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติตามที่โปรแกรมไว้แล้ว ยังเชื่อมต่อกระบวนการต่างๆด้วยสายพานเป็นทอดๆจนไปถึงกระบวนการสุดท้าย เรียกว่ามีขั้นตอนการผลิตที่ต้องผ่านมือคนน้อยมาก (มีในบางขั้นตอนเท่านั้น)

มีบางคนถามว่าแล้วถ้าไปอยู่ในระดับ 3.5 จะมีอะไรแตกต่างหรือเพิ่มเติม ที่เห็นชัดเจนมากขึ้นนอกจาก Physical flow ที่เปลี่ยนจากการใช้แรงงานคน มาเป็นเครื่องจักรอัตโนมัติแล้ว Information flow ก็จะเปลี่ยนจากกระดาษที่ใช้ในการบันทึกข้อมูลต่างๆในการผลิต รวมถึงเอกสารกำกับสินค้าต่างๆ ก็จะกลายเป็นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ นึกง่ายๆเหมือนเราเดินเข้าไปในห้างสรรพสินค้า หรือซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ทุกสิ่งทุกอย่างมี Barcode การเบิกวัตถุดิบจากคลัง การผ่านสินค้าไปในขั้นตอนต่างๆ ก็จะมีการยิงบาร์โค้ดเพื่ออ่านค่าหรือป้อนข้อมูลการผลิต การบันทึกค่าต่างๆก็จะคีย์เข้าเครื่องคอม จนถึงการจัดเก็บในโกดังสินค้าพร้อมส่ง และแน่นอนข้อมูลสินค้าในคลังก็จะถูกมองเห็นโดยฝ่ายขาย ดังนั้นพนักงานขายที่ออกไปพบลูกค้าสามารถจะนำเสนอและปิดออร์เดอร์ลูกค้าได้ในทันที พร้อมกับล็อกสินค้าที่อยู่ในคลังได้เลย

ผมคงยังไม่พูดถึงเรื่องการผลิตหรืออุตสาหกรรม 4.0 เพราะเชื่อว่าคงต้องใช้เวลา ตอนนี้คงมีเพียงบริษัทชั้นนำในไทยไม่มากนักที่เริ่มขยับปรับตัว ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าเราจะได้เห็นโรงงานที่ทันสมัยในระดับ 4.0 ที่มีความสมบูรณ์มากพอในประเทศไทย และอยู่ในระดับที่เปิดให้คนอื่นๆเข้ามาเรียนรู้ศึกษาดูงานได้บ้าง แต่อยากจะให้มาโฟกัสที่ภาคการค้าและภาคบริการมากกว่า เพราะจะเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงไปสู่ 4.0 ได้ง่าย ได้เร็ว และสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นเป็นรูปธรรมได้มากกว่าภาคการผลิตมากมาย

ภาคสื่อสารมวลชน ภาคบันเทิง(ภาพยนตร์ เพลง) ภาคการธนาคาร สุดท้ายใหญ่สุดก็คือภาคการค้าและบริการ ไม่ว่าจะค้าปลีก ค้าส่ง จะมีแบรนด์หรือไม่มีแบรนด์ จะเป็นห้างขนาดใหญ่ หรือห้องแถวขนาดไม่กี่คูหา (physical market) ตอนนี้ต่างพาเหรดไปอยู่บนตลาดออนไลน์ (Virtual market) กันหมดแล้ว และแน่นอนทำเลที่ตั้งที่เคยเป็นจุดแข็งและจุดขาย อีกทั้งยังต้องใช้เงินลงทุนสูงก็เริ่มกลายเป็นภาระที่ไม่มีค่า เพราะใครๆก็มีร้านค้าออนไลน์ได้ทั้งนั้น จนตอนนี้ผมต้องยกนิ้วให้แม่ค้าออนไลน์ยุคใหม่ และถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีการยกระดับทักษะด้านดิจิทัลได้อย่างเหลือเชื่อ

กรณีศึกษาที่เกาหลี จะเห็นว่าร้านอาหารจานด่วน (fast food) ต่างใช้จอสั่งอาหารอัตโนมัติ (Kiosk) ตั้งเรียงรายตลอดแนวจากประตูทางเข้าไปจนถึงเคาน์เตอร์สั่งอาหาร ซึ่งปัจจุบันไม่รับสั่งอาหารแล้ว เพราะให้ลูกค้าไปทำรายการสั่งเองที่เครื่อง แต่กลายเป็นเคาน์เตอร์รับสินค้าแทน ดังนั้นเมื่อทุกคนเข้ามาเจอจอสั่งอาหารไหนว่าง ก็ไปทำรายการได้เลย แล้วก็ไปนั่งรอที่โต๊ะรอหมายเลขคิวเพื่อเรียกไปรับอาหาร

กรณีศึกษาที่ญี่ปุ่น โรงแรมธุรกิจ (business hotel) ชั้นนำที่มีเครือข่ายโรงแรมอยู่ทั่วญีปุ่นอย่าง APA Hotel ก็เริ่มนำเครื่องเช็คอินด้วยตัวเองมาใช้ แม้ว่าปัจจุบันจะยังคงมีเจ้าหน้าที่โรงแรมอยู่ แต่เป็นการให้คำอธิบายในการใช้เครื่องเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้เท่านั้น เพราะลูกค้ายังไม่คุ้นเคยกับการเช็คอินด้วยตัวเอง เรียกว่าทุกขั้นตอนตั้งแต่คีย์เลข booking ตรวจสอบความถูกต้องของชื่อ สแกนพาสปอร์ต รูดบัตรเครดิต รับใบเสร็จ และรับคีย์การ์ดของห้อง ใช้เครื่องทั้งหมดโดยไม่ต้องใช้เจ้าหน้าที่เลย เชื่อว่าอาจจะมีบางโรงแรมในไทยจะเริ่มนำมาทดลองใช้ในอนาคตเป็นแน่

และนี่คือผลของดิจิทัลที่เป็นทางลัดตัดขั้นตอนและที่สำคัญมาแทนคนทำงาน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดความสมดุลในอีก 10 ปีข้างหน้า เมื่อเราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ที่มีคนทำงานรุ่นใหม่น้อยลงนั่นเอง